แก้วิกฤตโควิด-19 ยกระดับโมเดลสุขภาวะ "แรงงานข้ามชาติ" ด้วยพลัง "จิตอาสา"

แก้วิกฤตโควิด-19 ยกระดับโมเดลสุขภาวะ "แรงงานข้ามชาติ" ด้วยพลัง "จิตอาสา"

"แรงงานข้ามชาติ" ในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาวะเทียบเท่ากับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสำรวจสถานการณ์ทางสุขภาพของ แรงงานข้ามชาติ ที่วัดจากเครื่องมือวัดระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ 3อ2ส. พบว่า แรงงานข้ามชาติมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่ดี ร้อยละ 92.71 และเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล

ในเรื่องนี้ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เผยข้อมูลในช่วงของการลงพื้นที่มอบชุด Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด 850 ชุด ให้แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) เพื่อนำไปส่งต่อกลุ่ม แรงงานข้ามชาติ ที่ขาดโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันจำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนเทียนทะเล 26 ว่า จากการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพแรงงานต่างด้าว เป็นการทำมาต่อเนื่องกับแรงงานในพื้นที่ 13 จังหวัดทั่วประเทศ สสส. พยายามที่ส่งเสริมและสื่อสารให้แรงงานเข้าใจในเรื่องสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแกนนำ ส่งเสริมให้โอกาส การส่งเสริมความรู้สุขภาพ เป็นต้น

แรงงานข้ามชาติต้องรู้ข้อมูลสุขภาพเท่าคนไทย

จริงๆ สสส. เคารพในวิถีทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่าง เราเข้าใจดีว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติเองก็มีวิถีของตัวเอง แต่หลายเรื่องด้านสุขภาพยังจำเป็นต้องปรับปรุง หรือปรับสู่โหมดการดูแลสุขภาพที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น สสส.จึงพยายามส่งเสริม เช่น การเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง วิธีการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง รวมถึงการป้องกันโรค ซึ่ง สสส.มีการดำเนินงานต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว เพราะมองว่า หากจะมาเริ่มทำตอนระบาดหรือวิกฤติคงไม่ทันการณ์

แรงงานข้ามชาติ

สำหรับบางขุนเทียนเป็นอีกพื้นที่นำร่องที่ สสส. ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะใกล้กรุงเทพฯ สะดวกในการประสานงานกว่า ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สสส.จึงมีการประสานเร่งด่วน กับภาคีในพื้นที่และเครือข่ายในการจัดตั้งศูนย์พักคอย นำยาเวชภัณฑ์ รวมถึงการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองสำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ

ภรณี เอ่ยต่อถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่บางขุนเทียนว่า มี แรงงานข้ามชาติ ประมาณห้าพันคน โดยจากการตรวจเชื้อพบประมาณสี่ร้อยคน แต่คาดว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่านั้น ซึ่งปัญหาคือแรงงานข้ามชาติยังมีความกลัวในการเข้ารับบริการภาครัฐอยู่ และศูนย์ดูแลอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการกักตัวที่บ้านเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจเหมาะกับวิถีชีวิตของเขา

ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างมากคือ ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและรักษา สสส. จึงพัฒนาคู่มือดูแลตัวเองในสถานการณ์โควิด-19 เป็นภาษาต่างชาติ ซึ่งรวมภาษาพม่า และภาษาชาติพันธุ์อื่นๆ กว่าสิบภาษา เนื่องจากเรามองว่าสื่อสุขภาพมีความสำคัญ ถ้าเราทำสื่อให้คนไทยว่าต้องรู้อะไร แรงงานข้ามชาติก็ต้องรู้ข้อมูลเหมือนกัน” ภรณี กล่าว

สสส.

ลุย 3 มาตรการเชิงรุก พัฒนา Home Isolation

เสียงสะท้อนจากคนทำงานในพื้นที่ สำเริง สิงห์ผงาด เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนเทียนทะเล ซอย 26 เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมมี แรงงานข้ามชาติ ทำงานอยู่ในสถานประกอบการถึง ร้อยละ 90 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของ แรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ สสส. และสถานประกอบการ เร่งเฝ้าระวังอัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มในพื้นที่ โดยผลักดันมาตรการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ผ่านการทำงานของ อสต.

โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองคนเข้า-ออกพื้นที่
  2. ลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen test kit (ATK)
  3. มาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อด้วยระบบ Home-Community Isolation พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากสมาชิกในครอบครัว หยุดการแพร่ระบาดในชุมชนวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

ด้าน ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท อีกหนึ่งภาคีที่ได้รับการสนับสนุน จาก สสส. เอ่ยว่า สถานการณ์ตอนนี้มีความผ่อนคลายลงมากกว่าเมื่อสองเดือนก่อน เช่นเดียวกับสถานการณ์ระดับประเทศ แต่หากเป็นช่วงสองเดือนก่อนหน้า ชุมชนตรงนี้แทบเหมือนพื้นที่ร้าง

เรียกว่าแทบจะติดกันทุกครอบครัว ทุกคนก็กักตัวอยู่บ้านใครบ้านมัน แต่วันนี้เริ่มมีคนมาจับจ่ายใช้สอย สถานประกอบการต่างๆ ก็เริ่มเปิด แต่ก่อนที่จะเปิดเรามีการเตรียมตัวเองกัน อาทิ การลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติและไปทำงาน โดยหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่ก็มีการคัดกรองเป็นระยะ

ลัดดาวัลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่แรงงานเป็นคนแข็งแรง เมื่อป่วยก็ไม่อาการหนักมากหรืออยู่ในระดับสีเขียวที่ดูแลตัวเองได้

แต่บริบทของเขาคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยง ทั้งในด้านการรับเชื้อและแพร่เชื้อ เพราะเขาไม่รู้ภาษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และที่พักอาศัยมีลักษณะค่อนข้างแออัด และยังมีพี่น้องบางส่วนที่ยังมีความยากลำบากมาก ไม่เข้าถึงอะไรเลย ทำให้มีความยากลำบากในการที่จะกลับเข้าไปทำงานเพราะนายจ้างก็มองความเสี่ยงว่าจะนำไปติดเพื่อนในที่ทำงาน

แรงงานข้ามชาติ

“สิ่งสำคัญคือการป้องกัน”

ปัจจุบันสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะมีการคัดกรองทุกสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน ส่วนขนาดเล็กๆ หรือร้านค้าต่างๆ ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจคัดกรองพอสมควร

แต่เนื่องจากโซนนี้จะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กค่อนข้างเยอะและมีสภาพแออัด ดังนั้น ในที่ทำงานเองยังลำบากที่จะเว้นระยะห่าง ซึ่งเราพยายามเข้าไปดำเนินการประสานกับนายจ้างคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดการระบาดในที่ทำงาน และลุกลามเข้ามาในชุมชน นั่นคือ การสร้างกลไก สร้างแกนนำที่ช่วยเป็นผู้ที่เฝ้าระวังและป้องกัน โดยเฉพาะการพยายามสื่อสารแนวทางป้องกันตนเองให้กับพนักงานและสถานประกอบการ จากการแพร่ระบาดที่ผ่านมาก็มีโกลาหลบ้างช่วงแรก แต่อีกมุมหนึ่งทุกฝ่ายก็เรียนรู้ ก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ว่าสิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ เขาต้องสกัดกั้นให้ทันให้ไว” ลัดดาวัลย์เอ่ย

ส่วนในเรื่องวัคซีน ยังมีทั้งผู้ได้รับแล้วและยังไม่ได้รับ เพราะขึ้นอยู่กับการรับสิทธิทางสุขภาพส่วนบุคคล และสถานประกอบการ หากเป็นสถานประกอบการที่มีระบบ ก็จะมีสิทธิประกันสุขภาพให้พนักงาน แต่แรงงานอีกส่วนที่นายจ้างเองยังไม่สามารถประสานให้ตัวเอง และพนักงานเข้าถึงวัคซีนก็มีไม่น้อย บางรายอาจยินดีที่จะเป็นผู้ออกค่าวัคซีนให้พนักงาน บางคนมีน้อยก็คนละครึ่ง แต่ก็มีบางรายอาจไม่มีศักยภาพหรือกำลังพอ บ้างก็ผลักภาระให้แรงงานไปหาฉีดวัคซีนเอง ก่อนจะมาทำงาน ตัวแรงงานบางส่วนมีปัญหาเรื่องการทำเอกสารที่ยากเข้าถึงตั้งแต่การลงทะเบียน เพราะไม่เข้าใจภาษา

เดิมแรงงานอาจมีทัศนคติไม่อยากรับวัคซีน จากความเชื่อบางอย่าง แต่หลังจากมีการสื่อสารมากขึ้น เขาก็เปิดรับและเข้าใจมากขึ้นว่าวัคซีนมีความสำคัญ และทำให้ความต้องการวัคซีน แต่ปัญหาตรงนี้อยู่ที่การเข้าถึงแล้ว” ลัดดาวัลย์สะท้อนภาพจริงจากพื้นที่

แรงงานข้ามชาติ

ไม่รุ้=ไม่เข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติสุขภาพ ด้วย อสต.

ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเชื้อชาติเดียวกันทำให้พี่น้อง แรงงานข้ามชาติ เปิดใจที่จะสื่อสาร ซึ่งในพื้นที่บางขุนเทียนนี้ยังมีแกนนำอย่าง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครแรงงานต่างด้าว หรือ อสต. ขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าว

นนท์ ประฮิต๊ะ เล่าถึงแรงบันดาลใจกับการก้าวเข้ามาเป็น อสต. ของเขาว่า หลังได้เห็นว่าพี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหา ทั้งตกงาน ทั้งป่วยแล้วจะหาที่รักษาตัวเองยาก บางคนก็สื่อสารไม่ได้ พูดไทยไม่ได้ อ่านไม่ได้ มันหลายปัญหา แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจทำงานอาสาสมัครเต็มตัว

เดิมทีผมเป็นอาสาสมัครชุมชน ทีนี้พอทางเจ้าหน้าที่ศุภนิมิตมาชวน เพราะผมอ่านภาษาไทยได้ก็เลยสมัครใจมา เขาอบรมให้เรา ซึ่งหน้าที่เราคือการเข้าไปคุยกับเขาว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนตกงาน มีปัญหาสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ลำบาก เราก็ประสานเจ้าหน้าที่ต่างๆ ไป และให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่เขาบ้าง หนึ่งเลยวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรไม่ให้ติด บางกลุ่มก็พอทราบ แต่บางคนเองก็ไม่มีความรู้เลย ถามว่าเขาให้ความร่วมมือเราดีไหม คนที่รู้จักจะให้ความร่วมมือเราดี แต่บางคนก็กลัว ไม่กล้าพูดคุยก็มี เราเองก็ใช้เวลาหลายครั้งกว่าเขาจะยอมรับ

เกตี เป็นเสียงของตัวแทนฝั่ง แรงงานข้ามชาติ ที่มาเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองติดโควิด-19 ว่า ในตอนแรกก็ไม่รู้โควิด-19 คืออะไร แต่ได้ยินชื่อก็กลัวเหมือนกัน เพราะไม่รู้จัก

แต่พอเริ่มรู้ มันก็ลามไปทั่วแล้ว ตอนเป็นก็รู้สึกปวดหัว เจ้าหน้าที่เขามาตรวจให้เลยรู้ว่าเป็น ก็พยายามอยู่ห้องกักตัว แต่หนูไม่เครียดนะใช้ใจสู้ กินยาลดไข้  ต้มยาสมุนไพร พอ 14 วันก็ดีขึ้น แต่ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าต้องป้องกัน เราใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือทุกครั้ง มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค เดี๋ยวนี้เวลากินข้าวก็แยกกันกินแล้ว ป้องกันไว้ก่อน เพราะเวลาติดไม่ใช่เราคนเดียวที่เดือดร้อน

สสส.

ด้าน ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สสส. กล่าวว่า ศูนย์กิจการสร้างสุขเป็นหน่วยงานพิเศษที่ สสส. ตั้งมาเพื่อรับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์เชิงรุกของสำนักต่างๆ ในการดูแลสุขภาวะคนไทย

เชื่อว่าโควิด-19 ยังคงจะอยู่กับเราคนไทยไปอีกพักหนึ่ง ดังนั้นเพื่อสนับสนุนสำนักต่างๆ ไม่ได้มองแค่การจัดชุด Home Isolation เรายังมีการจัดชุดตรวจเชิงรุก ซึ่งนอกจากนี้เรายังเล็งที่จะกระจายสู่กลุ่มเปราะบาง 3,700 ชุดทั่วประเทศอีกด้วย” ภาสวรรณ เอ่ยทิ้งท้าย

แรงงานข้ามชาติ สสส.