"หน้ากากอนามัย" เลือกซื้ออย่างไร ให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน

"หน้ากากอนามัย" เลือกซื้ออย่างไร ให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน

ในเวลานี้ นอกจากวัคซีนโควิด-19 ที่จำเป็นต้องเร่งฉีดแล้ว "หน้ากากอนามัย" ยังถือเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ มีหลายรูปแบบ หลายยี่ห้อในท้องตลาด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ายี่ห้อไหนได้มาตรฐาน และมีคุณภาพ

วันนี้ (30 พ.ย. 64) สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการทดสอบ "หน้ากากอนามัย" ชนิดใช้ครั้งเดียว โดยมีการตรวจสอบคุณภาพจากการซื้อหน้ากากอนามัย 60 ยี่ห้อ เก็บข้อมูลระหว่าง 16 ส.ค.-3 ต.ค.64 ส่งตรวจที่ห้องทดลองที่ได้มาตรฐาน หลังจากนั้น มีการจัดประชุมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรายงานผลที่พบการทดสอบไม่ว่าจะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลหน้ากากอนามัย

 

ตรวจสอบ หน้ากากอนามัย 60 ยี่ห้อ 

 

“ไพบูลย์ ช่วงทอง” กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ เผยผลการทดสอบหน้ากากอนามัย 60 ยี่ห้อ โดยระบุว่า ความยากที่สุดคือ หลายยี่ห้อเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไม่บอกว่าเกรดไหน ทำให้ยากต่อการจัดแยกประเภทให้ห้องทดลองทดสอบตามมาตรฐาน

 

ทั้งนี้ การทดสอบ แบ่งหน้ากากอนามัยออกเป็น หน้ากากอนามัยใช้งานทั่วไป 14 ยี่ห้อ , หน้ากากอนามัยที่ใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และการใช้งานด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) 27 ยี่ห้อ และหน้ากากกลุ่มอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจตามมาตรฐาน N95 จำนวน 19 ยี่ห้อ โดยส่งไปทดสอบห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นห้องทดสอบเพื่อขอรับมาตรฐานอุตสาหกรรม

 

การทดสอบ 2 เรื่อง 

 

ทั้งนี้ มีการทดสอบ 2 เรื่อง คือ ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency) ได้แก่ ขนาด 0.1 ไมครอน สำหรับหน้ากากอนามัยทั่วไป หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และด้านศัลยกรรม ส่วนอนุภาค 0.3 ไมครอน ทดสอบในหน้ากากอนามัยกลุ่ม N95 และ “ทดสอบความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ” บอกถึงการต้านการหายใจมากน้อยแค่ไหน โดยผลการทดสอบ ดังนี้

หน้ากากอนามัยระดับการป้องกันใช้งานทั่วไป

 

  • กำหนดให้ต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่าร้อยละ 95
  • ต้องมีค่าความดัน ไม่เกิน 4.0 mm H20/Cm2
  • มาตรฐาน มอก. 2424/2562
  • จำนวน 14 ยี่ห้อ
  • ผ่านเกณฑ์ 3 ยี่ห้อ ได้แก่ LOC , Medicare Plus และ Iris Ohyama
  • ไม่ผ่านเกณฑ์กว่า 11 ยี่ห้อ

 

หน้ากากอนามัยระดับการป้องกันการใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไปและการใช้งานด้านศัลยกรรม

 

  • กำหนดให้ต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่า ร้อยละ98
  • ต้องมีค่าความดัน ไม่เกิน 5.0 mm H20/Cm2
  • มาตรฐาน มอก. 2424/2562
  • ทดสอบ 27 ยี่ห้อ
  • ผ่าน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Double A Care, THC และ Nam Anh
  • ไม่ผ่านเกณฑ์ 24 ยี่ห้อ

 

หน้ากากอนามัยระดับการป้องกัน N95

 

  • กำหนดให้ต้องมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่า ร้อยละ95
  • ต้องมีค่าความดัน ไม่เกิน 3.5 mm H20/Cm2
  • ตามมาตรฐาน มอก. 2480/2562
  • ทดสอบทั้งหมด 19 ยี่ห้อ
  • ผ่านเกณฑ์ 13 ยี่ห้อ ได้แก่ Minicare , ตรางู , One care , 3M , Welcare Black Edition , Ease Mask Zero , Phamatex , ไคเทคิการ์ด รุ่นซาวายากะ , Ease Mask Zero (Alco) , KSG (ซองเขียวอ่อน), Unicharm , Watsons และ Link Care
  • ไม่ผ่านเกณฑ์ 6 ยี่ห้อ

 

สังเกตอย่างไรว่า "หน้ากากอนามัย" ได้มาตรฐาน

 

“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อสังเกตในการซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ อย่างน้อยต้องมีเลขทะเบียนของ อย. เรายังต้องเผชิญกับโควิด-19 ที่จะอยู่กับเราอีกนาน และนี่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็น อยากเห็นการกำกับคุณภาพที่ชัดเจน ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกต้อง

 

"เพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ สอบ. ได้มีการจัดเวทีกับหน่วยงานและส่งต่อข้อมูลผลการทดสอบรายงานต่อหน่วยงานของรัฐเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมกำกับการผลิตหรือการนำเข้าหน้ากากอนามัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค"

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์