"Telemedicine" ตัวช่วยผู้ป่วยโรคหืด เข้าถึงการรักษา ยุค New Normal

"Telemedicine" ตัวช่วยผู้ป่วยโรคหืด เข้าถึงการรักษา ยุค New Normal

"โควิด-19" ทำให้ผู้ป่วยลดการมาโรงพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยโรคหืด ที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อเนื่อง การแพทย์ทางไกล หรือ "telemedicine" จึงนับเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ที่ช่วยให้แพทย์ติดตามอาการ และให้คำปรึกษาผู้ป่วยได้

ปัจจุบันประเทศไทยมี ผู้ป่วยโรคหืด ประมาณ 3 ล้านคน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่สถานพยาบาล ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและความเสี่ยงในการติดเชื้อ  “ระบบการแพทย์ทางไกล” จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และติดตามอาการต่อเนื่อง

 

ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนการใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยและการติดตามการรักษาทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่จะมีอาการรุนแรงขึ้นได้ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ

 

เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค และ กลุ่มทรู ผนึกกำลังเปิดโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี ร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

 

ครอบคลุม 3 โรค ได้แก่ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และ โรคภูมิแพ้ ทางจมูก ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 โดยนำร่องใช้กับโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม ให้ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เข้าถึงการรักษาต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

“รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์” ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี มีเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และมีคนไข้ในเครือข่ายรวมกว่า 600,000 คน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหอบหืดกว่า 3 ล้านคน

 

“ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไข้อยู่บ้าน จำนวนคนไข้ที่เคยรับยาประจำลดลงมากกว่าครึ่งทั่วประเทศ แม้คนไข้ส่วนหนึ่ง รพ. มีการส่งยาไปให้ที่บ้านอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งไม่ได้มารพ. ขาดยา และบางคนใช้ยาน้อยกว่าที่ควรเพื่อยืดเวลาในการใช้ยา ทำให้การควบคุมโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูกแย่ลง ส่วนหนึ่งกำเริบ ต้องส่งเข้าห้องฉุกเฉิน และในสถานการณ์แบบนี้ทำให้ยากมากขึ้น เพราะไม่รู้จะเป็นหอบ หรือโควิด-19 ต้องตรวจโควิดก่อน ทำให้การรักษาลำบาก

 

การนำเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล มาพัฒนาบริการ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์พูดคุยกับคนไข้ได้ผ่านระบบออนไลน์ แชต หรือวิดีโอคอล สนทนาโดยตรง ถือเป็นนวัตกรรมตอบโจทย์แก้ไขปัญหาได้อย่างดี โดยเฉพาะการเข้าถึงของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เมื่อรักษาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม ตรงตามยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นให้ความสำคัญในปี 2564 นี้

“วิริยะ จงไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม ระบุว่า จีเอสเค ได้ริเริ่มการจัดทำโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี โดยร่วมมือกับ เครือข่ายคลินิก

 

โรคหืดฯ และ กลุ่มทรู นำเทคโนโลยี Telemedicine “แพทย์ทางไกล” ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการคำปรึกษาในการรักษาอาการป่วย สามารถพบแพทย์ผ่านออนไลน์ สนับสนุนด้านข้อมูลทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ

 

โรคนี้ต้องรักษาต่อเนื่อง แต่การบริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลค่อนข้างลำบาก โควิด-19 กระตุ้นให้คิดสิ่งเหล่านี้และทำจริงได้ สามารถประเมินคนไข้ได้ไม่ใช่แค่ส่งยาอย่างเดียว เปิดมุมมองใหม่ๆ ทำอย่างไรให้คนไทยไม่ต้องมาที่รพ. อยู่ที่บ้าน หรือไป รพ.สต. เข้าถึงการรักษาได้ดี นี่คือ ความท้าท้ายใหม่ และเราพยายามจะหาคำตอบใหม่ๆ ด้วยเหมือนกัน

 

“ทั้งนี้ บริการแพทย์ทางไกล สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ และอาจช่วยลดต้นทุนของ รพ. ด้วย ประชาชนก็จะพึงพอในในการบริการรักษา คนไข้มีสิทธิใช้อยู่แล้ว เบื้องต้นนำร่องโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม คาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 700 ราย และขยายกว่า 100 แห่งในปี 2565 และมากกว่า 500 แห่งในปีถัดไป” วิริยะ กล่าว

 

  • โควิด-19 เป็นตัวเร่ง พบแพทย์แบบไฮบริด

 

“ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์”กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ผู้คนและองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวและทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล การร่วมมือครั้งนี้ กลุ่มทรู ได้นำเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจรและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผสานกับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เพื่อร่วมดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ ให้สามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่าย เพิ่มความปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทาง ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ

 

ผู้ป่วยสามารถนัดหมายและปรึกษาแพทย์ประจำตัวในแผนก EACC Clinic บนแอปพลิเคชัน True HEALTH เพื่อพูดคุยกับแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งการโทร แชต และวิดีโอ คอลล์ (VDO Call) เพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่องช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับแพทย์ สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้ตามเวลานัดหมาย โดยสามารถดูประวัติการรักษา ให้คำปรึกษาและบันทึกประวัติการรักษาผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที นับเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานแก่ทีมแพทย์ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤต

 

“ทั้งนี้ มองว่าในอนาคต เทรนด์เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable) น่าจะมา การดูข้อมูลจะง่าย ถัดมา คือการพบแพทย์แบบไฮบริด คือ ทั้งการไปพบแพทย์ที่ รพ. และระบบทางไกลร่วมกัน สุดท้าย เทรนด์การรักษาเชิงป้องกัน รวมถึงการพบแพทย์ทางไกล ซึ่งทั่วโลกบางประเทศมีสัดส่วน 30-40% จากผู้ป่วยนอกทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย คนไข้เริ่มเชื่อใจมากขึ้น มีการพัฒนามากขึ้น คาดว่าเทรนด์จะค่อยๆ ขยับสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน การใช้การแพทย์ทางไกลอยู่ที่ 5%” ณัฐวุฒิ กล่าว

 

"Telemedicine" ตัวช่วยผู้ป่วยโรคหืด เข้าถึงการรักษา ยุค New Normal