"หน้าหนาว 2564" ชวนเช็ค "อุณหภูมิ" ฤดูหนาวไทยปีนี้ อากาศจะเย็นแค่ไหน?

"หน้าหนาว 2564" ชวนเช็ค "อุณหภูมิ" ฤดูหนาวไทยปีนี้ อากาศจะเย็นแค่ไหน?

ชวนส่องคาดการณ์ “อุณหภูมิ” ในช่วง “ฤดูหนาว" ประเทศไทย จากปลายเดือนตุลาคม 2564 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะหนาวเย็นแค่ไหน อากาศเป็นอย่างไร อ่านได้ที่นี่

ระหว่างที่พายุฝนยังทยอยเข้าไทยจนมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ จนส่งผลให้อุณหภูมิในบางพื้นที่เริ่มลดลง ก็เลยไม่น่าแปลกใจถ้าเราจะเริ่มอยากรู้ว่า แล้วหน้าหนาวปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นแค่ไหน อุณหภูมิต่ำสุดเป็นอย่างไร 

โดยเฉพาะถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ตามการคาดการณ์ของศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 นี้ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ "ฤดูหนาว" อย่างเป็นทางการแล้ว

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เลยจะขอชวนทุกคนไปสำรวจกันว่า คาดการณ์อุณหภูมิประจำหน้าหนาวปี 2564 นี้ ไทยเราจะหนาวเย็นแค่ไหน?

   

  •  คาดการณ์ไทยเข้าสู่ “ฤดูหนาว” ตอนไหน? 

จากรายงาน การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2564-2565 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2564 คาดการณ์ฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1 - 2 สัปดาห์และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 

(การคาดหมายนี้จะมีการปรับปรุงในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม 2564)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

  • อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย ปีนี้หนาวแค่ไหน

รายงานดังกล่าว ได้คาดการณ์อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยของประเทศไทยตอนบน 20-21 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 20.2 องศาเซลเซียส) 

 

สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุด 6 - 7 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ 15 - 16 องศาเซลเซียส

รายงานดังกล่าว ระบุ ช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นที่สุด ว่า จะเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564 ถึงปลายเดือนมกราคม 2565

สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูรวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวันส่วนมากตอนบนของภาค และยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป

   

  •  คาดการณ์ลักษณะอากาศ ในแต่ละภูมิภาค 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

- ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่

- กลางเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศเย็นเป็นระยะๆ และมีอากาศหนาวในบางวัน กับจะมีหมอกหนาในบางช่วง

- ครึ่งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน อากาศจะอุ่นขึ้น โดยจะมีอากาศเย็นในบางวัน กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

- ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค และมีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ และอาจมีลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน

- กลางเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม อากาศจะหนาวเย็นมากขึ้น โดยมีอากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป และมีอากาศหนาวจัดบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอย ยอดภูรวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ในบางช่วง

- ช่วงครึ่งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่แต่ยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า

ภาคกลางและภาคตะวันออก

- ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวันทางตอนบนของภาคกับมีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ และอาจลมกระโชกแรงบางแห่งในบางวัน

- กลางเดือนธันวาคมปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในบางช่วง โดยเฉพาะตอนบนของภาคและบริเวณเทือกเขา กับจะมีหมอกหนาหลายพื้นที่ในบางช่วง

- ครึ่งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ในบางช่วง แต่สำหรับทางตอนบนของภาคและบริเวณเทือกเขายังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย)

- ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนมกราคม จะมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง ส้าหรับคลื่นลมจะมีกำลังแรง จะมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตรในบางช่วง

- กลางเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฝนจะลดลง เว้นแต่ทางตอนล่างของภาค ยังคงมีฝนร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในบางวัน

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน)

- ปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร

- เดือนธันวาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยมีฝนร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่

   

 ข้อควรระวัง 

  • ช่วงปลายเดือนตุลาคม บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่
     
  • ในเดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะ
     
  • ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบนซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่

  

หมายเหตุ : เกณฑ์อุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาว

อากาศเย็น หมายถึง 16.0 - 22.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาว หมายถึง 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาวจัด หมายถึง ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส

   

อ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา