สปสช. มอบสิทธิประโยชน์ “แว่นตา" สำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

สปสช. มอบสิทธิประโยชน์ “แว่นตา" สำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

สปสช. ร่วมกับ กรมอนามัย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลคุณภาพชีวิต “เด็กไทย” จัดระบบเข้าถึงบริการตรวจสายตา เน้นคัดกรองกลุ่มเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ พร้อมมอบ "แว่นตา" เพื่อแก้ไขปัญหาสายตา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมองเห็นที่ชัดเจนของ สายตา เป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กๆ เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสายตาบกพร่องและส่วนหนึ่งไม่ได้รับการแก้ไข จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) การคัดกรองเด็กนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษา พบว่า มีความผิดปกติร้อยละ 11.4 และวินิจฉัยยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติถึงร้อยละ 6.6 โดยมีประมาณร้อยละ 4.1 จำเป็นต้องใช้ แว่นตา  แต่มีเด็กส่วนหนึ่งไม่มีแว่นตาใช้จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพประชากรประเทศในอนาคตได้

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว ภายใต้สิทธิประโยขน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้เด็กไทยอายุ 3-12 ปีมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองสายตา หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติจะได้รับการแก้ไข สปสช.จึงได้กำหนดเพิ่มเติมให้ “บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” เป็นสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนในปี 2564 พร้อมเดินหน้าสนับสนุนค่าแว่นตาในปีงบประมาณ 2565 ให้หน่วยบริการที่ตรวจวัดสายตาและจัดหาแว่นตาให้แก่เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ 

 

สปสช. มอบสิทธิประโยชน์ “แว่นตา\" สำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

  • จัดบริการเชิงรุกในโรงเรียน

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สปสช. มีการประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามแนวทางที่กรมอนามัยกำหนด คือ จัดบริการเชิงรุกในโรงเรียน เน้นการคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 โดยครูจะทำหน้าที่คัดกรองสายตาเบื้องต้นและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก รพ.สต.หรือโรงพยาบาลตรวจคัดกรองนักเรียนที่ครูพบผิดปกติซ้ำ

 

จากนั้นจึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาล (รพช./รพท./รพศ.) ที่มีจักษุแพทย์และหน่วย Refraction Unit เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน วัดค่าสายตา พร้อมสั่งตัดและจัดหาแว่นตาให้ สำหรับเด็กนักเรียนชั้นอื่น เช่น ชั้นอนุบาล และ ป.2-ป.6 หากครูสงสัยว่าอาจมีสายตาผิดปกติ ก็เข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองและมีสิทธิได้รับแว่นตา

 

นอกจากนั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกหลานตนเองมีสายตาผิดปกติ เช่น อ่านหนังสือชิดตามากผิดปกติ หรี่ตาหรือทำตาหยีเมื่อเพ่งมอง เป็นต้น ก็สามารถพาลูกหลานไปรับการตรวจคัดกรองสายตาได้ที่ รพ.สต./โรงพยาบาล หากผิดปกติจะได้รับการส่งต่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันได้เช่นกัน  

 

สำหรับแว่นตา โรงพยาบาลโดยจักษุแพทย์อาจสั่งตัดและประกอบแว่นตาที่หน่วยประกอบแว่นตาในโรงพยาบาล หรือจัดหาจากจักษุคลินิกหรือร้านแว่นตาเอกชนในชุมชน และโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าแว่นตาซึ่งครอบคลุมทั้งค่าเลนส์ กรอบแว่น อุปกรณ์และค่าประกอบแว่นตา ได้จาก สปสช. เด็กที่จักษุแพทย์วินิจฉัยมีสายผิดปกติจำเป็นต้องใช้แว่นตา มีสิทธิรับแว่นตาได้คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี

 

สปสช. มอบสิทธิประโยชน์ “แว่นตา\" สำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

  • หนุนค่าใช้จ่ายพาเด็กไปรับบริการ

 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทเข้าร่วมขับเคลื่อนผ่าน “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” หรือ กปท. ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการนำพาเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล 3 ครั้ง ได้แก่ การรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินเมื่อครบ 6 เดือน ซึ่ง สปสช. จะทำหนังสือประสานแจ้งไปยัง อปท. ทั่วประเทศต่อไป   

 

ทั้งนี้ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์นี้ให้เป็นของขวัญเด็กไทยทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมการแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ดำเนินการ “โครงการเด็กไทยสายตาดี” ในช่วงสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 4-14 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัว เร่งคัดกรองสายตาให้กับเด็กไทยเพื่อค้นหาเด็กที่มีสายตาผิดปกติให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

 

หมายเหตุ : ตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลที่มีหน่วยตรวจตา (Refraction Unit) ประจำปี 2565 ได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/183