“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวจะนะ ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวจะนะ  ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ยะห์ เด็กสาวอายุ 19 ปีที่เดินทางจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เข้าสู่เมืองกรุงเพื่อทำกิจกรรมที่คนช่วงวัยเดียวกันไม่คิดจะทำ

หากย้อนวันวานกลับไปสู่วัยแห่งความสนุกที่สุดในชีวิต กิจกรรมส่วนใหญ่ในวัยเด็กของคุณคืออะไร? เล่นเกม ร้องคาราโอเกะกับเพื่อน นัดกินไอติมหลังเลิกเรียน หรือการนั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมชูแผ่นป้ายทวงสัญญาจากนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรม อย่าง ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ยะห์ เด็กสาวอายุ 19 ปีที่เดินทางจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าสู่เมืองกรุงเพื่อทำกิจกรรมที่คนช่วงวัยเดียวกันไม่คิดจะทำ

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวจะนะ  ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

สัญญาที่ ยะห์ ทวงถามแก่รัฐบาลก็คือ กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เริ่มมาตั้งแต่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2559 ที่ต้องการเปลี่ยน 3 พื้นที่ ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ โดยมีเป้าหมายคือการขยายรายได้และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้มีการประเมินการลงทุนไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท

ต่อมาในปี 2562 ครม.ก็อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะในเวลาต่อมา โดยมีเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่จะนะภายใต้การขยายพื้นที่สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา มีการต่อต้านโครงการจากคนในพื้นที่และเกิดการชุมนุมเพื่อคัดค้านโครงการนี้อยู่หลายครั้ง เพราะประชาชนเห็นว่าโครงการดังกล่าวกำลังทำลายบ้านพวกเขา และ ไครียะห์ ระหมันยะ ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงเล็กๆ ที่ออกมาเรียกร้องถึงเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้งเช่นกัน จนได้รับฉายาว่า ‘ลูกสาวจะนะ

เธอมาพร้อมกับการตั้งคำถามต่อสังคมว่า ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

 

 

  • ชีวิตประจำวัน "ไครียะห์" ถ้าวันนี้ไม่มี "ม็อบจะนะ"

ไครียะห์ ระหมันยะ เด็กสาวอายุ 19 ปี เป็นลูกสาวชาวประมงจากหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หากวันนี้ไม่ออกมาเรียกร้องต่อต้าน นิคมอุตสาหกรรมจะนะ แล้วยะห์จะกำลังทำอะไรอยู่?

“ก็เรียนหนังสืออยู่กับเพื่อนในมหาวิทยาลัย ตอนนี้เพิ่งขึ้นปี 1 เทอม 2 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี แล้วก็น่าจะได้ไปดูหนังกับเพื่อนด้วย เพราะเพื่อนก็ลงรูปเที่ยวห้างกันในเฟสบุ๊ค” ยะห์ตอบในขณะที่นั่งสัมภาษณ์บนผ้าใบสีฟ้าปูยาว หน้าองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งและที่นอนชั่วคราวของม็อบจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อกดดันรัฐบาล

 

ไครียะห์ ถูกให้ความสนใจจากสื่อทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พร้อมสมญานาม “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ยะห์และแม่ไปปูเสื่อและกางมุ้งค้างคืนหน้าบันไดศาลากลางจังหวัดสงขลานานเกือบ 50 ชั่วโมง เพื่อรอคำตอบหลังยื่นจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นนิคมจะนะ เพราะเวทีจำกัดสิทธิการเข้าร่วมของคนในพื้นที่ และยังจัดในช่วงโรคระบาดและช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2563 ยะห์เดินทางจากสงขลา มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและโลกโซเชียล จนเกิดแฮชแท็ก #SAVECHANA ในทวิตเตอร์

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวจะนะ  ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

นอกจาก ยะห์ ที่เป็นเยาวชนในม็อบจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว ยังมีกลุ่มเด็กคนอื่นๆ อีกประมาณ 5-6 คน หนึ่งในแก๊งลูกปูลม ที่เป็นกลุ่มเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนจะนะเช่นเดียวกัน

“นอกจากหนูแล้ว เด็กๆ พวกนั้นก็มาด้วย ชื่อแก๊งลูกปูลม ติดสอยมาที่นี่ด้วย ซึ่งถ้าอยู่บ้านเราก็นัดเที่ยวกันเป็นปกติ ถ้าไม่มีโควิด พวกเราจะพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาทุกเดือน ให้เด็กทำกิจกรรมที่บ้าน เตะฟุตบอลชายหาด เล่นน้ำ ก่อกองไฟ เด็กบางคนมาที่นี่ก็นั่งเรียนออนไลน์ไปด้วย”

  • เสียงของเด็ก ไม่เล็กไปกว่าเสียงของผู้ใหญ่

ยะห์ เล่าว่าเธอก้าวเข้าสู่การเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุ 12 ปี และวาทกรรมความเป็นเด็กโจมตีเธอมาตลอด

“หนูก็เจอบ่อย แม้กระทั่งในครอบครัวตัวเองก็เจอ มีแต่คนไล่ให้ไปเรียน มีแต่คนไล่ให้ไปกินขนม ไปเล่น มันอยู่ที่ตัวเราด้วยว่าเราอยากจะทำสิ่งนั้นจริงๆ หรือเปล่า แน่วแน่กับมันมากน้อยแค่ไหน เด็กมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น ทำไปเถอะขอแค่ให้แน่วแน่และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปถึงเป้าหมาย ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าไม่กล้า จนมันผ่านจุดนั้นมา เราก็คิดว่าสิ่งที่เราออกมาพูด เรื่องที่เรากล้าพูดถึง มันน่าภูมิใจมาก”

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวจะนะ  ผิดไหมที่เด็กจะเรียกร้องอนาคตของตัวเอง?

“เด็กๆ แก๊งลูกปูลมพวกเขาไม่รู้อะไรลึกๆ เลย รู้แต่ว่าถ้าจะนะมีนิคมอุตสาหกรรม ก็จะไม่มีปลา พอไม่มีปลาพ่อแม่ก็จะไม่มีเงิน แค่นี้เองที่เด็กๆ อายุ 14 - 15 ออกมาร่วมเรียกร้องกับเรา เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ดี เหตุผลที่เขายกมาคือเรื่องจริง ดังนั้นจะมาบอกว่าเด็กไม่มีความคิดไม่ได้”

ยะห์บอกอีกว่าแม้เราจะเป็นเด็ก แต่เรารู้ว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้น และเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ก็เลือกทำ อย่างการออกมาคัดค้านนิคมฯ เราก็หาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ รวบรวมแล้วเผยแพร่ออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ เพราะก่อนหน้านี้เราเห็นการต่อสู้ของชาวบ้านไปถือป้ายต่างๆ แต่ถ้าต้องการให้คนในเมืองเข้าใจเรา เราต้องเอาข้อมูลเชิงประจักษ์ไปให้เขาดู อธิบายให้เขาเข้าใจด้วย นี่คือสิ่งที่เด็กอย่างเราทำได้

  • ความกลัวแบบเด็กๆ สู่เชื้อเพลิงแห่งความแน่วแน่

เมื่อปลายปี 2560 ยะห์เข้าร่วมเดินขบวนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พร้อมกับชาวบ้าน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่อำเภอเมืองสงขลา

ในวันนั้นพ่อของยะห์โดนตำรวจกว่า 10 นายล้อมจับ ความทรงจำส่วนนั้นคือเชื้อเพลิงที่ทำให้ยะห์กล้ามาถึงทำเนียบรัฐบาลที่ไกลจากบ้านกว่า 1,000 กิโลเมตร

“หนูจะคลุกคลีอยู่กับการอนุรักษ์ชายหาด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะพ่อหนูก็เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราเจอเรื่องแบบนี้สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก และรับรู้มาตลอด พอโตขึ้นเราก็ยิ่งรับรู้ และเข้าใจถึงเรื่องต่างๆ มากขึ้น มันโกรธแค้น โดยเฉพาะวันที่โดนสลายการชุมนุม คือคับแค้นใจมาก เพราะเราแค่มาทวงสัญญา”

และในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ม็อบจะนะรักษ์ถิ่นหน้าทำเนียบถูกสลายการชุมนุม ซึ่งยะห์ก็เห็นเหตุการณ์ที่ไม่ต่างจากเมื่อปี 2560

“หนูตัดสินใจมาแล้ว ถ้าเกิดอะไรก็เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะว่าเรามีความผูกพันกับจะนะมากๆ เพราะพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับบ้านเราอย่างเดียว แต่มีกับคนทั้งโลก อีกมุมหนึ่งคือที่มาถึงที่นี่เรามีความใจกล้าในระดับหนึ่ง พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้เรายิ่งฮึกเหิม เติมไฟเติมกำลังใจให้เราลุกขึ้นสู้ เอาความโกรธมาเป็นแรงผลักดัน เราถามพวกเด็กๆ ว่าถ้าเราโดนจับจริงๆ มีใครกลัวไหม มีใครอยากกลับบ้านไหม ทุกคนไม่อยากกลับ”

  • อนาคตของไครียะห์ ที่ออกแบบไว้ 

“หนูฝังใจเรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ชาวบ้านออกไปประท้วง แต่กลับโดนตีกับโดนฟ้องคดี เพราะตอนนั้นไม่มีสื่อ หนูฝังใจ หนูเลยอยากเป็นสื่อ ถ้าไม่มีใครมาทำสื่อที่บ้านก็จะไปเป็นสื่อที่บ้านเอง ใจจริงอยากเปิดสตูดิโอข้างบ้าน ถ้าหนูทำได้ก็จะภูมิใจ เพราะว่ามันไม่มีใครสื่อสารเรื่องบ้านเราได้ดีเท่าเรา หนูอยากทำสารคดีทุกมุม เดินทางเล่าเรื่องสนุกๆ” ยะห์เล่าพร้อมเปิดภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือให้ดู 

สำหรับพื้นที่จะนะ ยะห์มองว่าอยากให้มันพัฒนาไปในทิศทางที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่กลายเป็นสิ่งที่รัฐจัดหามาแล้วกีดกันคนในพื้นที่ออกไป สิ่งที่เห็นเหมือนกันเวลาไปทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ คือ เยาวชนทุกคนมีความฝันเป็นของตัวเอง แต่แทนที่เยาวชนคนนั้นจะได้ไปทำความฝันให้เป็นจริง เขากลับต้องยอมทิ้งความฝันและลุกมาต่อสู้เพราะความจำเป็น

“เด็กๆ บางคนอยากเป็นไกค์ อยากนำเที่ยวจะนะ อยากพายเรือแคนู หนูอยากสื่อสารเรื่องราวของบ้านเราออกสู่สายตาคนข้างนอก อนาคตของเรามีจะนะอยู่ในนั้น แล้วมันจะผิดอะไรที่หนูมาเรียกร้องให้อนาคตของตัวเอง” ไครียะห์กล่าวทิ้งท้าย