กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

วิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 พบว่ามีน้ำท่วมใน 17 จังหวัด ส่งผลให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดความตื่นตระหนักหวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมเมื่อปี 2554

แถมในปีนี้น้ำท่วมเกิดขึ้นพร้อมกับโรคระบาดโควิด-19 ทั้งที่ปกติเมื่อเกิดภัยพิบัติ จะตามมาด้วยโรคระบาดต่างๆ อยู่แล้ว เรียกได้ว่าหากมีน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลจริงๆ ความเสียหายคงมหาศาล

ทว่าเมื่อคาดการณ์ไม่ได้ชัดเจนว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือไม่ ทำให้หลายครอบครัวเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม ขณะที่หลายครอบครัวก็ทำได้เพียงเฝ้าระวัง และรอประกาศจากทางการเท่านั้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกสภาวิศวกร เล่าว่า ตอนนี้หลายคนเกิดคำถามว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลซ้ำรอยกับปี 2554 หรือไม่ ซึ่งหากดูข้อมูลอดีต ปัจจุบัน และบ่งบอกไปในอนาคตนั้น

กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

ต้องบอกว่าหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เนเธอแลนด์ เยอรมนี อังกฤษ ทุกประเทศมีเทคโนโลยีประกาศอย่างชัดเจนว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่เมื่อมองข้อเท็จจริงกลับพบว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมจริงๆ ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า อดีต ปัจจุบันที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนไม่สามารถบอกอนาคตได้ และอนาคตก็เหมือนจะเลวร้ายกว่าในอดีต

 

  • กรุงเทพฯ“กะละมัง”คอนกรีตรับน้ำ

“เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วมไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะท่วมหรือไม่ ท่วมแน่นอน หรือไม่ท่วม แต่สามารถคาดการณ์โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ดังนั้น น้ำท่วมในปีนี้ จะเหมือนปี 2554 ท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น เราต้องยอมรับก่อนว่ากรุงเทพฯ เป็นเสมือนกระทะ กะละมังคอนกรีตที่ เต็มรูปแบบ และกรุงเทพฯ อยู่ได้ด้วยระบบสูบน้ำมาตลอด 30-40 ปี ซึ่งระบบสูบน้ำไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด และเห็นชัดว่าใช้ระบบสูบน้ำมาไม่ได้ผล จะมีน้ำป่า น้ำเหนือมา หรือฝนตกหนัก กรุงเทพฯ และปริมณฑลในหลายพื้นที่ก็ท่วมแล้ว”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

  •  แนะคนกทม.ดูระดับน้ำสถานีบางไทร

ข้อมูลที่จะช่วยตอบได้ว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำจะท่วมหรือไม่? นั้น ต้องดูผลกระทบเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในอัตรา 2,200-2,300 ลบ.ม./วินาที ส่วนกรณีที่มีการเปิดบานระบายทุกช่องของเขื่อนเจ้าพระยาจะเป็นไปตามหลักการด้านชลศาสตร์ในการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา เป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน

 

  •  เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เล่าต่อว่าเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ใช่เขื่อนกันน้ำท่วมแต่เป็นการประคับประคองน้ำไว้ได้ ตอนนี้ สถานี C.29A อำเภอบางไทร อยู่ในอัตรา 2,200-2,300 ลบ.ม./วินาที ตอนนี้อุปมาได้ว่ากรุงเทพฯ ยังเอาอยู่ แต่ถ้าน้ำมากกว่านี้ไปเรื่อยๆก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 มีพายุเข้ามาหลายรอบ ทำให้เขื่อนรับน้ำไม่สามารถพร่องน้ำได้ทัน แต่ปี 2564 นี้ พายุไม่มากเท่ากับปี2554 และหากปริมาณน้ำไม่มากขึ้นก็ไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมกทม.

“ทุกคนต้องเฝ้าระวัง ประชาชนต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตามข้อเท็จจริง ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ และอย่าตื่นตระหนกกับข้อมูล ขณะที่กทม. หน่วยงานรัฐต้องเข้าใจปัญหาน้ำท่วมอย่างลึกซึ้ง ต้องวางแผนระยะยาว ไม่ใช่แก้ปัญหารายวัน ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น สูบน้ำก็ควรเป็นระบบอัตโนมัติ ประตูน้ำอัตโนมัติ ไม่ใช่ต้องมารอคนมาเปิด และควรทำแก้มลิงใต้ดิน เพราะตอนนี้การก่อสร้างต่างๆเพื่อพัฒนาความเจริญเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อขุด ไม่ได้ทำแก้มลิงตามธรรมชาติ พื้นที่กทม.ก็จะยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ ปัญหาน้ำท่วมก็ไม่มีทางหมดไป” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

  •  “เทคโนโลยี-แก้มลิงใต้ดิน” ทางรอดน้ำท่วมไทย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เล่าต่อไปว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ประเทศไทยควรนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการมากกว่านี้ เพราะจากที่ประเทศสิงคโปร์ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาน้ำท่วม วันนี้ชาวโลกเห็นแล้วว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำในการจับสัญญาณน้ำท่วมสามารถช่วยบุคลากร และช่วยให้ประเทศสิงคโปร์รับมือกับน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ขณะที่ในกทม.ควรจะมีระบบติดตามข่าวน้ำท่วมอย่างวิทยาศาสตร์ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้

การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น สจล.ได้มีการดำเนินการในพื้นที่ลาดกระบัง เพื่อเป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันทางไหลของน้ำ ด้วยการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทีมจิตอาสา ลงพื้นที่สำรวจคลองสาขา และคลองหลัก ให้ปราศจากวัชพืชหรือขยะ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำจากทั้งในพื้นที่โดยรอบ น้ำฝน รวมถึงการใช้เอไอเปิด-ปิดประตูน้ำอัตโนมัติ เพื่อประเมินสถานการณ์/ปริมาณน้ำ ทั้งต้นทางและปลายทาง ก่อนสั่งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ และสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับน้ำพื้นที่ปลายทาง เพื่อลดการเกิดความผิดพลาดที่เกิดจากคน

กทม.ยังเอาอยู่? แนะปชช.เฝ้าระวังน้ำท่วม ดูตัวชี้วัดสถานีบางไทร

“การสร้างอาคารเรียน ตึกต่างๆ ในพื้นที่สจล.จะมีการทำแก้มลิงใต้ดิน เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนกรณีฝนตกหนัก รวมถึงมีการจัดสรรพื้นที่แก้มลิงใต้ดิน หรือสวนสาธารณะในชุมชน ซึ่งกทม.สามารถจัดทำพื้นที่แก้มลิงใต้ดินได้ เพราะใช้ระยะเวลาในการสร้างไม่นาน แต่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในกทม.ได้ในระยะยาว นอกจากนั้น ควรให้ความรู้แก่ประชาชน ต้องทำให้เข้าใจถึงสภาพของกทม. และต้องมีการแจ้งเตือน มีข้อมูลให้แก่ประชาชนชัดเจน ยิ่งในตอนนี้เกิดโรคระบาดโควิด ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว ฉะนั้น ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมีมากมาย”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว