กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วย "โรคเมลิออยด์"

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังป่วย "โรคเมลิออยด์"

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ระวังป่วยโรคเมลิออยด์ พบมากในช่วงฤดูฝน เชื้อสามารถเข้าทางบาดแผล หรือการหายใจและกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน

     วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ จะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ผิวหนัง การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป รวมถึงการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย
     

        แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
        สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 1,955 ราย เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุ 45-54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ มุกดาหาร อํานาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร และศรีสะเกษ ตามลำดับ
         

สำหรับ วิธีการป้องกันโรคเมลิออยด์ สามารถทำได้ ดังนี้

1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุด   ลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่  

2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท

3.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง  

4.หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางลมฝุ่นและสายฝน  

5.ลดละเลิกการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422