หญิงไทยต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยง"มะเร็งเต้านม" แพทย์แนะรู้เร็วรักษาได้

หญิงไทยต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยง"มะเร็งเต้านม" แพทย์แนะรู้เร็วรักษาได้

“โรคมะเร็งเต้านม” ถือเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด

ตลอดเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้าน โรคมะเร็งเต้านม World Breast Cancer Awareness Month ที่ทั้งโลกรวมถึงประเทศไทย

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดสำหรับผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงทุกคนต้องใส่ใจในเรื่องนี้ โดย องค์การอนามัยโลก ได้รายงานไว้ว่า ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ ทั้งหมดประมาณ 2 ล้านกว่าคน และจะเสียชีวิตปีละกว่า  6 แสนคน และมะเร็งที่เป็นมากที่สุดในกลุ่มสตรีทั่วโลก 1ใน4 จะเป็นมะเร็งเต้านม  และ 1ใน 6 จะเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม

“ส่วนในประเทศไทย มะเร็งเต้านมจะพบมากที่สุดในสตรีไทย โดยจะพบ 31.4 ต่อ 1 แสนประชากร  รองลงมาจะเป็นมะเร็งตับ 12.9 ต่อ 1 แสนประชากร และอันดับ 3 เป็นมะเร็งปากมดลูก 11.7 ต่อ 1 แสนประชากร  ทั้งนี้ ผู้หญิงไทยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งในชั่วชีวิตนี้ คือ 1 ใน 33 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น" ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าว

ซึ่งถ้าไม่มีการรณรงค์ องค์การอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่า อีก 20 ปี ข้างหน้า  จะมีผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมทั้งโลก 3.19 ล้านราย จากปัจจุบัน 2.26 ล้านราย และอีก 20 ปี ข้างหน้ามีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 1.04 ล้านคน จาก 6 แสนกว่าคน

ในประเทศไทย ตอนนี้มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 22,000 ราย หากไม่ทำอะไร อีก 20 ปี จะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 27,600 ราย และมีผู้เสียชีวิตปัจจุบัน 8,270 คน อีก 20 ปี จะมีผู้เสียชีวิต 12,300 คน

 

  • ปัจจัยเสี่ยงส่งผลหญิงไทยเป็น "มะเร็งเต้านม

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม นั้น มีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ กับส่วนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ คือ เป็นเพศหญิง อายุมาก ประวัติคนในครอบครัว ประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี ประจำเดือนหมอหลังอายุ 55 ปี  มีบุตรหลังอายุ 30 ปี หรือไม่มี รังสี ความหนาแน่นเนื้อนม โรคเต้านมที่เคยเป็น และการกลายพันธุ์ของยีนส์

หญิงไทยต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยง"มะเร็งเต้านม" แพทย์แนะรู้เร็วรักษาได้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ คือ เนือยนิ่ง ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า  และทานยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

การป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านมนั้น สามารถทำได้ เช่น การให้นมลูก  การออกกำลังกาย และการทานอาหารสุขภาพ แต่ถึงลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆแล้ว โอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกก็ยังมีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ดีและป้องกันได้ดีที่สุด คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจโดยแพทย์ และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์แมมโมแกรม ซึ่งต้องเป็นประจำทุกปี อย่าลืมตรวจค้นหามะเร็งเป็นประจำ และในเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านมนี้ จะดำเนินการในทุกมิติ ทั้งการดูแลแบบองค์รวมกายใจ จิต และสังคม และดูแลตามมาตรฐาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานการรักษา” ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้หญิงทุกคนใช้คาถาป้องกันมะเร็งเต้านม ดังนี้ เรียนรู้ ปัจจัยเสี่ยง อย่าเลี่ยงตรวจคัดกรอง ไตร่ตรอง ตรวจเต้านมเองเป็นประจำ และมั่นทำชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี

 

  • วิธีป้องกันมะเร็งเต้านม ตรวจให้พบเร็วที่สุด

นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม ไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างชัดเจน แต่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง ตรวจด้วยแพทย์ และด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ดังนั้น มะเร็งเต้านมเป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 จึงมักจะมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนที่เต้านม โดยมะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น

วิธีที่จะช่วยให้พบเซลล์มะเร็งได้เร็ว คือการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ (digital mammogram and ultrasound) ซึ่งสามารถหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ขนาดเล็กในระดับมิลลิเมตร โดยปกติจะใช้เวลาตรวจ 5-10 นาที โดยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาที ภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดและความคมชัดสูงช่วยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนเมื่อพบบริเวณที่มีก้อนเนื้อต้องสงสัยแล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อก็จะวินิจฉัยได้ว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ มีประสิทธิภาพสูงตรวจหาความผิดปกติของเต้านม

การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันที่เป็นวิธีมาตรฐาน ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วนคือการผ่าตัดเต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ การผ่าตัดเต้านมมีสองแบบคือ

1) การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า (Total mastectomy) ซึ่งอาจผ่าตัดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านม (Breast reconstruction) โดยใช้เนื้อเยื่อของตนเองหรือ ถุงซิลิโคน

หญิงไทยต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยง"มะเร็งเต้านม" แพทย์แนะรู้เร็วรักษาได้

2) การผ่าตัดเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็งหรือการผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast conserving surgery) ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฉายรังสีรักษา แต่ถ้าเลือกผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี สำหรับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ จะทำการฉีดสีเพื่อตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (Sentinel lymph node) แต่ถ้าพบว่ามีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้วจำเป็นต้องได้รับการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด (Axillary dissection)

โดยทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาที่เหมือนกันคือ ผู้ป่วยมีโอกาสจะหายจากมะเร็งได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องให้เคมีบำบัด แต่หากพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ใหญ่ขึ้นคือ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ตอนปลายเป็นต้นไป (มะเร็งระยะแพร่กระจาย) ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ทั้งยังต้องรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดและฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ โดยปัจจุบัน รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ได้มีการรักษาด้วยเครื่องมือ PlasmaBlade ซึ่งเป็นเครื่องจี้ที่ใช้พลังงานคลื่นความถี่วิทยุ จะช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติข้างเคียง และยังช่วยให้แผลหลังผ่าตัดหายเร็วขึ้น ลดอาการแทรกซ้อนระหว่างและหลังการผ่าตัดได้ ที่สำคัญคือยังรักษาทั้งหัวนมและเต้านมไว้ได้ หลังการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น เคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายแสง (Radiation) เป็นต้น

  • สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจพบเจอตลอดชีวิต

ผศ.พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม ศีรษะ และลำคอ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจจะต้องพบเจอตลอดชีวิตคือ ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) เป็นอาการแขนบวมที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดหรือรังสีรักษา อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลังการรักษาไปแล้วหลายปี โดยเกิดขึ้นกับแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม เกิดได้ตั้งแต่นิ้วมือไปจนถึงต้นแขน หากมีอาการบวมน้อยจะยังใช้แขนได้ปกติแต่ถ้ามีอาการบวมมากอาจจะใช้แขนไม่ได้ตามปกติ. ทั้งนี้เป็นผลจาก

1) ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อรักษามะเร็งเต้านม การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกในปริมาณมาก แขนจะมีโอกาสบวมเพิ่มขึ้น ซึ่งการผ่าตัดจะมาหรือน้อยขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งที่ตรวจพบ และหากเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดเกิดพังผืดอาจส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองเกิดพังผืด จนทำให้ทางเดินน้ำเหลืองอุดตันส่งผลให้เกิดภาวะแขนบวมได้

หญิงไทยต้องรู้! ปัจจัยเสี่ยง"มะเร็งเต้านม" แพทย์แนะรู้เร็วรักษาได้

2) การฉายรังสีรักษาบริเวณรักแร้และ/หรือเต้านม อาจทำให้เกิดพังผืดที่บริเวณรักแร้และทำให้เกิดผังพืดที่ท่อน้ำเหลือง ส่งผลให้เกิดการอุดตันจนแขนบวมได้ ถ้าผู้ป่วยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และฉายรังสีด้วย โอกาสแขนบวมก็จะยิ่งมากขึ้น

3) แขนติดเชื้อ หลังการรักษาด้วยการผ่าตัดและรังสีรักษาอาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อติดเชื้อและรักษาหายพังผืดในเนื้อเยื่อแขนจะเพิ่มขึ้น ทางเดินน้ำเหลืองจะอุดตันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แขนบวมมากขึ้นและติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นอาการเรื้อรัง เป็นแล้วหายหลายรอบตามมา

4) โรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายอุดตันทางเดินน้ำเหลืองของแขน ส่งผลให้แขนบวม อาการของภาวะแขนบวมที่สังเกตได้ง่าย คือจะมีอาการแขนบวม ปวด ชา อ่อนแรง แขนติด เคลื่อนไหวไม่เป็นปกติ ผิวหนังหนาไม่เรียบ ใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับแล้วรู้สึกคับไม่สบายตัว

  • ย้ำหมั่นตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน

การตรวจวินิจฉัยภาวะแขนบวมแพทย์จะประเมินหลังจากการผ่าตัดผ่านไปแล้วประมาณ 6 เดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนไข้เกิดอาการมากที่สุด ซึ่งจะประเมินได้จากภาพถ่ายเปรียบเทียบแขนทั้ง2ข้าง การวัดเส้นรอบวงแขนเหนือศอก การวัดปริมาตรแขน รวมถึงการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Lymphoscintigraphy, MRI, CT Scan เป็นต้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยใส่ใจในสุขภาพหมั่นตรวจเช็กเต้านมของตัวเอง เพราะมะเร็งเต้านมเมื่อตรวจพบในระยะแรก ๆ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง แต่เราสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ควรตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองทุกเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปีควรให้แพทย์ตรวจทุก 3-5 ปี และสำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี และหากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถลดการสูญเสียเต้านมไปได้อีกด้วย