ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

เมื่อก้าวเข้าสูงสังคมสูงวัย สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การหกล้มของ "ผู้สูงอายุ" ที่จะนำมาซึ่งปัญหาการติดบ้าน ติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้น การป้องกัน จึงดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

สถานการณ์ ผู้สูงอายุ ไทยในปี 2563 ประชากรไทยมีทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน หรือ 16.73% แบ่งเป็นชาย 6.2 ล้านคน หญิง 4.9 ล้านคน มีจำนวนผู้ที่ติดเตียงประมาณ 0.39% ติดบ้าน 1.54% และติดสังคม 98.06% และในปี 2564 ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมี ผู้สูงอายุ ราว 20%

 

ขณะเดียวกัน ภาวะพึ่งพิงเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวและทั้งประเทศ เมื่อไม่อาจช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกสูญเสียคุณค่าความมั่นใจในตัวเอง ผู้ทำหน้าที่ดูแลต้องเสียโอกาสในการหารายใด้ เกิดความเครียดสะสมในครอบครัว และบางกรณีอาจถึงขั้นกระทบกับฐานะทางการเงิน

 

ขณะที่ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล ทั้งผู้ดูแลที่ไม่สามารถสร้างผลิตภาพแก่ระบบเศรษฐกิจ ตัวผู้สูงอายุเองที่สั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์มาตลอดชีวิตก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ ส่วนภาครัฐเองก็มีภาระงบประมาณในการรักษาดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเหล่านี้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการป้องกันหรือชะลอให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงให้ช้าและน้อยที่สุด

 

“โครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้มสมองเสื่อม” โดยใช้ Self -Sustained Movement Program ซึ่งเป็นโปรแกรมจากญี่ปุ่น คิดค้นโดย Dr.MIEKO NAKANO ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัย ชิซูโอกะ ถูกนำมาใช้ฝึกทักษะการออกกำลังกายแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยทดสอบพื้นที่นำร่อง ปี 2560 อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

ด้วยการสนับสนุนของ “JICA” (Japan International Cooperation Agency) หน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีความร่วมมือกับไทยในการทำงานยกระดับด้านสาธารณสุข และสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกจากฮิตาชิ จากการดำเนินโครงการและประมินผลแล้ว พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายในโครงการมีมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้องและกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงขึ้นและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เป็นภาระของลูกหลาน

 

ในปี 2564 ได้มีการขยายผลจากการสนับสนุนงบประมาณโดย สปสช. ให้ครบทั้ง 7 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 8 มีจำนวนผู้สูงอายุ 747,922 คน คิดเป็น 13.44% แบ่งเป็นกลุ่มติดสังคม 602,554 คน หรือ 80.56% เสี่ยงหกล้ม 17,206 คน หรือ 2.30% ข้อเข่าผิดปกติ 29,992 คน หรือ 49% และมีค่า BMI เกินจำนวน 175,104 คน หรือ 23.49%

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

 

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เปิดเผยว่า แนวคิดการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยใช้ Self-Sustained Movement Program เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับเขตและ Area base โดยคณะอนุกรรมการ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี ได้จัดสรรงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับเขต (PPA) ปีงบประมาณ 2564 เพื่อจัดทำโครงการดังกล่าวจำนวน 2,492,520 บาท

 

โดยนำ Self-Sustained Movement Program มาใช้ฝึกทักษะการออกกำลังให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีคะแนนจากการคัดกรอง ADL (Activity Daily Living) 12- 20 จำนวน 2,265 ราย กระจายกลุ่มเป้าหมายใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี 500 คน จ.สกลนคร 500 คน จ.นครพนม 400 จ.เลย 300 คน จ.หนองคาย 200 คน จ.หนองบัวลำภู 215 คน และ จ.บึงกาฬ 150 คน

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

  • 6 ขั้นตอน ฝึกกล้ามเนื้อ

 

สำหรับ กิจกรรมใน Self-Sustained Movement Program จะประกอบด้วย

1.ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต BMI มวลกล้ามเนื้อ แรงบีบมือ

2. ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย SSM test 4 ฐานคือความสามารถในการเดิน ความสามารถในการเคลื่อนไหว ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อและความสามารถในการลุกนั่ง

3.ให้ความรู้การออกกำลังกาย

4.ฝึกทักษะการออกกำลังกายพื้นฐาน (Basic Step) และท่าฝึกกล้ามเนื้อโดยใช้อุปกรณ์ (Muscle Training ทุก 2 สัปดาห์รวม 6 ครั้ง

5.ผู้สูงอายุฝึกเองที่บ้าน 2-3 ครั้ง 2 สัปดาห์ รวม 5 ครั้ง

6.เปรียบเทียบผลทดสอบ 4 ฐาน ทั้งก่อนและหลังเข้าโปรแกรมเป็นรายคนและคืนข้อมูลให้ผู้สูงอายุทราบต่อไป

 

โดยมี “มาสเตอร์” เป็นพยาบาลที่ได้รับการอบรม 35 คน รวมถึง “เทรนเนอร์” คือ อสม. ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการร่วมเป็นผู้ฝึก 35 คน

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

 

อสม.แรงหนุนสำคัญ 

 

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช. เขต 8 อุดรธานี เผยว่า สิ่งสำคัญ คือ เรามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ใส่ใจ คอนเซปต์หลัก คือ แต่ก่อนถ้าผู้สูงอายุหกล้ม ติดเตียงจะเน้นการดูแล แต่หากมองย้อนกลับไปต้องมองว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ล้ม นั่นก็คือ กล้ามเนื้อต้องแข็งแรง โปรแกรมนี้จึงเหมาะในการใช้ ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ รพ. และ รพสต. แล้ว ยังมี อสม. ที่ทำหน้าที่ชักชวนชาวบ้าน ร่วมเป็นผู้ฝึก ทำให้ผู้สูงอายุหันมาสนใจ พอออกกำลังกายดีขึ้น ร่างกายก็ดีขึ้น

 

  • กล้ามเนื้อสำคัญสำหรับสูงวัย

 

ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุ หากออกกำลังกายให้ถูกส่วน จะทำให้ได้พัฒนากล้ามเนื้ออย่างตรงจุด “รัชชดา สุขผึ้ง” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ในฐานะ มาสเตอร์ อธิบายว่า กล้ามเนื้อที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ต้นแขน ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทานข้าว ซึ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้จะช่วยให้ใส่เสื้อผ้าได้เอง 2. กล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยในการลุกนั่ง เดิน ลุกจากที่นอนได้ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และ 3. กล้ามเนื้อส่วนขา สำคัญในการเดิน

 

"เพราะฉะนั้น การออกกำลังกาย โดยใช้ Self -Sustained Movement Program จะเป็นการออกเฉพาะส่วนทั้ง 3 ส่วนให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพิงใคร การเคลื่อนไหวร่างกายที่มีคุณภาพ จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง

 

  • ผลจากการร่วมโครงการ

 

ขณะเดียวกัน หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่คุณภาพชีวิตเปลี่ยนหลังจากร่วมฝึก 6 เดือนอย่าง บรรจง บุรีจันทร์ อายุ 63 ปี ชาวอำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี เล่าว่า ก่อนหน้านี้เดินไม่ได้ มีอาการปวดขาด้านซ้าย ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล กินยากว่า 6 เดือน คุณหมอจึงชวนเข้าร่วมโครงการ เพราะผู้สู้งอายุต้องออกกำลังกาย ในตอนแรกไม่อยากไปเพราะยังปวดขาอยู่ แต่เห็นเพื่อนไปจึงตัดสินใจไปด้วย

 

“โครงการมีกิจกรรมให้ทำมากมาย แม้ตอนแรกจะท้อแต่พอผ่านไป 6 เดือน อาการดีขึ้นเรื่อยๆ โดยพยายามฝึกอยู่บ้านตามคำแนะนำ ปัจจุบัน หายจากอาการปวด วิ่งได้ กระโดดได้ สุขภาพดีขึ้น จากที่คิดว่าจะกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องพึ่งพาลูกหลาน ตอนนี้สุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องใช้ยา ทำงานได้ เกี่ยวข้าวได้ นา 5 ไร่ทำคนเดียว แนะนำให้ผู้สูงอายุดูแลช่วยเหลือตัวเอง ก่อนที่จะไปพึ่งพาคนอื่น และออกกำลังกาย” บรรจง กล่าว

 

  • ยุทธศาสตร์ดูแลผู้สูงวัยระยะยาว

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวขณะลงพื้นที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมโครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้มสมองเสื่อม โดยใช้ Self -Sustained Movement Program โดยระบุว่า ยุทธศาสตร์ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในระยะยาว ให้ความสำคัญกับการจัดระบบบริการต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ชะลอการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง

 

ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขจัดบริการแก่ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบล กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ตลอดจนกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัด

 

โครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม สมองเสื่อม โดยใช้ Self-Sustained Movement Program เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความโดดเด่นและตอบโจทย์ในเรื่องนี้อย่างมาก การกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมตามโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และ กล้ามเนื้อ แขนร่างกายแข็งแรงป้องกันการพลัดหกล้มและสมองเสื่อม สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ ไม่เกิดภาวะพึ่งพิงถือเป็นโครงการที่น่าชื่นชมและ สปสช. ยินดีสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดโครงการลักษณะนี้ทั่วประเทศ

 

ป้องกันความเสี่ยงหกล้ม "ผู้สูงอายุ" ลดปัญหาติดบ้าน ติดเตียง