ตรีนุช ลงพื้นที่ "จ.เชียงราย" ตรวจเยี่ยมศูนย์ CVM เสริมทักษะอาชีพ อาชีวศึกษา

ตรีนุช ลงพื้นที่ "จ.เชียงราย" ตรวจเยี่ยมศูนย์ CVM เสริมทักษะอาชีพ อาชีวศึกษา

ตรีนุชลงพื้นที่ "จ.เชียงราย" ตรวจเยี่ยมศูนย์ CVM สาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย อาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปรับหลักสูตร ความรู้ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบันและเทคโนโลยีดิจิทัล

นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังจากเปิดศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคน อาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สาขาวิชาการท่องเที่ยว และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัยสอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NOF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) การจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย  และสอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบันและเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาครูให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนการขับเคลื่อนศูนย์ Excellent Center

 

เพื่อให้สถานศึกษาจัดการอาชีวศึกษาสอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประเทศ  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา มีอาชีพ  และรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินการพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษากลุ่มความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ให้เป็นศูนย์ CVM นั้น

 

ตรีนุช ลงพื้นที่ \"จ.เชียงราย\" ตรวจเยี่ยมศูนย์ CVM เสริมทักษะอาชีพ อาชีวศึกษา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานที่สามารถยกระดับการเรียนการสอนทั้งระบบ โดยความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การปรับหลักสูตรภาคทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนการพัฒนาครูวิชาชีพในสาขาวิชาต่าง ๆ ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ  

 

โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนและดำเนินการผลิต และพัฒนากำลังคนจากคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนอาชีวศึกษา  (อ.กรอ.อศ.) ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ และบริษัทชั้นนำของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธุรกิจและบริการ ที่สามารถตอบโจทย์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพ ให้มีความสอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ สร้างกำลังคนคุณภาพของประเทศให้มีเพียงพอ และตรงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และรองรับการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 4.0 

 

ด้านดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สาขาวิชาการท่องเที่ยว (CVM) ขึ้น  เพื่อดำเนินงานเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู พัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา พัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ และการประกันคุณภาพการอาชีวศึกษา นำไปสู่การส่งเสริมนักเรียน นักศึกษาให้สามารถนำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพและเป็น ผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

โดยรูปแบบการทำงานดังกล่าว มีความสอดคล้องกับพันธกิจหลักของศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาการท่องเที่ยว คือ

 

1.จัดการเรียนรู้และฝึกอบรมวิชาชีพสาขาการท่องเที่ยว ให้ผู้เรียนและประชาชนทั่วไป มีสมรรถนะมุ่งตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน  

 

2. จัดตั้งศูนย์ทดสอบเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกำลังคนสาขาการท่องเที่ยวสู่สากล

 

3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนในการพัฒนาการจัดการวิชาชีพการท่องเที่ยว

 

4. สร้างวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาอาชีพสาขาวิชาการท่องเที่ยว  

 

5. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว ให้มีศักยภาพและก้าวหน้าในวิชาชีพ

 

  • ศูนย์ CVM 25 แห่ง 

 

ทั้งนี้ ศูนย์ CVM 25 แห่ง มี ดังนี้


 1. สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

2. สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล (สาขางานเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์) วิทยาลัยการอาชีพไชยา

3. สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม

4. สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก

5. สาขาวิชาการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย

6.สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต

7. สาขาวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น

8. สาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

9. สาขาวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา

10. สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา

11. สาขาวิชาเมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ

12. สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี

13. สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกลเรือ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช

14. สาขาวิชาช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคถลาง

15.สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี                

16. สาขาวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด

17. สาขาอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ

18. สาขาเทคนิคพลังงานทดแทน วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ

19. สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

20. สาขาวิชาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว

21. สาขาเครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง

22. สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก วิทยาลัยพณิชยการบางนา

23. สาขาวิชาเทคนิคเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม

24. สาขาเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่

25. สาขาวิชาเทคโนโลยีความงาม วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ

 

  • โครงการที่ดำเนินการแล้ว ปี 2564

 


ด้าน ดร.อรพิน ดวงแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ CVM สาขาวิชาการท่องเที่ยวมีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564   ได้แก่  

 

- โครงการ ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนาคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาการท่องเที่ยว ให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง  

- โครงการฝึกอบรมการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ (Netrepreneurs)

- โครงการพัฒนากระบวนการความรู้ด้านการท่องเที่ยวสู่อาชีพยุวมัคคุเทศก์ เพื่อการส่งเสริมการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้

- โครงการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E to E) สำหรับนักศึกษาสาขาวิชาการท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ชุมชนห้วยมะเกลี้ยง การประกวดนวัตกรรมการท่องเที่ยวนานาชาติสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยจีน-อาเซียน ได้รับรางวัลที่ 3 จัดโดยมหาวิทยาลัยการท่องเที่ยวกุ้ยหลิน (Guilin Tourism University) และคณะกรรมการบริหารเมืองชายฝั่งกัมพูชา (Cambodia-China Investment and Development Pilot Zone)

 

สำหรับศูนย์ Excellent Center สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  ได้แก่  

 

- โครงการ “ลีลาอาชีวะ” ดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทไชโยแลนด์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติให้ผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการ

- โครงการแข่งขันประกวดการทำอาหารพื้นบ้านและอาหารฟิวชั่น ณ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  ระดับ ปวส. ได้รับรางวัลชมเชย ระดับปริญญาตรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานของทั้ง 2 ศูนย์ดังกล่าว สามารถยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะ สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 ต่อไป