กรมสุขภาพจิตระบุเพราะ "3ช."ทำคนไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19

กรมสุขภาพจิตระบุเพราะ "3ช."ทำคนไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19

กรมสุขภาพจิตเผยผลเจาะใจ “คนไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็นเพราะ “3 ช.” เร่งเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย  ย้ำพลังครอบครัวสร้างแรงจูงใจ ส่งทีมVA-VI เปลี่ยนความลังเลเป็นฉีดวัคซีน พบได้ผล 80 %  

    เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวประเด็น "แนวทางการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนโควิด 19" พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์อนามัยโลกวิเคราะห์ว่าความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีน เป็น 1 ใน 10 ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก ไม่ใช่เพียงวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น โดยองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความลังเลในระดับโลกไม่ได้แตกต่างกับไทย เกิดจาก 3 ช. ได้แก่ 1.เชื่อมั่นของประชาชนต่อวัคซีน 2.ชะล่าใจประมาทต่อสถานการณ์จึงละเลย และ 3.ช่องทางซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐในการบริหารจัดการช่องทางรับวัคซีนให้ลงตัว สะดวกที่สุด
         กรมสุขภาพจิต ได้เจาะใจประชากรที่ปฏิเสธวัคซีนในช่วงแรกราว 1 กว่าพันคน ในประเด็น 1.เชื่อมั่น ในกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 604 คน พบว่า เชื่อมั่น 46.19%  และไม่เชื่อมั่นวัคซีน 53.81% เพราะ กังวลความปลอดภัย และผลข้างเคียงที่ไปฟังเขาเล่าว่าฉีดแล้วเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์เลยว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนหรือปัจจัยอื่น แต่ก็ได้บั่นทอนความเชื่อไปแล้ว รวมถึงความปรารถนาของประชาชนที่อยากมีสูตรวัคซีนที่ตรงกับใจของตัวเอง ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นกระทบกลุ่ม 608 มากกว่าคนทั่วไปที่มีความเชื่อมั่นเกินกว่าครึ่ง ซึ่งสธ.ก็พยายามให้ข่าวที่สร้างความเชื่อมั่น เผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยหลายจุดบริการฉีดก็เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเลือกชนิดวัคซีนฉีดได้

2.ชะล่าใจ พบว่า ผู้ที่รู้ว่าเสี่ยง 19.11% และชะล่าใจ 80.89% โดยมองว่าเรื่องนี้ไม่เกิดความเสียหายต่อตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาติดเชื้อหรือความเสี่ยงต่อชีวิต  ทั้งที่ให้ข้อมูลว่าในจังหวัดที่อยู่มีการระบาดถึง 51% และมีคนรู้จักติดโควิด 26.59% ซึ่งพบว่ามีความบิดเบี้ยวของหลักการและเหตุผลอยู่ประมาณหนึ่ง เป็นประเด็นสำคัญที่ สธ. เครือข่ายและประชาชนทุกคนต้องช่วยกันดูแลไม่ให้คงความชะล่าเช่นนี้

และ 3.ช่องทางรับวัคซีน แยกเป็นการเดินทาง สะดวก 61.61% และไม่สะดวก 48.39% ดังนั้น สังเกตได้ว่าระยะหลังทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขับเคลื่อนเพิ่มจุดวัคซีนให้กว้างขวางขึ้น ทำงานเชิงรุกเดินเข้าชุมชนเพื่อฉีดวัคซีน อำนวยความสะดวกในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ และเรื่องการนัดหมาย พบว่า มีความสะดวก 52.94% และไม่สะดวก 47.06% เพราะอาจจะมีหลายแอพพลิเคชั่นไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด

     “3 ที่ผ่านมา ทีมสธ.ทำงานหนักมาก มีการมอบหมายนโยบายเชิงรุก เข้าถึงผู้ต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น มีทีมอำนวยความสะดวกทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พระภิกษุ ชุมชนที่เข้าถึงยาก เพื่อขยายการฉีดวัคซีนให้เต็มที่” พญ.อัมพรกล่าว

     พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า  จากการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธการรับวัคซีน พบว่า หลายคนที่ลังเลในเบื้องต้นแต่กลับถูกสั่นคลอน อยากมาฉีดวัคซีนด้วยแรงจูงใจจากครอบครัวที่มีผลอย่างมาก ดังนั้น หากมีสมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเราต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่กันและกันเพื่อความปลอดภัยของทุกคน โดยกลไกการจูงใจฉีดวัคซีนที่สำคัญ คือ “VUCA” ได้แก่ “V” Vaccine ฉีดวัคซีนลดการป่วยหนัก “U” Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา “C” Covid Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการพร้อม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และ “A” ATK พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้คนติดเชื้อหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ

       “ที่ผ่านมา สธ.ได้ติดอาวุธ อสม.และบุคลากรสาธารณสุข ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า VA (Vaccine Advice) และ VI (Vaccine Intervention)   คือ การถามเป็นกังวลใจอะไร สงสัยอะไร และให้กำลังใจเป็น เมื่อมีข้อมูลถูกต้องก็ชื่นชม แต่หากไม่ใช่ ก็ต้องอธิบาย เพื่อให้ความลังเลนั้นหายไป ซึ่งกลไกลดังกล่าวทำให้ผู้ลังเลฉีดวัคซีนกว่า 1,188 คน ยอมรับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจไปถึง 80% เพื่อให้การฉีดวัคซีนจากปัจจุบันกว่า 95 ล้านโดสไปจนถึง 100 ล้านโดสในอนาคตอันใกล้นี้”พญ.อัมพรกล่าว

     เมื่อถามถึงจะมีวิธีลดข้อวิตกกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ต่อประสิทธิภาพวัคซีนอย่างไร  พญ.อัมพร กล่าวว่า ขอเปลี่ยนแปลงการตกใจ เป็นพลัง ด้วยการมีสติ ตั้งหลักดีๆ ในการรับรู้ข่าวสาร เมื่อได้ข้อมูลทบทวนให้ดี และถามตัวเองว่า กังวลใจเรื่องอะไร และเรายังขาดข้อมูลอะไร รวมทั้งจะมีวิธีการจัดการสถานการณ์อย่างไร ที่สำคัญต้องชื่นชมตัวเองว่า เรามีสติในการถามข้อมูลที่ถูกต้อง ถามจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ พร้อมรับฟัง  สิ่งเหล่านี้ก็จะลดความตื่นกลัวได้