“โควิด” จะเป็นโรคประจำถิ่น วัคซีนต้องฉีดเข็มกระตุ้น

“โควิด” จะเป็นโรคประจำถิ่น  วัคซีนต้องฉีดเข็มกระตุ้น

หากดูตัวเลขเข็ม 3 โดยรวมทั้งประเทศ ถือว่ายังน้อยมาก จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสื่อสารกับประชาชน ว่าวัคซีนทุกสูตรมีอิทธิฤทธิ์ในการลบล้างฤทธิ์โอมิครอนลดลง ช่วยลดความรุนแรง และเสียชีวิตชีวิตได้ในทุกสายพันธุ์ เป็นข้อมูลจากโลกจริง (Real World) ของประเทศไทย

ชัดเจนแล้วว่าผลการทดสอบ 8 สูตรวัคซีนของคนไทยต่อไวรัสจริงสายพันธุ์โอมิครอนเทียบกับเดลตา ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงล่าสุดวานนี้ (17 ม.ค) โดยใช้วิธี PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) ได้ข้อสรุปยืนยันว่าภูมิลดลงในทุกสูตร โดยเฉพาะสูตร 2 เข็ม เช่น

- สูตร ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ถ้าเป็นภูมิต่อเดลต้าได้มากถึง 201.90 แต่เทียบกับโอมิครอนลดเหลือเพียง 11.63 ซึ่งหายไปถึง 17 เท่า

- ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ เดลตา 729.3 โอมิครอน 282.5 สัดส่วนที่ลดลงจากจัดการเดลตาต่อโอมิครอน 2.58 เท่า

ดังนั้นประชาชนคนไทยควรต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้มากที่สุด ทำให้โรคโควิด -19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตอันใกล้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ขณะนี้จำนวนการได้รับ “วัคซีนโควิด-19” สะสม (28 ก.พ. 2564 - 16 ม.ค. 2565) รวม 109,542,145 โดส ใน 77 จังหวัด 

  • ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,809,191 ราย
  • ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 47,579,865 ราย
  • ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 10,153,089 ราย

หากดูตัวเลขเข็ม 3 โดยรวมทั้งประเทศ ตัวเลขยังอยู่ที่ 14.1% เท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เข็มที่ 1 ทั้งประเทศฉีดไป 76.1% เป็นเข็ม 3 ในกลุ่มผู้สูงอายุฉีดเพียง 13.8% ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เข็มที่ 1 สะสม 78.2% เป็นเข็ม 3 อยู่ที่ 16.1%

ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 สำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยหนัก และเสียชีวิตมากที่สุด แม้ว่าจะมีข้อมูลว่า “โอมิครอน” ไม่รุนแรง แต่เมื่อดูในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเปราะบางก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุด 13 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 6 ราย ซึ่ง 100% มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ค่ามัธยฐานอายุ 82 ปี นอน รพ. เฉลี่ย 7 วัน นานที่สุด 35 วัน โดย 2 รายล่าสุดที่มีการรายงานเสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอนในประเทศ มีโรคประจำตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง อัลไซเมอร์ และเป็นสูงอายุ 86 ปี และอีกรายอายุ 84 ปี เป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน จะมีปัจจัยร่วมชัดเจน รายแรกที่ จ.สงขลา ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่เข็มที่ 2 ฉีดเกินระยะเวลา 4 เดือน และอีกราย ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน ไม่ได้รับวัคซีน และสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยร่วม คือ มีการสอบสวนโรค มีการสัมผัสใกล้ชิดญาติ บุคคลในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยทั้ง 2 คน อยู่บ้าน แต่สัมผัสติดเชื้อจากญาติที่ดูแลใกล้ชิด จนทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสื่อสารกับประชาชน ว่าวัคซีนทุกสูตรมีอิทธิฤทธิ์ในการลบล้างฤทธิ์โอมิครอนลดลง ช่วยลดความรุนแรง และเสียชีวิตชีวิตได้ในทุกสายพันธุ์ เป็นข้อมูลจากโลกจริง (Real World) ของประเทศไทย การฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอที่จะลดการแพร่การติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยทำให้ โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนคนไทยกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ด้วยเช่นกัน