มาแล้ว! ยาต้านโควิด-19 ในไทยมีกี่ชนิด? ชนิดไหน..รักษาผู้ป่วยกลุ่มใด?

มาแล้ว! ยาต้านโควิด-19 ในไทยมีกี่ชนิด? ชนิดไหน..รักษาผู้ป่วยกลุ่มใด?

อัพเดท! ยาต้านโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทย แบ่งแยกตามกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ใครควรใช้ยากลุ่มไหน ชนิดใด พร้อมแนะนำข้อควรระวัง ผลข้างเคียงหลังรับยารักษาในแต่ละชนิด

ยิ่งใกล้เปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 หลายภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่จะเปิดเมือง รวมถึงพยายามพัฒนายา วัคซีนเพื่อดูแลรักษาป้องกันโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย ได้มีการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีน ยาตัวใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในการช่วยลดอาการรุนแรง หรือลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 

  • "ยาฟาวิพิราเวียร์" ยาตัวแรกที่นำมาใช้รักษาโควิด

วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวมอัพเดท "ยาต้านโควิด-19" ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เพื่อดูแล รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง และสีแดง 

เริ่มด้วย "ยาฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir) ยาที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง คือกลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยงของโรครุนแรง จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีทั้งรูปแบบที่เป็นเม็ดและเป็นน้ำ

ทั้งนี้ ไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคน จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เป็นยาที่ต้องกินภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่จะได้รับ  "ยาฟาวิพิราเวียร์" เริ่มมีอาการของโรค เช่น ไข้สูง รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการโรคร่วม  หรือ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคหัวใจ-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนผู้ที่เริ่มมีภาวะปอดอักเสบ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค

 

สรรพคุณของยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดต่ออื่น ๆ โดยจะขัดขวางการสร้าง RNA ของไวรัสชนิดต่าง ๆ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสได้หมด

 

 

  • ข้อความรู้การใช้ยาต้านโควิด-19

ทั้งนี้ ส่วนผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้กรณีมีข้อบ่งชี้เท่านั้น อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตา เล็บหรือผิวหนังเปลี่ยนสี เป็นสีม่วงอมน้ำเงิน และพบตาเรืองแสงได้ในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากเป็นยาที่มีคุณสมบัตรเรืองแสง แต่ไม่เป็นอันตราย และไม่กระทบต่อการมองเห็น อาการนี้จะสามารถหายได้เอง เมื่อหยุดยาประมาณ 14 วัน ตับทำงานหนัก ส่งผลให้ตับอักเสบได้

ข้อควรระวัง การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หากใช้เกินความจำเป็น อาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

วิธีรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น โดย ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ ทานครั้งละ 9 เม็ด ทุก ๆ 12 ชั่วโมงในวันแรก วันต่อมาลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก ๆ 12 ชั่วโมง

ขนาดยาสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ทานครั้งละ 12 เม็ด ทุก ๆ 12 ชั่วโมงในวันแรก วันต่อมาลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก ๆ 12 ชั่วโมง

ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว  โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ทานติดต่อกัน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของโรค และดุลยพินิจของแพทย์
ยาฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำ สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่กลืนยายาก

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ผู้ที่มีภาวะซีด เป็นโรคไต โรคตับ อาจพบปัญหาเมื่อกินยาฟาวิพิราเวียร์ การใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ห้ามซื้อผ่านออนไลน์

 

  • "ฟ้าทะลายโจร"ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว

ยาฟ้าทะลายโจร ยาที่ใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยเมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation  หรือ Hospitel  จะได้รับยาเพื่อรักษาอาการเบื้องต้น

สำหรับสรรพคุณของยาฟ้าทะลายโจร  ลดการอักเสบ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปรับภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส

ขณะที่ ผลข้างเคียงของยาฟ้าทะลายโจร อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง

วิธีรับประทานยาฟ้าทะลายโจร  วันละ 180 กรัมต่อวัน แบ่ง 3 มื้อ มื้อละ 60 มิลลิกรัม (จำนวนแคปซูลขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ) ทานติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจร ไม่ควรกินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดความดัน แอสไพริน โคลพิโดเกรล (ยาต้านเกล็ดเลือด) และยาวาร์ฟาริน ห้ามใช้กับผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร หากแพ้ให้หยุดกินยาทันที หากทานไปประมาณ 3 วันอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

หากซื้อยาฟ้าทะลายโจรทานเอง ควรพิจารณายี่ห้อที่ผ่าน อย.

อย่างไรก็ตาม ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง ใช่ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

  • "ยาโมลนูพิราเวียร์" ยาต้านโควิดโดยเฉพาะ

‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาของบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท เมอร์ค (Merck) ประเทศเยอรมันนี

โดยผลวิจัยของยาโมลนูพิราเวียร์ ข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งทดลองในอาสาสมัครกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 775 คน ที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 ซึ่งแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง ทั้งยังเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

ในการทดลองนี้ จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาภายใน 5 วัน หลังจากเริ่มแสดงอาการ เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และผู้ที่ได้รับยาหลอก ซึ่งพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 7.3% เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 29 วัน และไม่มีผู้ใดเสียชีวิตส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก มี 14.1% ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย

นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังลดอัตราการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ถึง 50% อีกด้วย

Merck ยังระบุด้วยว่า บริษัทได้ทำการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ใน 170 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน เป็นต้น

  • แนวทางการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย

ทั้งนี้ ตามข้อมูลเบื้องต้นที่บริษัททำการทดลองคือให้ในผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลางร่วมกับที่มีปัจจัยเสี่ยง 1 ใน 5 ข้างต้น ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูล ณ วันนี้ ผลการศึกษาวิจัยยังไม่ครอบคลุม เด็กนั้นการศกึษาส่วนใหญ่ยังใช้ในผู้ใหญ่เป็นหลัก จึงต้องดูข้อมูลผลการวิจัยและการขึ้นทะเบียนยาอีกครั้ง

สำหรับแนวทางการจะใช้ยานี้ในประเทศไทย  ขณะนี้ยังไม่มียาโมลนูพิราเวียร์ออกมาใช้ เว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น และถ้ามีการขึ้นทะเบียน ก็จะเป็นการใช้แบบฉุกเฉิน ส่วนแนวทางการให้ยาตัวนี้เมื่อมีเข้ามาในประเทศไทย จะต้องใหคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง โดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณา ก่อนออกเป็นข้อกำหนดว่าจะให้มีแนวทางการให้ยาอย่างไร จะให้ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หรือให้อย่างไร เพราะยานี้ออกฤทธิ์กลไกเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ คาดการว่าจะเข้ามาในประเทศไทยราวช่วงพ.ย. 2564 หรือม.ค. 2565  โดยมีการหารือกับตัวแทนบริษัทยาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีการยกร่างสัญญาจัดซื้อแล้ว  แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนและราคาได้ เนื่องจากบริษัทเกรงจะกระทบถึงโควตาการจัดซื้อของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะจัดซื้อในราคาที่ถูกกว่าประเทศรายได้สูง แต่จะแพงกว่าประเทศรายได้ต่ำ เป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต

  • "ยาแอนติบอดี ค็อกเทล"ลดเสียชีวิต70%

"ยาแอนติบอดี ค็อกเทล" (Antibody Cocktail) หรือ “ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์” ในการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด โดย “ยาแอนติบอดี ค็อกเทล” ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)ให้ใช้เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2564  โดยยาแอนติบอดี ค็อกเทลเข้าไทยมาตั้งแต่วันที่ 30ก.ค.2564 เริ่มใช้ที่สถาบันบำราศนราดูรแห่งแรก ต่อมาทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดหายาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) มาใช้เพื่อรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 

ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือแอนติบอดีแบบผสม เป็นยาที่เกิดจากการผลิตผสมรวมกันของแอนติบอดี 2 ชนิดคือ คาซิริวิแมบ (Casirivimab) และ อิมเดวิแมบ (Imdevimab) จนเกิดโปรตีนที่เรียกว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ Neutralizing Monoclonal Antibodies (NmAbs)

ยาแอนติบอดี ค็อกเทลได้นั้น จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อโควิด 19 (ไม่เกิน 10 วัน) มีอาการจากโรคนี้ ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ โดยภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายประมาณ 1 เดือน จะได้ผลในเชิงการป้องกันสำหรับผู้ที่ติดแล้วมีอาการน้อยหรือปานกลาง

จากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมสำหรับคนที่ติดที่ไม่รุนแรง ทำให้ลดอาการรุนแรง ลดเสียชีวิตได้ 70% และสูงกว่ายารักษาโควิดอีกชนิดอย่างโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่มีตัวเลขการป้องกันอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น หากได้ยา antibody cocktail จะช่วยลดเวลาการนอนพักรักษาตัวที่ รพ.ได้ประมาณ 4 วัน ในกลุ่มทำการทดลอง

ส่วนอาการข้างเคียงนั้น ในต่างประเทศพบว่าผู้ที่มีอาการแพ้แบบรุนแรง อาจมีอาการหอบเหนื่อย หรือมีอาการทางระบบหายใจ แต่ว่าจากการใช้กับผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาลพระราม 9 ยังไม่มีเคสไหนที่แพ้ มีแต่บางรายอาจจะมีอาการมึนศีรษะต้องนอนพัก อาจจะมีอาการความดันตกลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอาการแพ้อื่นๆ อาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย

แนวทางการรักษาควรใช้ในกลุ่มเสี่ยงจริงๆ  อย่าง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวมากๆ  ควรใช้แอนติบอดี ค็อกเทล เป็นแนวทางแรกของผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีผู้ติดเชื้อมาใหม่ๆ  ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแล้วในอนาคตคิดว่าน่าจะมียาอื่นและมีการใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล มากขึ้น ทั้งนี้อยู่ที่การศึกษาพัฒนาให้มากขึ้นร่วมด้วย ว่าควรจะต้องใช้ยาอะไรบ้าง เพื่อลดความรุนแรง เสียชีวิต ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ มากขึ้นว่า เราต้องให้ยาอะไรบ้างที่จะช่วยลดอัตราความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วย

  • "ยาเรมเดซิเวียร์" รักษาผู้ป่วยอาการหนัก

ผู้ป่วยจะได้รับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมากในต่างประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เป็นยาฉีด

กลุ่มผู้ป่วยที่จะได้รับยาเรมเดซิเวียร์

  • ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง​ ที่มีอาการหนัก ไม่รู้สึกตัว กินยาไม่ได้
  • ผู้ที่มีระบบดูดซึมไม่ดี
  • ผู้ที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้วร่างกายไม่ตอบสนอง
  • หญิงตั้งครรภ์

สรรพคุณของยาเรมเดซิเวียร์ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างกว้างขวางเหมือนกับยาฟาวิพิราเวียร์ -มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอนเอ RNA ไวรัสหลายชนิดรวมถึงไวรัสก่อโรคอีโบลาและโคโรนาไวรัสชนิดต่าง ๆ ในกรณีของโคโรนาไวรัสนั้น ผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่ายาเรมเดซิเวียร์มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV), ไวรัสโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2)

ยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้ยายังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย คาดว่ายานี้มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นอีกรวมถึงอาจออกฤทธิ์ในขั้นตอนยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ในร่างกายคน

ผลข้างเคียงของยาเรมเดซิเวียร์ อาจทำให้ตับทำงานหนัก จนเกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก

วิธีใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (ยาฉีด) วันแรก ปริมาณฉีด 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ผ่านหลอดเลือดดำ วันต่อมา ปริมาณฉีด 2.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ผ่านหลอดเลือดดำ ใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาเรเดมซิเวียร์ ให้เลือกใช้ฟาวิพิราเวียร์หรือเรมเดซิเวียร์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช้ร่วมกัน เนื่องจากเป็นยาที่มีกลไลออกฤทธิ์เหมือนกัน ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง เป็นยาที่ใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ยาชนิดอื่นที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
    เป็นยาลดอาการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศข้อแนะนำให้ใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต กรมการแพทย์กำหนดแนวทางในการใช้ยาคอร์ติโคสตียรอยด์ ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยอาจใช้ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์,ยาโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์
  • โลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir)
    เป็นยาต้านไวรัส HIV สูตรผสม ระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ กรมการแพทย์กำหนดแนวทางการให้ยา 2 ตัวนี้ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง

อ้างอิง: โรงพยาบาลวิชัยอินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม ,โรงพยาบาลพระราม9