"หมอยง" เผยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น "mRNA" ภูมิขึ้น 200 เท่า

"หมอยง" เผยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น "mRNA" ภูมิขึ้น 200 เท่า

"หมอยง" เผย "ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3" หากฉีดเชื้อตายและ กระตุ้นด้วยเชื้อตาย ภูมิจะขึ้นราว 10 เท่า แต่หากใช้แอสตร้าเซนเนก้าภูมิจะขึ้นเกือบ 100 เท่า และหากใช้ mRNA ภูมิจะขึ้นสูงเกือบ 200 เท่า "โอมิครอน" แพร่เชื้อรวดเร็ว คาด 1-2 เดือนแทนที่เดลต้า

วันนี้ (28 ธ.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ผ่าน Webinar LIVE COVID-19 Vaccine Quarterly Outlook จัดโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า การ ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3 เป็นสิ่งจำเป็นมาก จากเดิมให้รอ 6 เดือนแต่ตอนนี้ต้องเร็วที่สุด การศึกษาในอิสราเอล พบว่า เข็ม 3 มีภูมิคุ้มกันสูงปกป้องได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งอิสราเอลกำลังพิจารณาเข็ม 4 ชัดเจนว่าภูมิต้องสูงเท่านั้น จึงจะต่อต้านโอมิครอนได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญฯ จุฬา ที่ตีพิมพ์ในวารสารวัคซีน โดยการให้ วัคซีนเข็ม 3 หลังจากรับวัคซีนเชื้อตายหรือซิโนแวค 2 เข็มด้วยแอสตร้าฯ จะมีภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก

 

เมื่อมีการเปรียบเทียบการให้ วัคซีนเข็มที่ 3 ในแต่ละชนิด พบว่า หากฉีดเชื้อตายมาก่อน และกระตุ้นด้วยเชื้อตาย หรือกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า หรือ กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ กรณีผลข้างเคียงจะพบว่า เชื้อตายอาการข้างเคียงต่ำสุด และแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกอาการข้างเคียงมากที่สุด มากกว่าเข็มที่สอง ส่วน mRNA ส่วนใหญ่เข็มแรกจะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข็มที่ 2 ดังนั้น การฉีด mRNA เข็มสองจะมีอาการข้างเคียงมากกว่าเข็มแรก

  • กระตุ้น mRNA ภูมิขึ้น 200 เท่า

 

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่อง ภูมิต้านทาน หากเป็นเชื้อตายกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยเชื้อตายกันเอง ภูมิจะขึ้นราว 10 เท่า แต่หากใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นตัวกระตุ้น ภูมิจะขึ้นเกือบ 100 เท่า แต่ถ้าเป็น mRNA ภูมิจะขึ้นสูงเกือบ 200 เท่า ดังนั้น ไม่ว่าวัคซีนไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA จะป้องกันโอมิครอนได้ ส่วนการลดลงของภูมิต้านทาน ในไวรัลแวกเตอร์ เปรียบเทียบ mRNA จะพบว่า mRNA จะลดลงเร็วกว่าไวรัลแวกเตอร์


ขณะเดียวกัน ระยะห่างของวัคซีนเข็ม 3  พบว่า ยิ่งห่างยิ่งดี แต่ห่างเกินไปก็เสี่ยงติดเชื้อระหว่างที่รอ เดิมเราจะให้ 6 เดือน แต่ขณะนี้ โอมิครอน แพร่เร็ว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้กระตุ้นเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ประมาณ 3 เดือน หากฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม เปรียบเทียบกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ภูมิฯจะขึ้นประมาณ 10 

 

แต่หากกระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นภูมิฯเกือบ 80 เท่าหรือเกือบ 100 เท่า แต่ถ้ากระตุ้นด้วยไฟเซอร์หรือ mRNA ไม่ว่าจะเต็มหรือครึ่งโดส จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมากไปอีก แต่ภูมิยิ่งขึ้นสูงก็จะลงเร็ว โดยทั่วไปไม่ว่าภูมิจะสูงแค่ไหนจะมีจุดตัดที่ 3-4 เดือน แต่ mRNA จะลงเร็วกว่า

 

"ดังนั้น คนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และบูสด้วย ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ภูมิจะขึ้นดีมาก ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษากลุ่มทริปเปิลเอ คือ แอสตร้าเซนเน้กา 3 เข็ม เพื่อให้เห็นว่า ผลเป็นอย่างไร กำลังรอคณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบอยู่" ศ.นพ.ยง กล่าว

  • ศึกษา วัคซีนทริปเปิลเอ 

 

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการให้วัคซีน ทริปเปิลเอ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็ม สามารถให้ได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวว่าได้ แต่ระยะห่างการฉีดต้องเหมาะสม ใกล้มากไม่ดี แต่ห่างมากก็เสี่ยงติดเชื้อแทรกตรงกลางได้ โดยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และ 2 หากให้ห่างเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไปภูมิจะสูงขึ้น

 

แต่หากยิ่งห่างไป 12 สัปดาห์ก็จะยิ่งดี เพียงแต่กลัวการติดเชื้อระหว่างรอ ขณะเดียวกัน หากฉีด 3 เข็มของแอสตร้าเซนเนก้า ข้อมูลพบว่า เข็มแรกจะมีอาการข้างเคียงมากที่สุด ส่วนเข็ม 2 และ 3 อาการข้างเคียงมีแนวโน้มลดลง โดยเข็ม 2 และ 3 แตกต่างไม่ชัดเจน แต่โดยหลักการอาการข้างเคียงจะลดลง

 

เช่นเดียวกับ ไฟเซอร์ เมื่อฉีด 3 เข็ม ก็ไม่ได้กระตุ้นสูงเท่ากับการสลับวัคซีน อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างศึกษากลุ่มฉีดวัคซีนสลับ คือ ซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้า เข็มสอง โดยจะทำการศึกษาการกระตุ้นด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ว่าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร คาดว่าผลจะออกในเดือนหน้า" ศ.นพ.ยง กล่าว

 

  • “โอมิครอน” แพร่เร็ว ติดง่าย

 

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปถึง สถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า มีการระบาดรวมแล้วกว่า 4 ระลอก ล่าสุด มีสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เร็วมาก จากรายงานของ GISAID) พบว่า จำนวนรหัสพันธุกรรมโอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในที่สุดโอมิครอน จะแทนที่สายพันธุ์เดลตาภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้ โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ตรวจวินิจฉัยจากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอมิครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อแพร่ได้รวดเร็ว 

 

“เดิมโอมิครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่เมื่อไปแถบยุโรป กลับเป็นแหล่งขยายตัว และพร้อมกระจายไปทั่วโลก อีก 1-2 เดือน สายพันธุ์นี้จะยึดครองทั่วโลก โดยปัจจุบันโควิดโอมิครอน B.1.1.529 จะแยกออกเป็น BA1 ,BA2 และ BA3 แต่ขณะนี้ ยังพบมากที่สุด คือ B. A1 ประเทศไทยก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการระบาด 4 ระลอกที่ผ่านมา และ ล่าสุดมีโอมิครอน เชื่อว่าหลังปีใหม่ ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดระลอกที่ 5 ได้ หากไม่ช่วยกัน"

 

สำหรับ การตรวจตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ยังพบเดลต้ามากที่สุด โดยห้องแล็บตรวจพบโอมิครอนรายแรก 11 ธ.ค. หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีแนวโน้มแซงเดลต้า กรณีมาตรการ Test and Go ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสโอมิครอนหลุดได้ ยกตัวอย่าง กรณี สามีชาวฝรั่งเศส และภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าประเทศไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าประเทศไทย ตรวจซ้ำใน 24 ชม. ก็ไม่พบ หลังจากนั้น รับประทานอาหารกับเพื่อน 11 คน จากนั้น ไม่นานมี 1 คน ไม่สบายนอนโรงพยาบาล ตรวจพบเชื้อโอมิครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอมิครอน

 

“เชื่อว่าสามีภรรยา ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคสครอบครัวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอมิครอนแล้วกักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด จึงไม่กักตัว แต่อีก 2-3 วัน ก็ติดเชื้อ ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คน ไปทำกิจกรรมอื่น เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม”

 

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างข้าราชการระดับสูงที่ป่วย ซึ่งตนมีโอกาสตรวจเชื้อและพบว่า เป็นโอมิครอน โดยไทม์ไลน์มีการประชุมหลายแห่ง และไปร่วมกิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งไปร่วมรับประทานอาหารกับหน่วยราชการภายนอก สงสัยว่าอาจติดจากการร่วมรับประทานอาหาร แต่กรณีนี้เมื่อมีการเดินทางไปหลายแห่ง ก็อาจมีการสัมผัสกับคนอีกจำนวนมากได้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อนี้ติดง่ายมาก

 

  • 3 ข้อมูลสำคัญ “โอมิครอน”

 

"ขณะเดียวกัน ข้อมูลสำคัญของ โอมิครอน 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ติดต่อง่ายจริงหรือไม่ ตอบได้ทันทีว่า จริง เนื่องจากสายพันธุ์นี้ตัวอย่างที่เห็น นั่งเฉลิมฉลอง 11 คน มี 1 คนกลับจากฝรั่งเศส ติดเชื้อไปครบทั้ง 10 คน ประการที่สอง หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนจริงหรือไม่ ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า วัคซีน 2 เข็ม ไม่ว่ายี่ห้อใด ไม่เพียงพอในการป้องกัน จำเป็นต้องอาศัยเข็ม 3 เพื่อลดความรุนแรงของโรค และ ประการที่สาม ความรุนแรงของโรค" ศ.นพ.ยงกล่าว