สธ.ตั้งเป้า 65 เพิ่มหอผู้ป่วยในดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทางจิตเวชและยาเสพติด

สธ.ตั้งเป้า 65 เพิ่มหอผู้ป่วยในดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทางจิตเวชและยาเสพติด

ปลัดสธ. เปิดหอผู้ป่วยในรองรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ปี 2564 เปิดแล้ว 15 แห่ง ตั้งเป้าปี 2565 เพิ่มอีก 23 แห่ง 

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) ที่โรงแรม เซอร์ เจมส์ ลอดจ์ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมจำนวน 150 คน  

 

  • เปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง
และมีภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินหรือมีโรคร่วมและมีภาวะแทรกซ้อนทางกายได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบการส่งต่อเป็นเครือข่ายอย่างไร้รอยต่อ ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการก้าวหน้า โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ชุมชน เป็นต้น 

 

  • ตั้งเป้าปี 65 เพิ่มหอผู้ป่วยในจิตเวช 23 แห่ง 

ทั้งนี้ ดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ปี 2565 ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังประกาศ เน้นการบำบัดยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง (โรคเรื้อรัง) ลดอันตรายและป้องกันอาการทางจิต รวมถึงยกเลิกการบังคับบำบัด เหลือการบำบัดแบบสมัครใจและแบบต้องโทษ โดยศาลจะใช้ดุลพินิจให้มาบำบัดก่อนจะพิจารณาลงโทษ และเน้นการดูแลรักษาร่วมกับชุมชน โดยใน ปีงบประมาณ 2565 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 23 แห่ง โดยภาพรวมขณะนี้มีทรัพยากรเตียงด้านจิตเวชทั่วประเทศ จำนวนกว่า 6,661 เตียง

ผู้ติดยาเสพติดทุกคน ถือเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสังคมและจิตใจ การช่วยเหลือดูแลรักษาอาจมีความยุ่งยากซับซ้อน การพัฒนาระบบบริการด้านจิตเวชและยาเสพติดจะช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนสามารถเข้าถึงการบำบัดรักษาได้มากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขนพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ในปีงบประมาณ 2564 ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการเปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลแล้ว 15 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลตาก โรงพยาบาลแพร่ เป็นต้น