ฉีดวัคซีนเด็กรับเปิดเทอม 1 พ.ย. กว่า 50% ย้ำปัจจัยเปิดเรียน "ออน ไซต์"

ฉีดวัคซีนเด็กรับเปิดเทอม 1 พ.ย. กว่า 50% ย้ำปัจจัยเปิดเรียน "ออน ไซต์"

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในรูปแบบออน ไซต์ ของกลุ่มโรงเรียนต่างๆ ทั้งประเทศ โดยจะเริ่มเปิดตั้งวันที่ 1 พ.ย.นี้ หลังจากที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์มาอย่างยาวนาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กอายุ 12-17 ปี นำร่องในสถานศึกษาพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อน และจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.นั้น

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานยอดจำนวนนักเรียน/นักศึกษาอายุ 12-17 ปี สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-22 ต.ค.2564 มีผู้ที่ประสงค์ฉีดวัคซีน 3,779,871 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 2,032,794  คน คิดเป็น ร้อยละ 53.78%  แบ่งเป็นภูมิภาคต่างๆ ดังนี้  ภาคใต้  ฉีดแล้ว 296,112 คน คิดเป็น 48.46% ภาคเหนือ  177,159 คน คิดเป็น 51.32% ภาคอีสาน 649,265 คน คิดเป็น 56.98%ภาคตะวันออก  153,692 คน คิดเป็น 49.41% ภาคตะวันตก  122,827 คน คิดเป็น 63.14% และภาคกลาง 633,739 คน คิดเป็น 53.78%

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้กำหนดแผนให้นักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปีขอ จำนวน 5,048,081 คน เบื้องต้นมีผู้ประสงค์จะฉีด 3.7 ล้านกว่าคน จะได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ + ไฟเซอร์  และเด็กต่ำกว่า 18 ปี ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.34 ล้านคน

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กจะไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการสมัครใจ เป็นความยินยอมของนักเรียน และผู้ปกครอง

 

  • หลักเกณฑ์เปิดเทอม 1 พ.ย.นี้ 

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาเปิดภาคเรียน ทางศธ. ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากบางพื้นที่ แม้อยู่ในเขตพื้นที่สีแดง  เช่น จ.นครราชสีมา แต่อำเภอที่มีโรงเรียนอยู่กลับเป็นพื้นที่สีขาว ดังนั้น ต้องให้ในแต่ละพื้นที่เป็นผู้พิจารณา

“ขณะนี้ไม่น่าห่วงเรื่องของการเปิดภาคเรียน เพราะการเปิดเรียนสามารถทำได้ตามปกติ และแต่ละพื้นที่สามารถเลือกรูปแบบและวิธีการเปิดภาคเรียนได้ว่าจะเรียนรูปแบบไหน พื้นที่ไหนพร้อมก็เปิดเรียน on site พื้นที่ไหนยังไม่พร้อมก็เรียนออนไลน์เช่นเดิมได้ ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลักว่าจะเปิดการเรียนการสอน เปิดเทอมในรูปแบบไหน เพื่อป้องกันและดูแลเด็ก”นายสุภัทร กล่าว

จากการติดตามพบว่า บางพื้นที่มีเงื่อนไข เช่น จ.นราธิวาส กำหนดให้สัดส่วนครูต้องได้รับวัคซีน 100% จึงจะเปิดภาคเรียนได้ ก็คาดว่าการเปิดภาคเรียนใน จ.นราธิวาส จะทำได้ประมาณ 15 พ.ย. ซึ่งในส่วนนี้คำนวณตามระยะเวลาการรับวัคซีนในเข็มที่ 2 ที่ต้องห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 สัปดาห์

ส่วนเกณฑ์การเปิดภาคเรียนในพื้นที่อื่นๆ พื้นฐานกำหนดให้ครูต้องมีการรับวัคซีนอย่างน้อย 85% หรือรับ 2 โดส หรือบางที่จะกำหนดให้นักเรียนรับวัคซีน หรือผู้ปกครองรับวัคซีนด้วยก็ได้

 

  • ย้ำรร.เลือกรูปแบบและวิธีให้เหมาะสมกับพื้นที่

สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีมาตรการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะบริบทของโรงเรียนมีความแตกต่างกันมีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ กลางและ เล็ก ดังนั้น อาจไม่ได้เปิดภาคเรียนแบบ on site พร้อมกันทุกแห่ง แต่จะมีมาตรการสลับวันมาเรียน ทั้งนี้ เมื่อเปิดเรียนแล้วขอให้สถานศึกษาทุกแห่งปฎิบัติการตามมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด เช่น เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น

นายสุภัทร กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน 2.2 ล้านคน ที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี ไม่พบปัญหา มีแค่รายเดียวที่มีอาการแพ้ แต่ภายหลังก็พบว่ามีอาการไส้ติ่งอักเสบร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วม เชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับการเปิดเทอม เพราะขึ้นอยู่กับรูปแบบ อาจมีเรื่องของการรับวัคซีนที่อาจช้าลงเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของการขนส่ง ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ แต่วัคซีนที่จัดสรรไปให้กับเด็กคือวัคซีนที่ดีที่สุด และปลอดภัย

ขณะนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไปแล้ว 60-65% ทั้งนี้ ต้องหวังพึ่งผู้นำศาสนาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจ เพราะการจะบังคับหรือเอามาตรการสาธารณสุขไปเปลี่ยนวิถีชีวิต คงไม่สามารถทำได้ แต่ในบางพื้นที่ เมื่อมีการฉีดวัคซีนเด็ก ผู้ปกครองก็สมัครใจร่วมรับวัคซีนด้วยเช่นกัน ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ

  • ปัจจัยเปิดเรียน on site ของรร.สังกัดสพฐ.

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีกำหนดเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พ.ย.2564 ในรูปแบบ on site  ซึ่งสพฐ.ได้มีการทำความเข้าใจกับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และโรงเรียนให้ทราบถึงแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเตรียมการเปิดภาคเรียนในรูปแบบออนไซต์ เราจะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน โดยจะเปิดพร้อมกัน วันที่ 1 พ.ย. 2564 โดยให้เปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ แต่หากเปิดออนไซต์ไม่ได้ให้ยึดรูปแบบอื่นทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่ ออนแอร์ เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV ออนดีมานด์ เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ออนไลน์ เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และออนแฮนด์ เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัด หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ ตามที่เคยทำมาในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีความต้องการเปิดประเทศ โดย สพฐ. ก็มีเป้าหมายของการดำเนินการตามนโยบายด้วยการเปิดเรียนออนไซต์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ โรงเรียนใดที่จะเปิดเรียนออนไซต์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะต้องการมีปฏิบัติตามปัจจัยต่างๆ เช่น

ปัจจัยที่ 1 บทบาทหน้าที่ต้องเริ่มที่โรงเรียน และจะต้องประเมินตนเองให้ผ่านเกณฑ์ 44 ข้อ ว่ามีความพร้อมที่จะเปิดเรียนได้หรือไม่ แต่จากการประเมินที่ผ่านมาพบว่าการประเมินที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่เกิดจาก ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงขอสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคอยดูแลกำกับให้โรงเรียนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และกำชับให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ประเมินด้วยตนเอง พร้อมถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมาด้วย

ปัจจัยที่ 2 คือวัคซีนครูซึ่งในภาพรวมฉีดมาเกือบ 90% แล้ว แต่ยังคงพบว่ายังมีบางโรงเรียนยังฉีดไม่ถึง 30% ดังนั้นเขตพื้นที่จะต้องมีข้อมูลจำแนกเป็นรายโรงเรียน ว่าแต่ละโรงเรียนมีการฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไร ใครฉีดแล้วบ้าง ไม่ฉีดด้วยสาเหตุอะไร ต้องมีข้อมูลที่จะตัดสินใจและหาวิธีแก้ปัญหาได้

ปัจจัยที่ 3. ขณะนี้มีนักเรียนที่ประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน 80% แต่ยังมีบางโรงเรียนฉีดไม่ถึง 50% จึงจะต้องเป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ร่วมกันประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม สนับสนุนอย่างไร

ปัจจัยที่ 4 การฉีดวัคซีนของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ที่อายุไม่ถึง 12 ปี ให้โรงเรียนรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากนักเรียนในวันนี้มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองเป็นพิเศษ หากผู้ปกครองได้ฉีดวัคซีนครบ ย่อมส่งผลให้เกิดความปลอดภัยกับนักเรียนมากขึ้นด้วย

ปัจจัยที่ 5 สถานการณ์การแพร่ระบาด ในระยะแรก ใช้เกณฑ์ยึดพื้นที่จังหวัดเป็นฐาน แต่ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 จะยึดพื้นที่ตำบล อำเภอเป็นฐานในการเปิดเรียน ดังนั้นเขตพื้นที่แต่ละเขตพื้นเขตจะต้องกำหนดพื้นที่สีขาว สีส้ม สีแดง สีแดงเข้ม ภายในเขตพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจัยที่ 6 ต้องเสนอขออนุญาตไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของแต่ละจังหวัด เพื่อให้ทันเปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.นี้ สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมใน 5 ปัจจัยแรก

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้จะต้องผ่านการประเมินทั้ง 6 ข้อ จึงจะสามารถเปิดเรียนได้ และเมื่อเปิดเรียนได้จะต้องมีมาตรการดูแลนักเรียนครู ผู้ปกครอง ให้ปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เช่น การกำหนดระยะห่าง การจัดห้องเรียนไม่เกินห้องละ 25 คน ตลอดจนการสลับวันมาเรียน นอกจากนี้ต้องมีมาตรการตามแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมการรองรับหากมีการระบาดในโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร โดยร่วมมือกับสาธารณสุข สถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำบลได้อย่างไร และหากมีโรงเรียนที่ไม่สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้ เขตพื้นที่จะต้องบริหารจัดการแก้ไขให้สามารถเปิดเรียนได้ แต่หากประเมินแล้วเปิดไม่ได้ก็ให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบอื่นแทน ทั้งนี้การเปิดภาคเรียนไม่ได้เป็นการบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องมาโรงเรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเลือกให้ลูกเรียนอยู่ที่บ้านได้ แม้เปิดเรียนออนไซต์ ก็สามารถเลือกเรียนได้ จนกว่าจะเกิดความมั่นใ