เกิดขึ้นได้อย่างไร โรงเรียนคำสร้อยวิทยาสรรค์ ATKพบติดโควิด-ตรวจซ้ำไม่ติด

เกิดขึ้นได้อย่างไร โรงเรียนคำสร้อยวิทยาสรรค์ ATKพบติดโควิด-ตรวจซ้ำไม่ติด

ไขความจริง โรงเรียนคำสร้อยวิทยาสรรค์ตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจATK พบติดเชื้อ ตรวจซ้ำกลับไม่ติดเชื้อ ผลบวกปลอม และผลลบลวงมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นได้


    เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 พ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  กรณีคลัสเตอร์นักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร นั้น กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้มีการติดตามข้อมูลในเครือข่ายการสอบสวนโรค  พบข้อมูลเบื้องต้นคือ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 ทีมเจ้าหน้าที่ รพ.นิคมคำสร้อยได้รับแจ้งเหตุการณ์การระบาดในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร พบครูมีผลบวกโควิดจากชุดตรวจ ATK จำนวน 14 ราย และสุ่มตรวจนักเรียนในโรงเรียนผล ATK บวก จำนวน 3 ราย รวมเป็น 17 ราย 

        ต่อมาเวลา 13.00 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)มุกดาหารได้ร่วมกันออกคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจATKทั้งหมด 4 ยี่ห้อ ทั้งนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน จำนวน 1,106 ราย พบผลบวก 87 ราย โดยผลบวกทั้ง 87 รายพบว่ามาจากการตรวจด้วยชุดตรวจATK ของโรงเรียนทั้งหมด จึงได้สุ่มตรวจ 2 รายจาก 87 ราย ตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจATK ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และสสจ.ซึ่งเป็นคนละยี่ห้อกัน พบว่าผลเป็นลบ

       หน่วยงานที่ลงพื้นที่จึงดำเนินการเก็บส่งตรวจด้วยวิธีRT-PCR ยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการทั้งในผู้ที่พบผลบวกจากATK จากชุดตรวจของโรงเรียน และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติม รวม 160 ราย และแยกกัก ขณะรอผลตรวจ ที่รพ.สนามวัดภูด่านแต้ ส่วนคนอื่นๆ ในโรงเรียนให้เฝ้าสังเกตอาการอยู่ภายในโรงเรียนเช่นเดียวกับขณะรอผลตรวจ สรุปผลตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ไม่พบเชื้อทุกราย 

   ATKของโรงเรียนไม่รู้ผ่าน อย.หรือไม่  
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชุดตรวจATKของสสจ.และสปสช.ที่นำมาตรวจซ้ำและให้ผลตรงกัน คือ เป็นลบนั้น คือ ยี่ห้อเล่อปู๋(Lepu)และสแตนดาร์ดคิว

     ขณะที่ชุดตรวจATKของโรงเรียนนั้น ไม่มีการเปิดเผยออกมา จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าชุดตรวจดังกล่าว ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ 4 พ.ย.2564 มีชุดตรวจATK ชนิดตรวจด้วยตนเองผ่านการอนุญาตจาก อย.แล้ว 100 ยี่ห้อ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/Shared%20Documents/ข้อมูลรายชื่อชุดตรวจและน้ำยา%20COVID-19%20Home%20use.pdf

        ทั้งนี้ อย.ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกำหนดเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน ต้องมีความไวเชิงวินิจฉัยมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย มากกว่าหรือเท่ากับ 98% ความไม่จำเพาะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10%
   ปัจจัยทำให้ATKเกิดผลบวกลวง
       ต่อข้อถามการตรวจด้วยATK ที่ทำให้ผลผิดพลาดเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง นพ.โอภาส กล่าวว่า  1.คงมีปนเปื้อน 2.การเก็บอุปกรณ์ไม่ดี เช่น ตากแดดมากก็เสียได้ 3.ให้อ่านผลใน 15 นาทีแต่ลืมไปอ่านในอีก 1 ชั่วโมง และ4.วิธีตรวจต้องถูกต้อง 

     ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจัยที่อาจทำให้ผลการทดสอบชุดตรวจATKไม่ถูกต้อง

1.การเกิดผลบวกปลอม หมายถึง ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นผลบวก โดยอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากพื้นที่ ที่ทำการทดสอบหรืออุปกรณ์ที่ใช้ การติดเชื้อไวรัส หรือจุลชีพอื่นๆ หรือผู้ทำการทดสอบดำเนินการตามขั้นตอนวีธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น  อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด สภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม ผลบวกปลอมขึ้นกับสถานการณ์ระบาดของแต่ละจังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีการระบาดในชุมชนการตรวจพบผลบวกปลอมจะสูงกว่าจังหวัดที่มีการระบาดกว้างขวาง

     2.การเกิดผลลบปลอม หมายถึง เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นลบ เนื่องจากหลายกรณีคือ ผู้สัมผัสโรคโควิด-19 อาจอยู่ในระยะแรกที่มีปริมาณไวรัสต่ำ ,ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปริมาณไวรัสลดลงแล้วแต่ยังมีอาการอยู่,เป็นผู้ไม่มีอาการแต่ตรวจATK ซึ่งกลุ่มนี้ตรวจหาไวรัสได้ยากกว่ากลุ่มที่มีอาการ ,การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือผู้ทำการทดสอบดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด ปริมาณตัวอย่าง(จำนวนหยด)มากหรือน้อยกว่าที่กำหนด

     ทั้งนี้  ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด-19 ผลลบลวงอาจทำให้เกิดการแพร่โรคในครอบครัว สถานประกอบการ โรงงาน หรือชุมชนได้ 
      ความจำเป็นของการใช้ATK

        จากกรณีนี้อาจทำให้คนสงสัยว่าตรวจATKผลไม่แม่นยำ แล้วนำATKมาใช้ตรวจทำไม นพ.โอภาส กล่าวว่า ATKต้องใช้ให้ถูกวิธี และATKมีประโยชน์ในการคัดกรองคนที่มีอาการมากๆ ตรวจครั้งเดียวอาจจะมีประโยชน์ไม่มากนักแต่หากตรวจสม่ำเสมอเป็นระยะ จะช่วยตรวจจับอาการแรกๆ ได้ ซึ่งเป็นอาการที่เชื้อค่อนข้างมาก ช่วยลดการระบาดได้ เพราะฉะนั้น การตรวจสม่ำเสมอสำคัญกว่า การตรวจครั้งเดียวแล้วสบายใจไม่ค่อยช่วยอะไร  แต่ถ้าตรวจเป็นระยะๆ สัปดาห์ละครั้งโดยเฉพาะในกิจการที่เสี่ยงสูงจะเกิดประโยชน์มาก 

   “ย้ำอีกครั้งในส่วนของโรงเรียนไม่ได้กำหนดให้ตรวจATK โดยเฉพาะไม่เคยบังคับตรวจทุกคน แต่มีข้อแนะนำมาตรการต่างๆสำหรับโรงเรียนไว้ แต่การสุ่มตรวจด้วยATKเป็นระยะในบางกลุ่มบางคนมีความสำคัญ”นพ.โอภาสกล่าว  

วิธีป้องกันโควิด-19ในโรงเรียน

     นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเรียนรูปแบบ On Site ในวันที่ 1 พฤศจิกายน แล้ว กว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ และจะทยอยเปิดเรียนมากขึ้นตามความพร้อม จึงต้องเน้นย้ำเรื่องมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษา ประกอบด้วย  6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด 6 มาตรการเสริม ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง ส่วนแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา 1.ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง 2.Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.อาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ  ความสะอาด น้ำ ขยะ 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และ 7.School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนจำนวนมากที่สุดอย่างน้อย 85% 

         "ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไปเรียนในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเน้นย้ำกับบุตรหลานว่า ไม่ควรถอดหน้ากากอนามัย ไม่ลืมตรวจ ATK ไม่เล่นเป็นทีมหรือกลุ่มใหญ่ ไม่นั่งติดกันทั้งเวลาเรียน คุยเล่น ทานข้าว และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน สำหรับการเรียนภายในห้องเรียนต้องไม่เกิน 25 คนต่อห้อง รวมถึงไม่เปิดแอร์เรียนนานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องมีการเปิดหน้าต่างระบายอากาศ หากทุกคนในสถานศึกษาร่วมมือร่วมใจทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด 19 ในสถานศึกษาได้ และเมื่อลูกหลานกลับมาถึงบ้านแล้ว ควรรีบล้างมือ อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย อีกทั้งยังต้องเฝ้าสังเกตอาการทุกวัน หากคนในครอบครัวสงสัยว่าติดเชื้อโควิด 19 ให้รีบตรวจ ATK พร้อมกักตัวเองแยกออกจากคนในบ้าน หากสงสัยว่าติดเชื้อโควิด 19 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422" นพ.โอภาส กล่าว

        สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กนักเรียน นักศึกษา อายุ 12-17 ปี ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด 19 เข็มแรกแล้ว 2,493,957 คน หรือร้อยละ 55.4 เข็มที่สอง 606,942 คน หรือร้อยละ 13.5 จากเป้าหมาย 4,500,000 คน  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาลควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์