Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

"NIA" ร่วมกับ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด พัฒนา "เครื่องช่วยหายใจ" อัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC) เครื่องแรกที่ผลิตได้โดยคนไทย ช่วยผู้ป่วยวิกฤติโควิด ลดการนำเข้า 1.5 แสนบาท กระจาย รพ.ทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ อัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC) เพื่อใช้รักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยจากการติดเชื้อจาก โควิด-19 และปัญหาทางเดินหายใจ นับว่าเป็นเครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูงเครื่องแรกที่ผลิตได้โดยคนไทย สามารถลดการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ของประเทศไทย โดยได้มีการส่งมอบและใช้งานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกระจายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง 

 

รศ.นพ.ทายาท ดีสุดจิต กุมารแพทย์ประสาทวิทยา ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 พบว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ อาจเข้าสู่วิกฤตใหญ่ คือ มีเครื่องช่วยชีวิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ นี่คือจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและผลิตเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง Chula High Flow Nasal Cannula (Pranamax) โดยเป็นความร่วมมือจาก 7 องค์กร ได้แก่ สภากาชาดไทย องค์การอาหารและยา (อย.) สถาบันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (มอก.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

การพัฒนานวัตกรรมทางการรักษาแบบฉุกเฉินครั้งนี้ คำนึงถึงความฉุกเฉินและวิกฤตที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญและความเหมาะสมต่อการใช้งานตามสถานการณ์จริงในปัจจุบัน โดยทางทีมผู้ประดิษฐ์ได้มีการศึกษาโครงสร้างของเครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง

 

"เริ่มจากการจัดหาชิ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อนำมาทดแทนชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากนั้นจึงเริ่มสร้างตัวทดสอบพื้นฐานขึ้น เมื่อพัฒนาจนสามารถใช้งานเครื่องได้จริง จึงขออนุญาตใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์มาตรา 27 วรรค 1 ซึ่งเป็นการสร้างเครื่องมือขึ้นมาใช้และกระจายชิ้นส่วนการใช้งานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเครื่อง Chula HFNC ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้อง” รศ.นพ.ทายาท กล่าว 

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

 

  • ผลการทดสอบได้ผลดี 

 

รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต กล่าวว่า จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องบำบัดโรคระบบทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง ที่มีอัตราการไหลสูงกว่าอยู่ที่ 40 - 60 ลิตรต่อนาที โดยพบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจลงได้ ทำให้อาการเหนื่อยลดลง

 

ซึ่งหลังจากที่ได้ผลิตเครื่องต้นแบบ Chula HFNC ได้นำเครื่องต้นแบบมาทดสอบในอาสาสมัครปกติทั้งหมด 5 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบที่รักษาตัวในห้อง ICU ทั้งหมด 10 คน ซึ่งผลการรักษาพบว่าได้ผลดีมาก ไม่แตกต่างกับเครื่องมาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

  • ลดนำเข้า 1.5 แสนบาท

 

นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องให้อากาศที่มีอัตราการไหลสูงได้ถึง 150,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง ต้นทุนการผลิตเครื่องละประมาณ 50,000 บาท ขณะที่การนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจะอยู่ที่ราว 200,000 - 250,000 บาท

 

ความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนชาวไทยและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้ง NIA ที่ได้ให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้เราสามารถแจกจ่ายเครื่อง Chula HFNC ไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 500 เครื่อง ซึ่งนับเป็นการส่งต่อการให้ที่ยิ่งใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดเช่นในปัจจุบัน

 

  • จุดเด่น ควบคุมระดับความชื่น

 

นายชัยสิทธิ์ ธรรมพีร กรรมการ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง กล่าวว่า เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง มีจุดเริ่มต้นจากการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้บริษัทเข้าไปศึกษาเครื่องที่ทางโรงพยาบาลใช้ พร้อมทั้งเสนอแนะระบบการทำงานที่ควรมี ซึ่งระบบเหล่านั้นมักจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง

 

บริษัทจึงได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบในการผลิตและมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 1 ใน 4 จากเครื่องที่ต้องนำเข้า ด้านคุณสมบัติของนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูงที่ผลิตขึ้นนี้ถือว่าเทียบเท่ากับเครื่องที่มีราคาสูงในตลาดได้อย่างแน่นอน

 

แต่จะมีจุดนวัตกรรมที่โดดเด่น คือ การควบคุมอุณภูมิความชื้นอยู่ในระดับที่ดี เพราะคนไข้ที่ป่วยจากระบบทางเดินหายใจจะทำให้ออกซิเจนนั้นเข้าปอดไม่เพียงพอ จึงต้องใช้เครื่องช่วยทำให้อัตราไหลสูงวิ่งเข้าปอดเร็ว ซึ่งการเข้าไปนั้นจำเป็นต้องมีความชื้นที่เหมาะสม ถ้าควบคุมความชื้นไม่ดี อาจทำให้คนไข้ติดเชื้อมีความชื้นในปอดได้ ถือเป็นจุดย้ำแรกที่ต้องระวังและทำให้ดี

 

ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถทำได้ และในอนาคตบริษัทก็มีแผนที่จะพัฒนาการใช้งานให้ดีขึ้นโดยการที่คุณหมอสามารถสั่งการระบบการทำงานของเครื่องผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ เลือกได้ว่าควรใช้โปรแกรมไหนให้มีความเหมาะสมกับคนไข้ในเวลานั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินไปยังเตียงคนไข้ทุกช่วงเวลา ซึ่งจะช่วยลดการเป็นการพบปะหรือแพร่เชื้อ และคาดว่าจะสามารถพัฒนานวัตกรรมในจุดนี้ได้อย่างแน่นอน”

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

 

  • NIA เดินหน้าหนุนนวัตกรรม

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในปี 2564 จนถึงปี 2565 NIA ยังคงเดินหน้าสนับสนุนนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย เพื่อรับมือกับภาวะการระบาดของโรค เช่น โควิด -19 ที่ขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดและมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และยกระดับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้คิดค้นงานวิจัย อาจารย์ - ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพไทยนั้น มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากอดีตเป็นจำนวนมาก และกลุ่มคนที่มีความสามารถเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการนำแนวทางใหม่ ๆ มาช่วยยกระดับการรักษาให้ทัดเทียมและทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือด้านการแพทย์จากต่างประเทศได้อีกด้วย

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย

 

  • หนุนนวัตกรรมการแพทย์ 11 โครงการ

 

ในปีที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนนวัตกรรมทางด้านการแพทย์กับสตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ จำนวน 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 19.64 ล้านบาท โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มุ่งเป้าในการรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน การแพทย์ทางไกล เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและตอบโจทย์การรองรับการรักษาโรค

 

อีกทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบของความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน โดยหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จคือ “เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบและผลิตชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือจาก NIA โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สามารถผลิตและใช้งานได้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับการควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นรายแรก ซึ่งได้มีการส่งมอบและนำไปใช้งานกับผู้ป่วยโควิด – 19 และระบบทางเดินหายใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแล้วกว่า 500 เครื่อง

 

“ด้วยสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ทำให้เครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการช่วยหายใจมีความจำเป็นอย่างมากกับโรงพยาบาล หลายประเทศตั้งงบประมาณสำหรับจัดหาเครื่องช่วยหายใจจากประเทศที่เป็นผู้ผลิต แต่ด้วยภาวะวิกฤติของโควิด – 19 ทำให้อุปกรณ์นี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกประเทศทั่วโลก NIA จึงอยากเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสนันสนุนเงินทุนให้คนไทยได้ใช้องค์ความรู้ที่มีมาสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะเป็นส่วนช่วยเหลือสังคมและเป็นส่วนที่จะทำให้ชีวิตความป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

 

Chula HFNC “เครื่องช่วยหายใจ\" ไฮโฟลว์ สัญชาติไทย