เครือข่ายฯ งดเหล้า ห่วงอุบัติเหตุ ผลพวงเปิดให้ "ดื่มแอลกอฮอล์"

เครือข่ายฯ งดเหล้า ห่วงอุบัติเหตุ ผลพวงเปิดให้ "ดื่มแอลกอฮอล์"

สคล. ห่วงอุบัติเหตุ หลังเปิดให้ "ดื่มแอลกอฮอล์" ในร้านอาหาร เผยช่วงก่อนโควิด-19 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุราว 30-40 รายต่อวัน ส่วนหนึ่งมาจากการดื่ม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ขณะที่ช่วงวิกฤติโควิด เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงเหลือราว 10 รายต่อวัน

จากที่ ศบค. เคาะ 4 จังหวัดสีฟ้า ได้แก่ กทม. กระบี่ พังงา ภูเก็ต ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านได้ มีผล 1 พ.ย. รองรับการเปิดประเทศ โดย กทม. อนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารที่ได้รับรองคุณภาพ SHA ของ ททท. เปิดไม่เกิน 21.00 น. วงดนตรีเล่นแบบเว้นระยะไม่เกิน 5 คน

 

ขณะที่มีการเปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา และมี 4 จังหวัดให้นั่งดื่มสุราในร้านได้ แม้หลายฝ่ายจะมีความกังวลใจในเรื่องของการระบาดโควิด-19 แต่อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งมาพร้อมกับการดื่มสุรา คือ อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ ซึ่งจากสถิติก่อนโควิด-19 พบว่า มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุราว 30-40 รายต่อวัน ส่วนหนึ่งจากเมาแล้วขับ ขณะที่ ในช่วงโควิด-19 ซึ่งห้ามทานในร้าน พบว่าสถิติลดลงอยู่ที่ประมาณ 10 รายต่อวัน  

 

“ธีระ วัชรปราณี” ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า แม้การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ผ่านมา การดื่มสุรา อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการแพร่ระบาด แต่ในสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน เพราะปัจจุบัน เรามีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน และมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มาตรการหนึ่งที่ทางศบค. ให้ผู้ประกอบการมีส่วนรับผิดชอบ ตรงนี้สำคัญ ทำอย่างไรให้ร้านอาหาร ที่เปิดให้นั่งดื่ม มีส่วนรับผิดชอบจริงๆ 

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ไม่ใช่ช่วงโควิด-19 ก็มีปัญหาในตัวของมันเอง เช่น ดื่มและขับรถออกไปประสบอุบัติเหตุ ทำร้ายคนอื่น คิดว่าทำอย่างไรให้ร้านค้ามีส่วนรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้ผู้รับผิดชอบและบุคคลที่สามได้รับผลกระทบอย่างเดียว ดังนั้น น่าจะใช้โอกาสนี้ในการติดตาม เช่น ให้ทุกร้านลงทะเบียนเพื่อที่จะได้รับข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการว่าความรับผิดชอบแต่ละร้านต้องทำอย่างไร อาทิ ทุกร้านต้องผ่านมาตรฐาน SHA ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจว่าป้องกันผู้บริโภคอย่างไร

 

ทั้งกำหนดระยะห่าง การเล่นดนตรี ไม่แออัด เป็นจุดสำคัญน่าจะทำให้เราป้องกันไว้ก่อนเมื่อเกิดปัญหา การแพร่ระบาด ภาครัฐจะสามารถย้อนกลับไปมอนิเตอร์ได้ โดยข้อมูลทั่วไปกรมสรรพสามิต กรมการปกครอง หรือ ศบค. จะได้เอาข้อมูลเชื่อมกัน และพอหมดโควิด-19 สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ต่อได้ 

 

  • อุบัติเหตุ ผลจากสุรา

 

ธีระ กล่าวต่อไปว่า การรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันของผู้ประกอบการไม่ว่าจะในสถานบริการที่จำหน่ายการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เฉพาะการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเดียว ผลกระทบปกติที่เกิดประจำ เช่น ปล่อยให้ลูกค้าเมา ออกไปขับรถ เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ทางร้านค้า เด็กเสิร์ฟ สามารถช่วยสังคมได้ โดยการป้องกันลูกค้าที่มาดื่มในร้าน ที่ดื่มจนไม่สามารถประคองสติได้ ไม่สามารถขับรถได้ ต้องดูแลจัดการ 

 

“ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมาถึงจุดนี้ ปล่อยให้ลูกค้าขับรถออกไป สุดท้ายก็เกิดเรื่องเศร้าสลดหลายครั้งอย่างที่เราเจอ ไม่ใช่เจอสถานการณ์โควิดอย่างเดียว แต่เราจะกลับมาเจอสถานการณ์ดื่มแล้วขับ และเป็นปัญหาตามมา นี่คือข้อห่วงใยของเรา”

  • โควิด-19 อุบัติเหตุลดลง

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติก่อนโควิด-19 ทั้งประเทศมีอุบัติเหตุราว 30-40 รายต่อวัน ส่วนหนึ่งมาจากดื่มแล้วขับ พอ โควิด-19 อุบัติเหตุ มีอัตราลดลง เพราะดื่มที่บ้าน การเดินทางลดลงราว 10 กว่ารายต่อวัน ดังนั้น หากถามว่าตอนนี้ถึงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดหรือยัง ธีระ กล่าวว่า หากมองในมุมภาคประชาชน และในมุมสุขภาพ การเปิดให้มีการ ดื่มแอลกอฮอล์ มีความเสี่ยงสูง แต่ในเมื่อ ศบค. ชั่งใจแล้ว ก็ต้องป้องกัน 


“มองว่าการให้ทุกร้านค้าที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ ลงทะเบียนผ่านแอพฯ ในแต่ละจังหวัด ลิ้งค์เข้าระบบเป็นแผนที่ เพื่อให้เห็นว่าร้านที่เปิดอยู่โซนไหนบ้าง รวมทั้งร้านอาหารทั่วไปมีเท่าไหร่ จะได้ช่วยกันดูได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ซึ่งมีความซับซ้อนที่สุด และเป็นจุดที่กระจายไปต่างจังหวัดในทุกครั้ง เป็นความเสี่ยงที่ภาคประชาสังคมห่วงใยว่าจะสามารถควบคุมหรือสามารถรักษาความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน”

 

“เป็นการชั่งน้ำหนักและการประเมินสถานการณ์ เป็นเรื่องที่เราเอาสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจมาชั่งน้ำหนักกัน และเราผ่านภาวะต้องป้องกัน ควบคุม หนักมาพอสมควร เป็นจังหวะเปิดประเทศ โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจก็เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง หากเราประคับประคองช่วยกันป้องกัน อาจจะพยุงภาวะเศรษฐกิจไม่ให้แย่ลงไปมากกว่านี้ แต่ก็ต้องช่วยกันประเมินระบบสุขภาพในสังคมของเราด้วย” 


ในฐานะภาคประชาสังคม ธีระ เผยว่า ได้มีส่วนเข้าไปช่วยหนุนเสริมชุมชน เช่น ช่วงออกพรรษาสร้างชุมชนคนสู้เหล้า สู้ภัยโควิด ประมาณ 500 แห่งอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งส่งเสริมคนที่เลิกเหล้าให้มีอาชีพ เป็นส่วนของภาคประชาสังคมมาหนุนเสริม เชื่อมโยงกับภาครัฐในระดับพื้นที่ 

 

หลังจากปิดประเทศ เครือข่ายฯ มองว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ประมาณสองสามเรื่องที่จะต้องขับเคลื่อน ได้แก่ การจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่จะมีคอนเสิร์ต งานประเพณี เป็นจุดเสี่ยง หากเป็นประเด็นแอลกอฮอล์ ก็จะมีลักษณะการขายให้กับเด็ก ละเมิดกฎหมายต่างๆ อุบัติเหตุบนท้องถนน พอโควิดเข้ามา บวกแอลกอฮอล์เข้าไปก็ยิ่งจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เราจะติดตาม 

 

“และมีกิจกรรมโครงการรณรงค์งานบุญประเพณีปลอดเหล้า การติดตามธุรกิจจำหน่ายแอลกอฮอล์ว่ามีการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นในลักษณะผิดกฎหมายหรือไม่ส่วนประเด็นที่สอง หลังจากเปิดประเทศ ร้านต่างๆ จะมีโปรโมชั่น ซึ่งเป็นการกระตุ้นทางการตลาดของธุรกิจ เป็นตัวเร่งกระตุ้น ให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ ลดแลก แจก แถมก็จะกลับเข้ามา เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง” ธีระ กล่าวทิ้งท้าย