"กินเจ" อย่างไรไม่ให้อ้วน ได้ประโยชน์ และปลอดภัย

"กินเจ" อย่างไรไม่ให้อ้วน ได้ประโยชน์ และปลอดภัย

ใกล้เข้ามาแล้วกับ "เทศกาลกินเจ" ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 - 14 ต.ค. 64 หลายคนกำลังเตรียมพร้อมที่จะ "กินเจ" แต่เราจะเลือกอาหารอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์ และไม่อ้วน

ช่วงเวลาที่จัด ประเพณีการ "กินเจ" กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน ทั้งนี้ ในขณะที่เรางดเว้นเนื้อสัตว์ เราจะมีการเลือกทานอาหารเจอย่างไรให้ได้ประโยชน์ และไม่ทำให้อ้วน รวมถึง ในยุค "โควิด-19" เราจะร่วมเทศกาลกินเจแบบ "ชีวิตวิถีใหม่" อย่างไรให้ปลอดภัย

 

1. ตำนาน เทศกาลกินเจ

 

ข้อมูลจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง กระทรวงวัฒนธรรม อธิบายว่า “เทศกาลเจ” เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ตามตำนาน เล่าว่า เกิดมาในสมัยที่ชาวจีน ถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครอง ประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจู คือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งหลายคนคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี ในสมัยนั้นมีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้นุ่งขาว ห่มขาวและไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกลุ่มของตนจนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้

 

คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้ เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น

อ่านข่าว : กินเจแล้วได้อะไร? ไขคำตอบ "กินเจ 2564" ในยุคโควิดกับซินแสนัตโตะ

ความเชื่อถืออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้า ในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีก นัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล 3 ประการ คือ

 

1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน

2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน

3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน

 

สำหรับ เมืองไทย ความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของกการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ "เจ้าแม่กวนอิม" การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

 

2. จุดประสงค์ "เทศกาลกินเจ"

 

ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

 

1. กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ

 

2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา

3. กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นองเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่น ก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโต ได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น

 

3.ผักต้องห้าม 5 ชนิด

 

เมื่อถึงวันที่ชาวจีนเชื่อว่าพระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนและดูแลโลกมนุษย์นั้น ประชาชนจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีขาว รับประทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท และผักต้องห้ามอีก 5 ชนิด คือ

  • กระเทียม
  • หอม
  • กุ้ยช่าย
  • ต้นกระเทียม
  • ใบยาสูบ

ต้องปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด มีพิธีบูชาองค์ประธานงาน “เทศกาลกินเจ” และบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อ มีการประทับทรงของเทพเจ้าเพื่อแสดงอภินิหารได้แก่ ลุยไฟ ปีนบันไดมีด พ่นไฟ ใช้มีดแทงส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น แก้ม แขน ขา ลำตัว ลิ้น ฯลฯ

 

4. กินเจอย่างไรให้ไม่อ้วน

 

“ดร.วนะพร ทองโฉม” นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า จริง ๆ แล้วการกินอาหารเจนั้นดีต่อสุขภาพ หากเลือกกินอย่างถูกต้อง โดยเน้นอาหารจากธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ เต้าหู้ หรืออาหารที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด แต่อาหารเจในปัจจุบันมักจะปรับให้มีรสชาติที่อร่อยขึ้นเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภททอด ผัด ที่ใช้น้ำมันเยอะ และปรุงรสชาติให้มีความเค็มมากขึ้น ไม่จืดเหมือนอาหารเจในอดีตที่เน้นรสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบ อีกทั้งอาหารเจส่วนใหญ่มีส่วนผสมของแป้งเป็นหลัก จึงทำให้หิวบ่อยเพราะคาร์โบไฮเดรตนั้นย่อยง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกินเจน้ำหนักขึ้นเพราะร่างกายได้รับพลังงานและโซเดียมมากเกิน

 

6. ใครสามารถกินเจได้บ้าง

 

การ “กินเจ” สามารถกินได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะมีข้อจำกัดสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารควบถ้วนในการเจริญเติบโต อีกทั้ง ยังต้องระวังในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง เพราะกลุ่มอาหารเจที่เป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง นอกจากนี้อาหารเจจะมีความมันและโซเดียมสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังจึงไม่เหมาะจะบริโภคอาหารเจเป็นเวลานาน

 

7. “กินเจ” แตกต่างจากกิน “มังสวิรัติ” อย่างไร

 

“มังสวิรัติ” แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มังสวิรัติแบบไม่เคร่งครัดที่สามารถบริโภคนมและไข่ได้ ส่วนอีกประเภท คือ มังสวิรัติแบบเคร่งครัด ซึ่งจะมีความคล้ายกับการกินเจตรงที่งดเว้นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหมือนกัน แต่มังสวิรัติจะสามารถนำผักทุกชนิดมาปรุงได้ ในขณะที่อาหารเจมีการปรุงอาหารที่เข้มงวดกว่า เช่น งดผักที่มีกลิ่นฉุน รวมถึงยังต้องรักษาศีลให้จิตใจบริสุทธิ์ด้วย

 

8. กินเจอย่างไรให้ได้ประโยชน์

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายไว้ดังนี้

 

1. ต้องมั่นใจว่ารับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะหมู่โปรตีน ซึ่งโปรตีนที่จะมาทดแทนเนื้อสัตว์คือ โปรตีนที่ได้จากถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการผลิตออกมาในรูปแบบของเต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ทอด ขณะที่ ปัจจุบันนี้มีการทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ทำมาจากโปรตีนเกษตร โดยทำมาจากแป้ง ซึ่งก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ทานมากไปอาจอ้วนได้

 

2. ความสะอาด ผู้ปรุงอาหารเจขายควรคำนึงเรื่องของความสะอาดให้มาก โดยเฉพาะการทำความสะอาดผักที่นำมาประกอบอาหาร การเลือกดูเครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นซอส ซีอิ๊ว ต้องดูวันหมดอายุ และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น

 

3. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ในที่นี้หมายถึงรสมันจัดกับเค็มจัด เพราะอาหารเจมักจะปรุงด้วยวิธีการผัด-ทอดในน้ำมัน หากเป็นไปได้ควรหันมาบริโภคอาหารประเภทต้ม ย่าง อบ ยำ เช่น ยำมะเขือยาว แกงจืดเต้าหู้ ฯลฯ แทน ส่วนรสเค็มจัดนั้น ต้องอย่าลืมว่าการปรุงอาหารก็จะใช้ซอส ซีอิ๊ว เกลือแทนน้ำปลา ซึ่งเครื่องปรุงเหล่านี้มีปริมาณของโซเดียมสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก ซึ่งปกติคนเราจะบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 mg./วัน

 

4.ควรเลือกทานผัก-ผลไม้สด มากกว่าผักดอง เพราะผักสดมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผักดอง

 

9. กินผักอย่างไร ให้ปลอดภัย

 

สำหรับในช่วงเทศกาลกิจเจ หรือแม้กระทั่งการทานอาหารทั่วไป การล้างผักก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะผักสดๆ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีกินผักให้ปลอดภัยในเทศกาลกิจเจ ลดสารพิษตกค้าง พยาธิ ในผักด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

 

1. ล้างด้วยน้ำไหลริน หรือน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง นาน 2 นาที ลดสารพิษตกค้างได้ 54-63%

 

2. แช่ผักในน้ำสะอาด นาน 15 และล้างสิ่งสกปรก ลดสารพิษได้ 7-33%

 

3. แช่ในน้ำสะอาดกับน้ำส้มสายชู 0.5% ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดไหลรินอีกครั้ง ลดสารพิษตกค้างได้ 60-84%

 

4. ใช้ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 2 ขวด นาน 15 นาที ลดสารพิษตกค้างได้ 90-95%

 

10. กินเจปลอดภัย ห่างไกลโควิด

 

เทศกาลกินเจของทุกปี จะมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ ร่วมรักษาศีลด้วยการปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาเลือกซื้อเลือกรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ โปรตีนจากพืชทดแทน แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตด้านต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและสร้างสมดุลใหม่ที่เหมาะสม จึงทำให้เทศกาลกินเจปี นี้ ต้องมีมาตรการป้องกันมากขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ การดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง และการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือขณะเดินเลือกซื้ออาหารเจ

 

สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) แนะนำการเข้าร่วมกิจกรรม และการเลือกซื้ออาหารแบบ "ชีวิตวิถีใหม่" (New Nomal) ในเทศกาลกินเจ ดังนี้

 

1. สวมหน้ากากหรือหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และหลีกเสี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่ปิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีตั้งครรภ์

 

2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้ใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะ เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู หรือราวบันได

 

3. รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด หรือมีการอุ่นตลอดเวลา

 

4. ควรตรวจสอบคุณภาพอาหารขณะเลือกซื้อสินค้า เช่น ความสะอาด สภาพความเหมาะสมของอาหารและภาชนะบรรจุไม่ฉีกขาด เป็นต้น

 

อ้างอิง : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง กระทรวงวัฒนธรรมRAMA Channelกระทรวงสาธารณสุขสำนักส่งเสริมอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข , สสส.