“ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ” เพิ่มความสะดวก ลดยุ่งยากใช้สิทธิ

“ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ” เพิ่มความสะดวก ลดยุ่งยากใช้สิทธิ

สปสช.เผยผลงานเด่น “ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ” ช่วยเพิ่มความสะดวกผู้ป่วย ลดความยุ่งยากใช้สิทธิ เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น พร้อมขยายบริการหลังทดลองนำร่อง ระบุ ปี 2565 บริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวครอบคลุมทั้งประเทศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้มีการ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ใน 4 บริการ ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สปสช.ได้สรุปการดำเนินการตามนโยบาย (รายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 เดือน ของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564) ดังนี้ 

ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ไหนก็ได้ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา เนื่องจากโครงสร้างระบบบริการที่มีความพร้อม

โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน และระบบยืนยันตัวตนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน

ผลดำเนินการในพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 จากข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 64 มีผู้รับบริการปฐมภูมิต่างหน่วยบริการประจำโดยที่ประชาชนไม่ถูกเรียกเก็บเงิน รวมทั้งสิ้น 230,379 ครั้ง โดยไม่พบการร้องเรียน และได้ขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น เขต 8 อุดรานี เริ่มวันที่ 1 มี.ค. 64 และ เขต 10 อุบลราชธานี เริ่มวันที่ 1 เม.ย. 2564 ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างรวบรวมผลดำเนินการ

 

  • เข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้เพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เดิมการขอใบส่งตัวรักษาจากหน่วยบริการประจำเพื่อรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ผู้ป่วยหรือญาติจะต้องทำทุก 3 เดือนจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดยกรณีที่เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน การที่ต้องกลับไปขอใบส่งตัวใหม่ที่หน่วยบริการประจำ นอกจากเกิดความไม่สะดวก เป็นปัญหาแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง สปสช. จึงได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์

โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่หน่วยบริการประจำ ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วยเท่านั้น โดย สปสช. ดูแลเรื่องเงินสนับสนุน ส่วนโรงพยาบาลจะดูแลเรื่องระบบบริการ ใบส่งต่อรักษา รวมทั้งประวัติต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา เริ่มวันที่ 1 พ.ย. 2563 และในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 

จากข้อมูลวันที่ 30 เม.ย. 2564 ในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา พบว่าผู้ป่วยและญาติ ได้รับความสะดวก ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ จำนวน 82,599 ครั้ง และไม่ปรากฎข้อร้องเรียนจากประเด็นนี้ และด้วยผลดำเนินการนี้ สปสช.  ได้ขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 นี้ 

 

  • ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับบริการทุกที่

โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว ไม่ให้อาการลุกลามและมะเร็งบางชนิดยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1) ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 2) แอปพลิเคชัน สปสช. และ 3) ติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็ง โดยให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) โดยเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 ในโรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกับกรมการแพทย์ที่ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงเพื่อให้บริการ 

จากข้อมูลผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนร่วมให้บริการตรวจรักษาโรคมะเร็งระบบบัตรทอง 192 แห่ง มีผู้ป่วยมะเร็งรับบริการผู้ป่วยนอก 263,485 ครั้ง หรือ 137,736 คน ในจำนวนนี้เป็นการใช้บริการตามนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม 46,655 ครั้ง หรือร้อยละ 16.58 ของผู้ป่วยนอกมะเร็งทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยมะเร็งรับบริการผู้ป่วยใน 99,915 ครั้ง หรือ 81,045 คน ในจำนวนี้เป็นใช้บริการตามนโยบายฯ 10,128 ครั้ง หรือร้อยละ 10.13 ของผู้ป่วยในมะเร็งทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา 

ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน จากเดิมที่การย้ายหน่วยบริการต้องรอทุกวันที่ 15 หรือวันที่ 28 ของเดือน เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิก่อน ทำให้เป็นอุปสรรคเมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษากับหน่วยบริการได้ทันที ดังนั้น สปสช. ได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชัน สปสช. บนสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำด้วยตนเองและได้สิทธิทันทีภายในวันเดียว (เปลี่ยนสิทธิไม่เกิน 4 ครั้ง/ปี) โดยเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 จากข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย 2564 มีประชาชนสิทธิบัตรทองเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ 537,439 ครั้ง เป็นการดำเนินการผ่านหน่วยบริการ 485,595 ครั้ง หรือร้อยละ 92 และผ่านแอป สปสช. 51,844 ครั้ง หรือร้อยละ 8 ในจำนวนนี้ใช้สิทธิทันทีในหน่วยบริการ 29,945 ครั้ง หรือร้อยละ 7.21

“จากรายงานที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบบริการทั้ง 4 บริการนี้ ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการเข้ารับบริการ ลดความยุ่งยากในการใช้สิทธิบัตรทอง ทำให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนบริการที่ได้นำร่องในบางพื้นที่นั้น สปสช.มีนโยบายที่จะขยายบริการเพิ่มเติม โดยในส่วนบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวจะขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 นี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว