ใกล้ได้ใช้! "โมลนูพิราเวียร์" ยาเฉพาะรักษาโควิด-19 คาดไทยได้ใช้ พ.ย.-ธ.ค.นี้

ใกล้ได้ใช้! "โมลนูพิราเวียร์" ยาเฉพาะรักษาโควิด-19 คาดไทยได้ใช้ พ.ย.-ธ.ค.นี้

สธ.ติดตาม "ยาโมลนูพิราเวียร์" ใกล้ชิด เผยเจรจาเบื้องต้นบริษัทผู้ผลิตพร้อมกันยาให้ไทย ใช้ในผู้ป่วยอาาการน้อย-ปานกลาง 2 แสนคน เร่งยกร่างสัญญาซื้อขาย คาดยาถึงไทยช่วงพ.ย.- ธ.ค.นี้

ความคืบหน้ากรณี ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ยาซึ่งถูกคาดหวังว่า จะเป็นยาตัวแรกที่จะใช้เฉพาะโรคโควิด-19 นั้น 

ล่าสุด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงยาโมลนูพิราเวียร์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการติดตามเรื่องการพัฒนายารักษาโรคโควิด -19 ในหลายตัว รวมถึงยา Molnupiravir ด้วย มีการเจรจากันอยู่ตลอด ซึ่งล่าสุดผลการศึกษาระยะที่ 3 ของยานี้ได้ผลดี อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หากขึ้นทางอย. สหรัฐฯ แล้วนั้น

"จากการเจรจรากันเบื้องต้น ก่อนหน้านี้ทางผู้ผลิตจะมีการกันยานี้สำหรับการรักษาผู้ป่วยจำนวน 2 แสนคน ให้กับประเทศไทย ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการร่างสัญญาซื้อขาย คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากบริษัทจะขึ้นทะเบียนกับอย.สหรัฐฯ ได้แล้ว ยังต้องมีการมาขึ้นทะเบียนนำเข้ายาดังกล่าวกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยด้วย อาจจะเป็นปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า จึงคาดการณ์ว่า ยา Molnupiravir น่าจะมาปลายเดือนพ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค. 2564 ส่วนเรื่องราคานั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกันเอาไว้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการขายในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากัน

“สัญญานี้จะมีผลต่อเมื่ออย.สหรัฐฯ ขึ้นทะเบียน หากไม่ขึ้นทะเบียนให้ใช้ฉุกเฉินก็ถือว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ ซึ่งได้พูดคุยและติดตามกันมาตลอด สัญญาน่าจะเสร็จสัปดาห์นี้ เมื่ออย.สหรัฐขึ้นทะเบียนแล้ว ไทยก็สามารถทำสัญญาได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อนำยา Molnupiravir เข้ามาแล้วจะมีการใช้อย่างไร ช่วยเสริม หรือทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญจะมีการหารือข้อสรุปกัน เพราะผลการศึกษาของยานี้เพิ่งออกมา ก็ต้องเอาข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู และทบทวนข้อมูลทั้งหมด โดยยาดังกล่าวจะใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย อาการปานกลาง 1 คน ใช้ 40 เม็ด นาน 5 วันผู้ป่วย 1 คน ใช้ยา 40 เม็ด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สธ.ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่แปลว่ารักษาได้ 100% แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายกับยาที่เรามี คือ ได้ผลกับอาการน้อยๆ ส่วนอาการมาก ก็ยังบวกลบอยู่ จะต้องมีการดูข้อมูลฉบับเต็มอีกครั้ง ซึ่งยาทุกชนิดหากจะนำมาใช้จะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ อย. ก่อน หากมีการอนุมัติใช้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีทางการแพทย์และสาธารณสุขก็สบายใจขึ้น