เคลียร์ชัด! "น้ำมันแพง" เพราะภาษี-เงินกองทุน จริงไหม?

เคลียร์ชัด! "น้ำมันแพง" เพราะภาษี-เงินกองทุน จริงไหม?

รู้ไหม “ราคาน้ำมัน” ที่หน้าปั๊มสูงกว่าต้นทุนหน้าโรงงานเกือบเท่าตัว คือ เรื่องจริง! แต่ไม่ใช่ทั้งหมดจะเป็นแบบนั้น ใน "ส่วนต่าง" มีค่าอะไรซ่อนอยู่บ้าง แล้วราคาขายปลีก "น้ำมัน" ในไทยแพงแค่ไหนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน คลังขอเคลียร์ให้ชัดๆ ตามมาดูกัน

กรณี "ราคาน้ำมัน" ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง จนเป็นกระแสร้อนในสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่บอกว่า ราคาน้ำมันที่แพงจัดนั้น เกือบครึ่งเป็นค่าภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 49% ของราคาขายที่หน้าปั๊ม!

ความจริงเป็นอย่างไร ?

ล่าสุด วันที่ 26 ต.ค.64 กระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการอธิบาย “โครงสร้างราคาขายปลีก” ของน้ำมันเชื้อเพลิง ในปัจจุบันว่า แบ่งออกเป็น 6 ส่วนหลักๆ ดังนี้ 

(1) ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

(2) ภาษีสรรพสามิต ที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม 

(3) ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น ที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ 

(4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท 

(5) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และ 

(6) ค่าการตลาด ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

 รัฐเก็บภาษี-เงินกองทุน “45% ของราคาน้ำมัน” คือเรื่องจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด 

พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันดังกล่าวว่า สัดส่วนที่พูดกันเกี่ยวกับการเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสูงถึงร้อยละ 45 ของราคาน้ำมันต่อลิตรที่ประชาชนจ่ายนั้น จะพบว่า เป็นการนำสัดส่วนของราคาน้ำมันเบนซินปกติ (ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ในสัดส่วนที่น้อย และเป็นการใช้สำหรับรถยนต์ที่มีราคาสูง) นำมาอ้างใช้กับน้ำมันทุกประเภท จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง 

เพราะหากเป็นน้ำมันประเภทอื่นเช่น เบนซินแก๊สโซฮอล ดีเซล LPG เป็นต้น สัดส่วนของภาษีและเงินกองทุนจะอยู่ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 - 23 เท่านั้น

และในน้ำมันบางประเภท เช่น เบนซิน 95 E85 และ LPG สัดส่วนการเก็บภาษีและเงินกองทุนติดลบ เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน

 น้ำมันแต่ละประเภท มีโครงสร้างราคาไม่เท่ากัน 

ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดเก็บภาษีและได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่แตกต่างกันตามโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน

  • น้ำมันดีเซล 

- ราคาหน้าโรงงาน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 75 - 87 ของราคาขายปลีก

- ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6-16 ของราคาขายปลีก

- ค่าการตลาด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 - 3 ของราคาขายปลีก

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า

  • น้ำมันเบนซิน 

- ราคาหน้าโรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 - 100 ของราคาขายปลีก

- ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -25 ถึง 35 ของราคาขายปลีก

- ค่าการตลาด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 – 18 ของราคาขายปลีก

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า 

  • LPG 

- ราคาหน้าโรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 157 ของราคาขายปลีก

- ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -81 ของราคาขายปลีก เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาดังกล่าวอยู่

- ค่าการตลาด อยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 17 ของราคาขายปลีก

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า

 ทำไมต้องเก็บ “ภาษีสรรพสามิต” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” จากสินค้าพลังงาน 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้อธิบายถึงเหตุผลของการจัดเก็บ "ภาษีสรรพสามิต" จากสินค้าพลังงานว่า เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เนื่องจากการบริโภคสินค้าพลังงานสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การสร้างมลภาวะทางอากาศซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะของประชาชนในภาพรวม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ราคาของสินค้าพลังงานสามารถสะท้อนผลกระทบและต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าพลังงานต่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเพิ่มเติม 

ในด้าน "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" นั้น อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าและบริการ แต่จัดเก็บจริงที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระแก่ประชาชน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD จะพบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงชองประเทศไทยเกือบ 3 เท่า หรืออยู่ที่ร้อยละ 19.3 ดังนั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ จึงอาจไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่สูงเกินกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก

การจัดเก็บภาษีทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยในปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษี VAT คิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้รัฐบาลรวม ดังนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการค้าขายและลดต้นทุนการขนส่ง การดำเนินมาตรการส่งเสริม SMEs การดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

 เปรียบเทียบราคาน้ำมัน ไทย Vs อาเซียน 

หากวิเคราะห์ในภูมิภาคอาเซียน เกือบทุกประเทศต่างมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานแล้วทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน 

ราคาน้ำมัน

โดยหากพิจารณาจากราคาขายปลีก พบว่า

“น้ำมันดีเซล” ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564

บรูไน : 7.71 บาทต่อลิตร

มาเลเซีย : 17.42 บาทต่อลิตร

อินโดนีเซีย : 27.12 บาทต่อลิตร

เมียนมา : 26.95 บาทต่อลิตร

ไทย : 29 บาทต่อลิตร

เวียดนาม : 25.73 บาทต่อลิตร

ฟิลิปปินส์ : 28.69 บาทต่อลิตร

กัมพูชา : 30.24 บาทต่อลิตร

สปป. ลาว : 31.50 บาทต่อลิตร

สิงคโปร์ : 53 บาทต่อลิตร

 

“น้ำมันเบนซิน” ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564

บรูไน : 13.18 บาทต่อลิตร

มาเลเซีย : 16.47 บาทต่อลิตร

อินโดนีเซีย : 28.49 บาทต่อลิตร

เมียนมา : 29.02 บาทต่อลิตร

ไทย : 31.95 บาทต่อลิตร

เวียดนาม : 33.55 บาทต่อลิตร

ฟิลิปปินส์ : 37.25 บาทต่อลิตร

กัมพูชา : 39.27 บาทต่อลิตร

สปป. ลาว : 44.82 บาทต่อลิตร

สิงคโปร์ : 65.89 บาทต่อลิตร

 

อ้างอิง : กระทรวงการคลัง