"เครือข่ายสลัม 4 ภาค" เสนอรัฐบริหารโควิด "ภาคใต้" ไม่ให้ซ้ำรอย กทม. 

"เครือข่ายสลัม 4 ภาค" เสนอรัฐบริหารโควิด "ภาคใต้" ไม่ให้ซ้ำรอย กทม. 

"เครือข่ายสลัม 4 ภาค" ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐ จัดการสถานการณ์ "โควิด-19" โดยเฉพาะ "ภาคใต้" แนะ ศบค. สธ. ประสานความร่วมมือ สร้างความเข้าใจกับชุมชน เคารพความเชื่อ ATK ต้องไม่เป็นเครื่องมือกีดกันการใช้ชีวิต สนับสนุน (HI) และ (CI) ตามบริบทพื้นที่ 

วันนี้ (28 ต.ค. 64) “เนืองนิช ชิดนอก” ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในฐานะเครือข่ายคนทำงานโควิดในชุมชน (Com-Covid) กล่าวในงานแถลงข่าว “ภาคประชาชนจี้รัฐ จัดการก่อนวิกฤต โควิดภาคใต้ต้องไม่ซ้ำร้อยกทม.” ผ่านเฟซบุ๊ก "เครือข่ายสลัม 4 ภาค" ถึงข้อเสนอถึงรัฐในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า ในฐานะเครือข่ายคนทำงานโควิดในชุมชน ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพเนื่องจาก เราอยู่ใน กทม. เจอสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง ไม่มีเตียง และต้องลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเองด้วยภาคประชาชน

 

จึงเกิดกระบวนการที่จะทำศูนย์พักคอยในชุมชน และประสานหน่วยงานเข้ามาร่วม และบางหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งศูนย์ในชุมชน และได้มีการอบรม สนับสนุน ให้ตัวแทนชุมชน อาสาสมัคร ในการดูแลกันเอง และที่ผ่านมาสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้จริง และบางพื้นที่รักษาในศูนย์ 

 

ดังนั้น จึงไม่อยากให้ทุกพื้นที่ที่กำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะภาคใต้ เกิดความสับสนวุ่นวายแบบที่เราเป็นมา จึงมีข้อเสนอเรียกร้องระบบบริหารจัดการ โควิด-19 ในประเทศ โดยเฉพาะ สถานการณ์ใน ภาคใต้ ดังนี้ 

 

ข้อ 1. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นเอกภาพและต้องเป็นฝ่ายประสาน สั่งหน่วยงาน เช่น ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ในการประสานความร่วมมือ และใช้แนวทางดังกล่าวในการจัดการปัญหา สามารถตอบสนองการดูแลประชาชนได้อย่างทันท่วงที และหยุดสร้างความสับสน โดยแนวทางดังกล่าวต้องประกอบด้วย 

(1) กระทรวงสาธารณสุข สร้างข้อมูลที่มีความชัดเจนไม่อคติ และไม่ตีตรากล่าวโทษประชาชน และต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ให้มีความรู้ในการดูแล ป้องกัน 

 

(2) เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแนวทางในการดำรงชีวิต คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพอัตลักษณ์และความเชื่อของประชาชนในการจัดการเรื่องโควิด-19 เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดการร่างกายผู้เสียชีวิต เป็นต้น 

 

(3) การใช้เครื่องมือ ในการตรวจการติดเชื้อโควิดแบบเร็วหรือ ATK ต้องไม่เป็นเครื่องมือในการกีดกัน รังเกียจ หรือเป็นเงื่อนไขในการกลับมาดำรงชีวิตตามปกติในสังคม สถานศึกษารวมทั้งอื่นๆ ต้องไม่บังคับตรวจหรือต้องให้มีผลตรวจ ATK แต่ต้องสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอ อย่างที่กล่าวเบื้องต้นว่า ต้องไม่เอา ATK มาเป็นเงื่อนไขในการกีดกันในการสร้างอาชีพ ต้องสนับสนุน ให้เป็นเครื่องมือในการตรวจเพื่อที่จะรักษาอย่างรวดเร็ว 

(4) สนับสนุนประกาศองค์กรวิชาชีพ ทางการแพทย์ เรื่องการกลับเข้าสู่สังคมผู้ป่วยโควิดหลังกำหนดรักษา หรือกักตัว ฉบับ ลงัวนที่ 7 ต.ค. 2564 โดยมีประเด็น สำคัญ ว่า ที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว หรือได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ผู้นั้นจะไม่มีการส่งเชื้อไปสู่บุคคลอื่น ไม่ต้องกักตัวต่อและไม่ต้องหาเชื้อซ้ำ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เมื่อครบ 14 วัน แพทย์ควรจะยืนยันชัดเจนว่าไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ฉะนั้น เขาจะสามารถไปทำงานต่อได้ โดยไม่ต้องเสียเวลากักตัวเพิ่ม 14 วัน 

 

ข้อ 2. เรียกร้องให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้ชุมชน ได้เข้าร่วม มีส่วนร่วมดูแลจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ในชุมชน ในรูปแบบการดูแลที่บ้าน Home isolation (HI) และ Community isolation (CI) ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ และต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพราะการทำงานของชุมชนในกรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยบริการได้พิสูจน์ชัดเจนว่า คนไข้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19