ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่

ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่

เช็คมาตรการ กทม.หน่วยงานที่กุมความรับผิดชอบต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด" ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่หยุดนิ่ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ "โอมิครอนในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้น ทำให้ขณะนี้หน่วยงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้ควบคุมโดยเร็วที่สุด

โดยเฉพาะจุดเสี่ยง "คลัสเตอร์" รวมตัวผู้คนจำนวนมาก เน้นไปที่สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว(สีฟ้า) 8 จังหวัด ตามประกาศ ศบค.เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ซึ่งขณะนี้กทม.กำลังเร่งเตรียมความพร้อม "ระบบ" เตรียมรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์ "โอมิครอน" 

จากตัวเลขการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเดือน ส.ค.2564 ซึ่งในกรุงเทพฯ เคยพบผู้ป่วยต่อวันไม่ต่ำกว่า 5 พันคน กำลังเป็นบททดสอบหน่วยงาน กทม.จะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ขณะนี้ได้อีกหรือไม่ สำหรับระบบบริหารจัดการผู้ติดเชื้อตั้งแต่ต้นทางจนถึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 

ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่  

เน้นไปที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อ "ช่องทาง" รับแจ้งผู้ป่วยซึ่งเป็นคอขวดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ขณะนี้ กทม.กำลังปัดฝุ่นมาตรการดูแลทั้งระบบไม่ให้กลับไปรุนแรงสถานการณ์ในปี 2564 โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมมาตรการของ กทม.ที่ออกมาได้ดังนี้ 

1.เตรียมความพร้อมบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของหน่วยงานในสังกัด

2.ลดการรอคอย "ผู้ป่วย" ไม่ให้เกิน 6 ชั่วโมง หรืออย่างช้าภายใน 12 ชั่วโมง ต้องได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากผู้ติดเชื้อได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาลแล้ว กรณีผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรงจะรักษาตัวสถานที่แยกกัก โดยมีเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่นๆ เตรียมดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง

แต่ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง ต้องแจ้งสถานพยาบาลที่ดูแล เพื่อขอรับยาต้านไวรัส "ฟาวิพิราเวียร์" หรือเข้าส่ง "ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ" หรือส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงของอาการ

ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่

3.มอบหมาย 50 สำนักงานเขต เตรียมพร้อม "ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต" และร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อเตรียมแผนเผชิญเหตุ เตรียมระบบคัดกรองและแยกผู้ป่วย และเตรียมเปิดให้บริการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด เข้าสู่ระบบการรักษาทาง "สายด่วนโควิด" ของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง

4.เปิดช่องทางการ "แจ้งข้อมูล" ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ผ่าน สายด่วนศูนย์เอราวัณสำนักการแพทย์ โทร.1669 จำนวน 60 คู่สาย และไลน์ @BKKCOVID19CONNECT (shorturl.asia/afk0S) โดยช่องทางเหล่านี้จะมีระบบคัดกรองประเมินอาการผู้ป่วยเบื้องต้น มีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาเพื่อดูแลตนเอง หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation หรือส่งต่อผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอย รวมทั้งการหาเตียงใน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก (ผู้ป่วยสีแดง) จะถูกส่งต่อไปที่ศูนย์เอราวัณ เพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

5.เตรียมพร้อม "ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ" เบื้องต้น 41 แห่ง รวม 5,158 เตียง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง โรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขตอีก 7 แห่ง และประสานโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 4,974 เตียงรวมถึงเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอยฯ เพิ่มเติมอีก 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง 

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ได้กลับมาขยับสูงอีกครั้ง โดยตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค.2565 มียอดผู้ติดเชื้อรวม 5,211 ราย แบ่งเป็นดังนี้

1 ม.ค. ติดเชื้อ 339 ราย

2 ม.ค. ติดเชื้อ 366 ราย

3 ม.ค. ติดเชื้อ 358 ราย

4 ม.ค. ติดเชื้อ 376 ราย

5 ม.ค. ติดเชื้อ 408 ราย

6 ม.ค. ติดเชื้อ 454 ราย

7 ม.ค. ติดเชื้อ 456 ราย

8 ม.ค. ติดเชื้อ 669 ราย 

9 ม.ค. ติดเชื้อ 598 ราย

10 ม.ค. ติดเชื้อ 534 ราย

11.ม.ค. ติดเชื้อ 593 ราย

ทั้งหมดเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมของ กทม. หน่วยงานที่กุมความรับผิดชอบต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด" ที่ยังไม่หยุดนิ่ง.

ผ่าแผนรับมือ "โอมิครอน" สกัด "โควิด" ระบาด กทม.ระลอกใหม่

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์