ถึงทางแยกอีกครั้ง! สธ.เปิดภาพ "โอมิครอน"ระบาดสูงสุดในไทย

ถึงทางแยกอีกครั้ง! สธ.เปิดภาพ "โอมิครอน"ระบาดสูงสุดในไทย

ถึงทางแยกอีกครั้ง! สธ.คาดหลังปีใหม่ โอมิครอนระบาด เปิดฉากทัศน์ คุมได้เร็วสุดใน 1-2 เดือน ติดเชื้อวันละ 1 หมื่นราย ตาย 60-70 คน หนักสุดติดสูงสุด 3 หมื่นรายต่อวัน ใช้เวลา 3-4 เดือน ขอคนไทยร่วมมือตามมาตรการป้องกันเข้มข้น หลังปีใหม่ work from home ตรวจคัดกรองก่อนกลับทำงาน   

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบให้กรมควบคุมโรค (คร.) เสนอฉากทัศน์ของการระบาด ซึ่งโอมิครอนระบาดเร็วกว่า ง่ายกว่า แต่ความรุนแรงโรคน้อยกว่าเดลตา และหลายประเทศก็ระบุว่า โอมิครอนไม่ได้รุนแรงมากกว่าเดลตา เพราะฉะนั้น ต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อให้ได้มาก ไม่ให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วเกินไป เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมากๆ จะกระทบต่อระบบการดูแลของสาธารณสุข และมีเสียชีวิตมากขึ้น แม้ว่าความสามารถการติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น แต่การฉีดวัคซีนของประเทศไทยมีความครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ตอนสู้กับเดลตา ที่ความรุนแรงสุดและการแพร่ระบาดมาก ประเทศไทยมีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 20-30%

สถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่จุดต่ำสุด ขณะนี้ถึงทางแยกอีกครั้ง เพราะมีการระบาดของโอมิครอนเข้ามา  โดยคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์มี 3 แบบ คือ แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด (Least favourable) เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.  แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมากจะเกิดการระบาดและควบคุมยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนควบคุมโรคได้ มีผู้ติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน

แบบที่ 2 ปานกลาง (Possible)  มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA ดี จะมีผู้ติดเชื้อ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน 

และแบบที่ 3 ดีที่สุด (Most favourable) ซึ่งสธ.อยากให้เป็นไปตามฉากทัศน์นี้หรือดีกว่านี้ โดยมีอัตราการแพร่เชื้อของโอมิครอนไม่สูงมาก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือน ม.ค. 2565 เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับบาร์เปิดและควบคุมได้ดีมาก มีผู้ติดเชื้อ 10,000 นิดๆต่อวัน และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน ใช้เวลาควบคุมได้ใน 1-2 เดือน 

“โรคนี้ป่วยได้ แต่ต้องรักษาได้ ไม่ให้เสียชีวิต หรือลดอัตราตายให้มากที่สุด สรุปภาพรวมขณะนี้ สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศแถบยุโรป เกิดจากโอมิครอน ประเทศไทยยังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้โอมิครอนเริ่มแพร่กระจายมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบติดเชื้อ และเสียชีวิต แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวป้องกันโรค และขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ รวมทั้งขอให้มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลังปีใหม่อาจมีการระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะโอมิครอนที่ติดเชื้อง่าย ดังนั้น ขอให้ท่านปฏิบัติมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) อย่างต่อเนื่อง และตรวจคัดกรองก่อนกลับเข้ามาทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการคาดการณ์ฉากทัศน์ในไทยที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 หมื่นรายต่อวัน ต่ำกว่าที่อังกฤษถึง 3 เท่า มีบริบทอะไรที่ต่างกัน นพ.โอภาส กล่าวว่า การประเมินฉากทัศน์นั้น เราจะมีข้อมูลใส่ไปในระบบและประเมินออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งดูหลายๆข้อมูล โดยสิ่งที่ประเทศไทยและอังกฤษเหมือนกันคือมีประชากรประมาณ 60-70 ล้านคน และหากดูเปอร์เซ็นต์ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ก็คล้ายกัน แต่สิ่งที่เราดีกว่าคือความร่วมมือของประชาชน โดยเริ่มมาฉีดวัคซีนมาก โดยเฉพาะเข็มที่ 3 เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวัคซีนยี่ห้อไหน เมื่อผ่านไป 3 เดือนภูมิต้านทานเริ่มตก ดังนั้น สิ่งที่เราต่างกันคือ การเร่งฉีดเข็ม 3

นอกจากนี้ การป้องกันของประชาชน หรือ Universal Prevention จะเห็นว่าเมื่อไปสถานที่สาธารณะ หาคนไทยไม่ใส่หน้ากากอนามัยค่อนข้างยากมาก แต่อังกฤษเมื่อไปดูบอลที่สนามบอลแทบไม่สวมหน้ากากอนามัยเลย แต่ในเรื่อง Covid free setting ค่อนข้างเข้มข้นทั้งคู่ ขณะที่การตรวจชุดตรวจด้วย ATK ไทยตรวจค่อนข้างมาก พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคเข้มข้นกว่าหลาย ๆ ประเทศที่ผ่านมา