เปิดใจ "ดร.ณัฐวรพล" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

เปิดใจ "ดร.ณัฐวรพล" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

17 ปี มทร.พระนครกับทิศทางในอนาคต มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม พร้อมออกนอกระบบ ภายใต้การนำ“ดร.ณัฐวรพล  รัชสิริวัชรบุล”

ผ่านมาแล้ว 17 ปี กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 18 ในวันที่ 18 มกราคม 2565 วันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หรือ มทร.พระนคร สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ที่มีวิสัยทัศน์ (Vision) มหาวิทยาลัยผู้สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาทักษะการคิดเป็นระบบ ปฏิบัติเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและเป็นที่พึ่งของสังคมมายาวนาน

มหาวิทยาลัยได้สั่งสมประสบการณ์ ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนสู่สังคม หลากหลายสาขาอาชีพ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และยังมีการพัฒนามหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง  

  • ทิศทางการพัฒนามทร.พระนคร

ดร.ณัฐวรพล  รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มทร.พระนคร เล่าถึงทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคตว่า มทร.พระนครจะมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์แบบ การจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความสมบูรณ์แบบ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว  ซึ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย และครอบคลุมทุกสาขา

เปิดใจ \"ดร.ณัฐวรพล\" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

ที่สำคัญ หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนต้องตอบโจทย์ตลาดแรงงาน  การพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ด้านอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง  อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ได้ในโลกความเป็นจริง  มุ่งเปิดโอกาสเรียนรู้ยกระดับการศึกษา

นักศึกษาในวันนี้ จะมีทุกกลุ่มวัยและคนวัยทำงานในตลาดแรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตน หรือผู้ที่ต้องการ Re-Skill ,Up Skill เข้ามาศึกษาต่อ  โดยผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบจากมหาวิทยาลัย  การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง  เพื่อนำไปใช้รับประกาศนียบัตร วุฒิบัตร อนุปริญญาหรือปริญญาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย

 

  • ผู้เรียนเลือกเรียน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

ผู้เรียนสามารถที่จะเลือกเรียนเฉพาะเรื่องที่ต้องการยกระดับ หรือเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นกับตัวเองที่เป็นไปตามแนวทางของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต(Life long Learning ) นอกจากนี้ต้องปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพให้เหมาะสมกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ นักศึกษาสามารถมีชีวิตในมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ด้วย  
 
ส่วนตัวมองว่าการศึกษาวันนี้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกเรียนได้มากขึ้น  หากจัดการศึกษาทั่วไปแล้วให้บัณฑิตที่จบไปค้นหาตัวเองว่าจบแล้วจะไปเป็นอะไร อยากจะทำวิชาชีพไหน ตำแหน่งอะไร ก็ไปค้นหาตัวเองนั้นอาจจะไม่เหมาะกับการแข่งขันในตลาดการศึกษายุคนี้ ตนเชื่อมั่นในการสร้าง Suppiy Chain ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือตลาดแรงงานที่ตรงประเด็น

เปิดใจ \"ดร.ณัฐวรพล\" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

"เรามีจุดแข็งทางด้านอะไรก็ต้องผลิตบัณฑิต เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานทางด้านนั้นโดยเฉพาะ อย่างหลักสูตรที่เปิดสอนมีตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ถือว่าเป็นจุดแข็งและมีชื่อเสียงมายาวนานน่าจะเป็นการเรียนการสอนระดับ ปวช. ทางช่าง ที่มหาวิทยาลัยคงต้องกลับมาดูส่วนนี้ให้มากขึ้น เพราะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน"อธิการบดี มทร.พระนคร กล่าว

ขณะเดียวกันต้องดูหลักสูตรใหม่ๆ ที่รองรับวิชาชีพในอนาคตด้วย โดยเน้นด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเกษตร อาหาร  สุขภาพ และการพัฒนามิติสุขภาวะ เนื่องจากเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ดังนั้นเราต้องดูว่าทุกหลักสูตรที่จะผลิตนั้นควรจะเป็นอย่างไร  อาจารย์ควรจะมีความรู้ ทักษะทางด้านไหน  อุปกรณ์ เครื่องมือการเรียนการสอนควรจะต้องมีอะไรบ้าง คงต้องมาดูกันทั้งระบบ

 

  • เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม หล่อหลอมบัณฑิตยุคใหม่

อธิการบดี มทร.พระนคร เล่าต่อไปว่าการจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาคอุตสาหกรรม และตลาดแรงงาน ที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม รับรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น ต้องดูว่าเค้าคาดหวังอะไรจากมหาวิทยาลัย  อยากให้นักศึกษาเป็นอย่างไร มีลักษณะแบบไหน และมหาวิทยาลัยต้องผลิตให้ตรงตามที่ต้องการ  

สมัยก่อนเราจะถูกมองว่าเป็นแพะของสังคม บัณฑิตที่จบจากรั้วมหาวิทยาลัยทำงานอะไรก็ไม่เป็น ทำงานก็ไม่ได้  ต้องมาสอนใหม่หมด วันนี้เราจะไม่โทษกันแล้ว ภาคอุตสาหกรรมต้องมาทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ช่วยกันหล่อหลอมบัณฑิตให้ตรงใจตั้งแต่เริ่มกระบวนการจัดการศึกษา มีการสร้างเครือข่ายการทำงาน เพราะเราจะไม่ทำงานอย่างโดดเดียว ยังร่วมมือกับ 9 มทร.ในการทำงาน รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากลด้วย

เปิดใจ \"ดร.ณัฐวรพล\" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

 ดร.ณัฐวรพล เล่าอีกว่า เรื่องการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ การออกนอกระบบ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากและยังฟันธง 100 % ไม่ได้ว่าจะออกนอกระบบวันไหน คงต้องดูความพร้อมของเราด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน หลายคนกลัวว่าการออกนอกระบบจะทำให้อยู่ยาก โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง แต่อยากบอกว่าเวลานี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ทางรอดคือส่งเสริมให้องค์กรแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้ เกิดความคล่องตัวในการใช้งบประมาณ สามารถตอบสนองแรงงานได้ สิ่งแรกต้องสร้างความเข้าใจกับคนในองค์กรว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร ต้องมีการสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเข้าใจให้ตรงกันว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตามเวลาพูดเรื่องนี้ทุกคนไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ  เพียงแต่ต้องการทราบกระบวนการ วิธีการ และอยากให้มีส่วนร่วมมากขึ้น  

  • ยกระดับมหาวิทยาลัยในยุคการเปลี่ยนแปลง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกไม่หยุด และส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาของประเทศไทย ทำให้ต้องมีการปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ไปสู่เทรนด์โลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่หรือออนไลน์

ดร.ณัฐวรพล บอกว่า ยอมรับว่าโควิดกระทบต่อการระบบการศึกษามากทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยเชิงลบทำให้บุคลากรไม่สามารถมาทำกิจกรรมหรืออยู่รวมกันได้ ต้องเลื่อนการทำกิจกรรมบางอย่างออกไป ต้องปรับการเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น  

เปิดใจ \"ดร.ณัฐวรพล\" กับทิศทางในอนาคตของมทร.พระนคร

แต่ในสถานการณ์นี้เกิดผลเชิงบวกทำให้ทุกคนเริ่มนำเทคโนโลยีเข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น จนเกิดเป็นความคุ้นชินไปแล้ว  ที่สำคัญทำให้เราเห็นถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติที่เป็นตัววัดความเข้มแข็งขององค์กรว่าใครปรับตัวได้เร็วกว่ากัน และต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ต่อไปให้ได้  

คงต้องรอดูกันว่ามทร.พระนครจะก้าวไปสู่เป้าหมายและทิศทางที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ภายใต้การนำของ “ดร.ณัฐวรพล ” ที่ชูสโลแกน “มหาวิทยาลัยคือผู้ที่ช่วยฝันให้เป็นจริง ส่วนใครยังไม่มีฝันต้องสร้างแรงจูงใจ” พร้อมฝากชาวมทร.พระนคร ให้เปิดใจทำงาน เดินหน้าไปด้วยกัน และทิ้งคำพูด ไม่เคยมีใครทำและทำไม่ได้ มาเป็นไม่เคยก็ต้องลอง ทำไม่ได้ เพราะอะไรก็ไปแก้ไขสิ่งที่จะทำให้ได้  และที่ทำไม่ได้ในอดีตวันนี้ก็อาจจะทำได้แล้ว