สปสช.อัดสิทธิประโยชน์ใหม่ 26 รายการ รองรับบริการโควิด-19 ในปี66

สปสช.อัดสิทธิประโยชน์ใหม่ 26 รายการ รองรับบริการโควิด-19 ในปี66

บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 จำนวน 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า 8.2 พันล้านบาท เตรียมหนุนนโยบายยกระดับบัตรทอง-นวัตกรรมการแพทย์ พร้อมอัดสิทธิประโยชน์ใหม่อีก 26 รายการ ขณะที่ยังรองรับบริการโควิด-19 ต่อเนื่อง หลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 207,093 ล้านบาท และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่อไป

สำหรับข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 เพิ่มจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เพื่อรองรับนโยบาย รมว.สธ. อาทิ 4 โครงการยกระดับบัตรทอง โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ การส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ นโยบายผู้สูงอายุ การดูแลที่บ้านและชุมชน นโยบายลดความแออัดโรงพยาบาลปฐมภูมิในเขตเมือง นวัตกรรมการแพทย์ และบริการ Telemedicine นอกจากนี้ ยังรองรับสิทธิประโยชน์ใหม่ที่จะประกาศเพิ่มภายในปี 2565 จำนวน 26 รายการ รวมทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์และยาตามบัญชีนวัตกรรม

 

  • เสนองบฯ ปี 66 จำนวน 2.07 แสนล้านบาท

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า กรอบนโยบายในการจัดทำข้อเสนองบประมาณดังกล่าว ได้มีการพิจารณาตามกรอบรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ กฎหมาย แผนงาน รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาจากผลการรับฟังความเห็นกลุ่มต่างๆ ของปี 2564 ซึ่งมีการคำนวณโดยคาดการณ์เป้าหมายตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ต้นทุน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อต่างๆ ที่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อข้อเสนองบประมาณเงินกองทุนฯ ปี 2566 

ทั้งนี้ ในงบประมาณจำนวน 207,093 ล้านบาท แยกเป็นเงินเดือนภาครัฐจำนวน 61,842 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนฯ ที่ส่งให้ สปสช. จำนวน 145,251 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ค่าบริการอื่นๆ นอกงบเหมาจ่ายรายหัว ได้แก่ ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ชายแดนภาคใต้

สปสช.อัดสิทธิประโยชน์ใหม่ 26 รายการ รองรับบริการโควิด-19 ในปี66

ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ รวมถึงรายการใหม่หรือที่แยกมาจากเหมาจ่าย เช่น ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น

 

  • รองรับบริการโควิด-19 โรคประจำถิ่น

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจัดทำข้อเสนองบประมาณครั้งนี้ ยังพิจารณาภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 จะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น โดยงบบริการโควิด-19 จะผนวกอยู่ในข้อเสนองบกองทุนฯ ปี 2566 รวม 1,358 ล้านบาท แบ่งเป็น บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) หรือการตรวจหาเชื้อ บริการรักษาผู้ป่วยใน (IP) และผู้ป่วยนอก (OP) รวมทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้และผู้รับบริการ หรือเงินเยียวยาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ที่จะยังคงมีการดูแลอยู่ต่อเนื่อง

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามหากมีข้อจำกัดงบประมาณของประเทศ ที่ประชุมก็ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การลำดับความสำคัญงบประมาณกองทุนฯ ปี 2566 ไว้ 

สปสช.อัดสิทธิประโยชน์ใหม่ 26 รายการ รองรับบริการโควิด-19 ในปี66

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับ ยา/วัคซีน/เวชภัณฑ์/อวัยวะเทียม/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ที่ให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์จัดหาให้ ปี 2566 รวมจำนวน 14,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปี 2565 ซึ่งเป็นการคาดการณ์รายการที่จะจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เช่น ยาจำเป็น วัคซีน อุปกรณ์และอวัยวะเทียม ยาคุมกำเนิด ถุงรองรับปัสสาวะ (CR) น้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นต้น