แนะตรวจสอบรายชื่อแพทย์ก่อนรับบริการ กันหมอเถื่อนสวมรอยทำหน้าพัง

แนะตรวจสอบรายชื่อแพทย์ก่อนรับบริการ กันหมอเถื่อนสวมรอยทำหน้าพัง

กรม สบส. แนะหนุ่ม-สาวที่รักความสวย ความงาม เจียดเวลาสักนิดตรวจสอบเอกสารหลักฐานของแพทย์ก่อนรับบริการ ป้องกันหมอเถื่อนสวมรอยแทนแพทย์จริง จากหน้าสวยอาจจะพังหรือถึงขั้นดับแทนได้ 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจในด้านสุขภาพ และความงามยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงการผ่อนคลายมาตรการให้คลินิกสามารถให้บริการเสริมความงามได้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาอันดีที่หนุ่ม-สาว หลายรายจะได้มีโอกาสเสริมความงามเฉพาะจุด หรือยกกระชับสัดส่วนร่างกาย

แต่ด้วยเม็ดเงินในธุรกิจฯ ที่มีมูลค่ามากก็ย่อมมีผู้ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ อาทิ การที่มีบุคคลอื่นที่มิใช่แพทย์ (หมอเถื่อน) เข้าสวมรอยให้บริการแทนแพทย์จริงในคลินิก ซึ่งการให้บริการของหมอเถื่อนที่ขาดความรู้ความสามารถ ย่อมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการ อย่างการเสริมความงามก็มักจะพบความผิดพลาด ทั้งแผลติดเชื้อ จมูก/ปาก/หน้าอกผิดรูป เกิดความพิการจากการฉีดสารเสริมความงาม หรือในบางรายก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ฯลฯ

 

  • แนะตรวจสอบรายชื่อหมอก่อนทำหน้า

นพ.ธเรศ  กล่าวต่อว่าในการหลีกเลี่ยงอันตรายจากหมอเถื่อนเหล่านี้ ผู้รับบริการจะต้องหมั่นสังเกตเอกสารหลักฐานประจำคลินิก ซึ่งนอกจากเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก และใบอนุญาตให้ประกอบกิจการแล้ว ก่อนเข้าห้องตรวจรักษาจะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน “แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (ส.พ.6)” ที่ติดอยู่หน้าห้อง ซึ่งจะแสดงภาพถ่าย ชื่อ-นามสกุล สาขา และเลขที่ใบอนุญาตของผู้ให้บริการ และเพื่อความมั่นใจก่อนรับบริการขอให้นำชื่อของแพทย์รายดังกล่าวไปตรวจสอบในเว็บไซต์แพทยสภา (https://tmc.or.th/) 

หากเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะให้ตรวจสอบที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (http://mrd-hss.moph.go.th/) หากไม่ปรากฏรายชื่อในเว็บไซต์ หรือใบหน้าของผู้ให้บริการไม่ตรงกับภาพถ่ายห้ามรับบริการโดยเด็ดขาด และให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน 1426 กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที

 

  • พบเห็นหมอเถื่อน แจ้งกรมสบส.ด่วน

ทั้งนี้ กรม สบส.มีมาตรการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ดำเนินการเฝ้าระวัง และกวดขันตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งมาตรการในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายและคัดกรองโรคโควิด 19 และคุณภาพ มาตรฐานบริการอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นการกระทำของสถานพยาบาลใดที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็อย่าได้กลัวที่จะแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฯ ขอให้ระลึกว่าหนึ่งเสียงของท่านนั้นย่อมช่วยให้พี่น้องประชาชนอีกหลายรายพ้นจากอันตรายได้ 

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า  สำหรับบทลงโทษตามกฎหมาย ในกรณี ที่พบหมอเถื่อนมาลักลอบให้บริการใน คลินิกนั้น มิได้มีแค่บทลงโทษตามกฎหมายพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 กับหมอเถื่อนรายเพียงอย่างเดียว ตัวของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเองก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ด้วย ในฐานปล่อยปละ ละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งนอกจากจะถูกลงโทษตามกฎหมายแล้ว สถานพยาบาลยังอาจจะสูญเสียชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนอีกด้วย

จึงขอกำชับให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ดำเนินการคัดกรอง ตรวจสอบประวัติ และเอกสารหลักฐานในการรับสมัครผู้ให้บริการประจำสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด โดยอาจจะต้องมีการตรวจสอบจากเอกสารฉบับจริง และหมายเลขโทรศัพท์เพื่อยืนยันว่าผู้สมัครมิได้มีการสวมรอยเป็นบุคคลอื่นมาสมัครงาน