ส่องนโยบาย "ลดก๊าซเรือนกระจก" ภาคธุรกิจไทย สู่เป้าความยั่งยืน

ส่องนโยบาย "ลดก๊าซเรือนกระจก" ภาคธุรกิจไทย สู่เป้าความยั่งยืน

เป้าหมายการลดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งเป้าของภาคธุรกิจทั้งในต่างประเทศและไทย ในปีที่่ผ่านมา ทำให้เห็นการขับเคลื่อนของหลายๆ ภาคธุรกิจเพื่อสู่เป้าการ "ลดโลกร้อน"

สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีฐานข้อมูลในปี 1850-1900 โดยอุณหภูมิแผ่นดินร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.59 องศาฯ ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 0.88 องศาฯ

 

ความร้อนที่มากขึ้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างแผ่นดินกับทะเล เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศหลายอย่าง โดย Intergovernmental Panel on Climate Change(IPCC) ประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศทุกๆ 1,000 ล้านกิกะตัน จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.45 องศา (best estimate)

 

ผลจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้เป็นสมัยที่ 26 (Conference of the Parties) หรือ COP26 ไปเมื่อเดือนพ.ย.2564  ซึ่งมีผู้แทนจาก 200 ประเทศ โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

  • “ซีพี” ลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ปี 2030

 

บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ “ซีพี” ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของไทยให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยกำหนดเป้าหมายลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ภายในองค์กรสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2030

 

“สมเจตนา ภาสกานนท์” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เล่าว่าเครือซีพี ได้จัดทำยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ซึ่งการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อย คาร์บอนบอนไดออกไซด์  และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ จากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ตั้งแต่การเกษตร อาหาร ค้าปลีกไปจนถึงโทรคมนาคม ซึ่งเครือซีพีมีกิจการกระจายอยู่ 8 สายธุรกิจใน 21 ประเทศ

  • หมดยุคปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ปี 2050

 

นอกจากนั้น “เครือซีพี” ได้นำหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact มาบูรณาการในกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ โดยจัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืน เป้าหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติ ที่ครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์ และกรอบการดำเนินงาน 3 ด้านของเครือฯ อันได้แก่ Heart – Living Right, Health – Living Well และ Home – Living Together และใช้แนวทางการจัดการตามหลักการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) และ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN SDGs และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน UNGP ตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล

 

ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืนฯ เครือซีพี เล่าต่อไปว่าบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดเป็นสมาชิก UN Global Compact ในระดับ Lead ให้การสนับสนุนข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายระยะยาว ที่จะขับเคลื่อนทั้งในส่วนขององค์กรและคู่ค้าตั้งแต่ต้นน้ำ ภาคการเกษตร ไปจนถึงปลายน้ำ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายทั้งโลก ซึ่งทุกวันนี้มีประเทศต่างๆ ปล่อยคาร์บอนรวมกันประมาณ 50 กิกะตัน และต้องลดลงให้ใกล้เคียงศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

  • “บ้านปู” ธุรกิจยั่งยืน สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

 

“บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)” อีกหนึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงาน บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ บนแนวคิด “ธุรกิจยั่งยืน สิ่งแวดล้อมต้องยั่งยืน”

 

“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าว่า บริษัทบ้านปู ทั้ง 10 ประเทศรวมถึงประเทศไทยจะดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter เน้นการสร้างธุรกิจให้มีกระแสเงินสดจากธุรกิจสีเขียวมากกว่า 50% โดยวางเป้าหมายว่าภายในปี 2568 เพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA มากกว่า 50% จะมาจากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน

 

รวมถึง สนับสนุนทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายระยะยาวด้าน ESG ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 7 ข้อ โดยมุ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 3 เป้าหมายประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ข้อที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 1.1 GW ภายในปี 2568

 

รวมถึง ข้อที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action) ภายในปี 2568 จะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง7% เมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติสำหรับธุรกิจเหมือง และ20 % สำหรับธุรกิจไฟฟ้า และข้อที่ 15 ระบบนิเวศบนบก ภายในปี 2568 บ้านปูกำหนดเป้าหมายบรรลุผลกระทบสุทธิเชิงบวกหลังสิ้นสุดการทำเหมืองสำหรับเหมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

 

  • “กลุ่มเซ็นทรัล” มุ่งสู่ธุรกิจสร้างคุณค่าร่วม

 

กลุ่มเซ็นทรัล ประกอบด้วยหลายธุรกิจจากเดิมที่แต่ละ Business Unit ต่างมีโครงการเพื่อสังคมในลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” กว่า 4,000 โครงการ แต่หลังจากนี้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว สู่การพัฒนาด้านความยั่งยืนในปี 2017 ผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง พนักงาน ลูกค้า รวมถึงซัพพลายเออร์

 

โดยดำเนินการบนพื้นฐาน Sustainable Development Goals – SDGs ในการวางกลยุทธ์ ปรับจาก “ความรับผิดชอบสังคม” (Corporate Social Responsibility : CSR) สู่ “การสร้างคุณค่าร่วม” (Creating Shared Values : CSV)

 

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า กลุ่มเซ็นทรัล จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับสร้างความยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนาและออกแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ โดยกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล คือ การมองการณ์ไกลและภาพใหญ่ สร้างผลลัพธ์โดยคำนึงถึงทุกฝ่าย และทำอย่างมีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ โดยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของ People – Prosperity – Planet - Peace & Partnership มุ่งส่งเสริม คุณภาพชีวิตที่ดี (Better life) อาชีพที่มั่นคง โดยเฉพาะชุมชน (Better Work) สิ่งแวดล้อมที่ดี (Better World) นำไปสู่สังคมที่ดี (Better Society)

 

ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “เซ็นทรัลทำ” เกิดเป็นโครงการสะท้อนการทำงานมากว่า 5 ปี อาทิ ในส่วนของ “CPN” ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการลดการคมนาคม การเดินทาง ลดพลังงาน การใช้น้ำมัน ผ่าน Omnichannel Platform พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียว ภายใต้โครงการ Say No to Plastic ลดการใช้พลาสติกได้มากถึง 20% ของทั้งหมด เป็นต้น

 

  • “Plant-based food” ลดก๊าซเรือนกระจก

 

ขณะที่ทั่วโลกเน้นไปอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งคิดเป็น 50-60% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก แต่อุตสาหกรรมที่แก้ยากที่สุด กลับเป็นอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

 

“แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ในฐานะธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช หรือ Plant-based food กล่าวว่า การเกษตรเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด อุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนปีละ 2.5% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งการเกษตร การปลูกข้าวก็ปล่อยคาร์บอน 2.5% เท่ากับอุตสาหกรรมการบิน อีกทั้งอุตสาหกรรมข้าวปล่อยมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการทำร้ายโอโซนมากกว่า 28 เท่าเมื่อเทียบกับคาร์บอน

 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรามีเกษตรกรในประเทศไทย 14 ล้านคน วันนี้เชื่อหรือไม่ว่า ข้าวปล่อยคาร์บอน 2.5% ของทั้งหมดทั่วโลก ในปี 2026 หากอียู มีการเปลี่ยนมาตรการหันมาใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และมาปรับอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอน ส่วนสิ่งที่จะเกิด ขอยกตัวอย่างสินค้าข้าวเจอภาษีทันที่ราว 40% ดังนั้น ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกร้อน อุตสาหกรรมอาหารและคาร์บอนเครดิตว่าเราจะทำอย่างไรให้ไทย และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเกษตรสามารถแข่งขันได้ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

 

  • หนุนภาครัฐ ลดคาร์บอนโดยใช้อาหาร 

 

การทำธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม NRF มองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ต้นน้ำของเรา คือ การเกษตร และปลายน้ำ คือผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา NRF ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2017 โดยยื่นเป็นสมาชิก “โกบอลคอมแพค” ถัดมา คือการมุ่งมั่นในเรื่องลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา ในปี 2018 และ มุ่งมั่นในเรื่อง Net Zero ในปี 2019

 

“สิ่งที่เอกชนและอุตสาหกรรมไทยต้องทำ คือ ดูคาร์บอนฟุตพรินท์ของตัวเอง ดูคาร์บอนฟุตพรินท์ของซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำ และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมข้าวปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เพราะหากโดนภาษีส่งข้าวไปยุโรป โรงสีก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว คำถาม คือ เกษตรกรรายย่อยจะดูเรื่องคาร์บอนอย่างไร ต้องพูดคุยกันในระดับประเทศ และภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน”แดน กล่าว

 

ส่องนโยบาย "ลดก๊าซเรือนกระจก" ภาคธุรกิจไทย สู่เป้าความยั่งยืน