สปสช .- สสจ.อุดรฯ ผนึกกำลัง แจก "ATK" ลดเสี่ยง-ป้องกันกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

สปสช .- สสจ.อุดรฯ ผนึกกำลัง แจก "ATK" ลดเสี่ยง-ป้องกันกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

สปสช.-สสจ. อุดรธานี ผนึกกำลังแจก "ATK" พนักงานโรงงานไทยนำมันสำปะหลัง ครอบคลุม 450 คน เพื่อให้พนักงานตรวจเชื้อด้วยตนเอง ป้องกัน-ลดเสี่ยงในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 จ.อุดรธานี และ นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (สสจ.อุดรธานี) เยี่ยมชมการดำเนินงานการแจกชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ให้แก่ บริษัท ไทยนำมันสำปะหลัง จำกัด ต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ครอบคลุมพนักงาน 450 คน เพื่อใช้ตรวจหาเชื้อ โควิด -19 ด้วยตนเอง เป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 

 

นายสามารถ จิตตดีชัย ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส บริษัท ไทยนำมันสำปะหลัง จำกัด จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เป็นความโชคดีของโรงงานไทยนำมันสำปะหลัง ที่ได้รับ ชุดตรวจ ATK จาก สปสช. เนื่องจากตอนนี้พนักงานบางส่วนกำลังเกิดความกังวล และต้องการอยากคัดกรองเอง เพราะชุมชนใกล้เคียงที่ติดกับ โรงงาน นั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงยังเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของพนักงานบางส่วน ทำให้จำเป็นต้องกักตัวพนักงานในโรงงาน จำนวน 21 ราย

 

สำหรับ โรงงานไทยนำมันสำปะหลัง มีพนักงานทั้งหมด ประมาณ 450 ราย ในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 1 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการติดเชื้อจากข้างนอกโรงงาน ฉะนั้นเมื่อโรงงานทราบเรื่องจึงได้ติดต่อไปยังผู้ป่วยเพื่อให้กักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งทางโรงงานจะเป็นผู้นำชุดตรวจที่ทางโรงงานมีส่งไปให้ที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดไม่สามารถออกจากบ้านได้

 

สปสช .- สสจ.อุดรฯ ผนึกกำลัง แจก \"ATK\" ลดเสี่ยง-ป้องกันกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

“พนักงานก็มาขอชุดตรวจกับทางโรงงาน เพราะโรงงานเรามีชุดตรวจไว้ให้พนักงานตรวจหาเชื้ออยู่แล้ว เมื่อเขาตรวจแล้วเขาก็กักตัวเอง ซึ่งทางโรงงานก็จะติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โคกสะอาด เพื่อให้เข้ามาดูแล เราถือคติว่าเมื่อตัวเราปลอดภัยหมู่บ้านเราก็จะปลอดภัย” นายสามารถ กล่าว 

 

นางศุจินดา บุญศรี ประธาน (อสม.) โคกสะอาด ต.โคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า โดยปกติแล้ว อสม. โคกสะอาดจะแบ่งกันเข้ามาดูแลในโรงงานไทยนำมันสำปะหลังเป็นประจำ โดยจะมีแพทย์จากหน่วยบริการในพื้นที่เข้ามาดูแล-คัดกรองให้กับคนในโรงงานสัปดาห์และ 2 ครั้ง 

 

อย่างไรก็ดี ก่อนการปฏิบัติงานของ อสม. จะต้องมีการอบรมก่อนทุกครั้ง และในช่วงแรกที่ อสม. จำเป็นต้องลงพื้นที่ ก็จะมีทีมแพทย์-พยาบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ที่อยู่ในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือ-ให้ความรู้กับคนในชุมชน ทั้งในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือรับ ชุดตรวจ ATK ผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง สำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

 

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ สปสช.เขต 8 ดูแล 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ได้รับจัดสรร ATK เป็นจำนวน 464,700 ชุด ซึ่ง จ.อุดรธานีได้รับชุด ATK มาแล้วประมาณ 8.3 หมื่นชุด กระจายไปในทุกๆ โรงพยาบาลในจังหวัด รวมไปถึงบางโรงพยาบาลก็กระจายต่อไปที่ รพ.สต. อีกด้วย

 

สปสช .- สสจ.อุดรฯ ผนึกกำลัง แจก \"ATK\" ลดเสี่ยง-ป้องกันกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

อย่างไรก็ดี ทาง สปสช. เขต 8 จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการแจกชุด ATK ให้กับกลุ่มโรงงาน เนื่องจากกลุ่มโรงงานเป็นกลุ่มสำคัญ หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในโรงงานก็อาจจะทำให้ต้องปิดโรงงาน ซึ่งอาจจะส่งผลให้พนักงานเสียรายได้ และโรงงานเสียผลผลิตได้ 

 

“นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองด้วย ATK จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการควบคุมป้องกันโรค เมื่อทราบผลได้เร็วก็จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็ว ลดโอกาสในการแพร่เชื้อแก่คนอื่นได้มากขึ้น” ทพ.กวี กล่าว

 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การแจก ATK ได้อย่างทั่วถึงรวดเร็วมีความจำเป็นมากในช่วงนี้ เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังจะเปิดประเทศ รวมไปถึงอีกไม่นานก็กำลังจะเปิดภาคเรียนเช่นกัน ฉะนั้นหากสามารถแยกคนป่วยและคนไม่ป่วยออกจากกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี 

 

“โรงงานเป็นอีกหนี่งกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ ฉะนั้นถ้าสามารถทำให้พนักงาน-บุคลากรสามารถตรวจหาเชื้อด้วยตนเองโดยการนำชุด ATK ไปแจก เพื่อให้ทราบสถานะว่าตนเองติดหรือไม่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งก็จะเห็นว่าทางโรงงานตอบรับดี และสามารถกระตุ้นให้คนในโรงงานเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้ได้” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับชุด ATK ก็ได้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว โดยในขณะนี้ยอดการใช้จริงมีประมาณเกือบ 2 ล้านชุด แต่สิ่งที่ยังคงเป็นกังวลคือการบันทึกผล ขณะนี้มีการบันทึกผลเข้ามาประมาณ 42% ของผู้ที่ได้รับชุดตรวจทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่ายังน้อยกว่าครึ่ง และอาจจะทำให้การคาดการณ์เป็นได้ค่อนข้างยาก ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการตรวจไม่ว่าผลจะเป็นลบหรือบวก ต้องขอความกรุณาบันทึกผลผ่านแอปฯ เป๋าตัง ทันที

 

สปสช .- สสจ.อุดรฯ ผนึกกำลัง แจก \"ATK\" ลดเสี่ยง-ป้องกันกลุ่มผู้ใช้แรงงาน