"ความท้าทาย" ในศักราชใหม่

"ความท้าทาย" ในศักราชใหม่

ความ “อดทน” ของคนไทยในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ต้องพบเจอกับปัญหาที่ไม่เคยรับมือมาก่อน แต่หลายคน หลายองค์กรธุรกิจก็สามารถฝ่าฟันมาถึงวันนี้ จะบอบช้ำแค่ไหนก็ยังพยุงตัวยืนอยู่ได้ กลายเป็นภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม

อีกไม่กี่ชั่วโมงปี 2564 จะผ่านพ้นไป ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ยังรายล้อม วิกฤติการณ์โควิด-19 ที่โลกเผชิญมาอย่างยาวนาน ยังคงทำหน้าที่เป็น “หนามใหญ่" ขวางการหมุนของโลกไม่ให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ปีนี้เราเผชิญความยากลำบากทั้งการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ วิถีชีวิตแบบปกติแทบจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เราเห็นการยกธงขาวในหลายธุรกิจ เราเห็นคนว่างงาน เราเห็นการเพิกเฉยต่อมาตรการสกัดโรคระบาด จนนำไปสู่คลัสเตอร์สร้างความหวั่นวิตกให้สังคมได้อย่างต่อเนื่อง เราเห็นความบกพร่องของการตัดสินใจกำหนดนโยบายของบ้านเมืองในห้วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับวิกฤติ

หากสิ่งหนึ่งที่เบียดแทรกท่ามกลางปัจจัยลบเหล่านั้น คือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ ทั้งในส่วนขององค์กรธุรกิจ และประชาชน ที่ไม่ยอมแพ้และปล่อยให้วิกฤติอยู่เหนือการควบคุม รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่ไม่อาจคาดคิด การทำใจยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกับวิกฤติให้ได้มากที่สุด ทั้งหมด คือ ความ “อดทน” ของคนไทยในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ต้องพบเจอกับปัญหาที่ไม่เคยรับมือมาก่อน แต่หลายคน หลายองค์กรธุรกิจก็สามารถฝ่าฟันมาถึงวันนี้ จะบอบช้ำแค่ไหนก็ยังพยุงตัวยืนอยู่ได้ กลายเป็นภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม ที่พร้อมรับมือต่อปัญหาและความท้าทายใหม่ที่รออยู่ในปี 2565

กูรูด้านเศรษฐกิจหลายสำนัก ประเมินการระบาดของเชื้อโอมิครอนที่กำลังสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก ที่แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสอยู่ในทุกรัฐ ในไทยเอง “โอมิครอน” กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้หลายสำนักต้องปรับลดการคาดการณ์ของปีหน้าลง สำนักวิจัยของซีไอเอ็มบีไทย ประเมินไว้ 3 ทาง นั่นคือ 1.โอมิครอนไม่ระคาย จีพีดีไทยโตได้ 3.8% ตามคาด นั่นหมายความว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะไม่เร่งขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.ไม่ล็อกดาวน์แต่กระทบภาคบริการไตรมาสแรก คาดว่าจีดีพีไทยทั้งปีโตเฉียด 3% แนวทางที่ 3 สุดท้าย คือ โอมิครอนลามภาคการผลิต ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน จีดีพีไทยเสี่ยงต่ำ 3% หมายถึงหากปัญหาการระบาดลากยาวและรุนแรง จนส่งผลให้คนงานล้มป่วยหรือต้องมีมาตรการจำกัดจำนวนคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกิดปัญหาขาดแคลน กระทบกำลังการผลิต

เราได้แต่หวังว่า สถานการณ์ที่ยังน่ากังวลอย่างมากแม้ในห้วงส่งท้ายปี 2564 จะคลี่คลายไปในทางที่ดี หรือแม้จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังน่าหวั่นวิตกของปี 2565 ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สาธารณสุข จะเร่งหาทางคลี่คลายปัญหาให้สาหัสน้อยลง ขณะที่ องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชน สิ่งที่ทำได้ คือ 'ทำใจ' อยู่ร่วมให้ได้ และยอมรับว่าเมื่อโลกไม่เหมือนเดิม ‘การปรับตัว พร้อมรับความ'ท้าทาย’ คือ ทางรอดในทุกสถานการณ์ ... นับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ 2565..