ไขข้อข้องใจ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" ฉีดร่วมกับ "วัคซีนโควิด-19" ได้หรือไม่

ไขข้อข้องใจ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" ฉีดร่วมกับ "วัคซีนโควิด-19" ได้หรือไม่

ขณะที่ปัจจุบัน หลายคนให้ความสำคัญกับ "วัคซีนโควิด-19" แต่อีกหนึ่งวัคซีนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" ซึ่งจะสามารถลดความรุนแรง และเสียชีวิต ทั้งจาก "โรคไข้หวัดใหญ่" และกรณีติดเชื้อร่วมโควิด โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดฟรีถึง ธ.ค.นี้

สถานการณ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของไทยในปัจจุบันพบได้ทุกอายุ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในเด็กอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือเด็กอายุ 5-14 ปี ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จึงแนะนำให้ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อร่วมกันทั้งจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะจะยิ่งทวีความรุนแรงของโรคได้

 

วานนี้ (29 ก.ย. 64) “รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์” ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่…ในยุคโควิด-19” โดยระบุว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามฉีดปูพรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากยิ่งขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ช่วยป้องกัน โควิด-19 แต่เชื่อว่าน่าจะมีการกระตุ้นทางอ้อมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดภาระจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ลง รวมถึงยังลดการเกิดโรคร่วมกัน (Co-infection) จากทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

 

ข้อมูล องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 500 – 1,000 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลกราว 3 - 5 ล้านคน ผู้เสียชีวิตราว 290,000 – 650,000 คนต่อปี ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถลดการป่วย ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ลง รวมไปถึงลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยกำหนดให้ฉีด วัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ขณะที่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กำหนดว่าสามารถฉีดได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ดังนั้น เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะเดียวกัน เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน มีการศึกษา พบว่า การตอบสนองภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ค่อยดี แต่กลับเป็นกลุ่มที่อันตรายมากและเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด

 

“มีการศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนในคุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถมีภูมิคุ้มกันถึงลูกได้ ดังนั้นควรฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ไตรมาส 2-3 จะมีประโยชน์ต่อลูกเล็กๆ ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ได้ โดยภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกจะอยู่ได้ราว 6-7 เดือน โดยสามารถป้องกันได้กว่า 63% โดยที่ลูกไม่ต้องฉีดวัคซีน” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

 

  • แนะฉีดห่างกัน 14 วัน

 

“ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร” หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยแนะนำการฉีด วัคซีนโควิด-19 ควรห่างจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนทั้งสองที่อาจจะซ้อนกัน โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง

  • ฉีดก่อนหรือหลัง วัคซีนโควิด ?

 

รวมทั้งเพิ่มเติมบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและโรงเรียนในทุกช่วงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยมีแนวทางปฎิบัติในการเข้ารับวัคซีน 3 แบบ คือ

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนโควิด-19
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง ฉีดวัคซีนโควิด-19
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19

 

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์

 

โดยวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น ที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

 

ไขข้อข้องใจ \"วัคซีนไข้หวัดใหญ่\" ฉีดร่วมกับ \"วัคซีนโควิด-19\" ได้หรือไม่

 

  • ผลการศึกษาในต่างประเทศ

 

ผลการศึกษาวิจัยในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2021 ประเทศสหรัฐอเมริกามีผลวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 10 มิถุนายน 2020 (อ้างอิงจากข้อมูลเผยแพร่โดย US National Library of Medicine - National Institutes of Health) พบว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมมากขึ้นทุก ๆ 10% จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 28%

 

ประเทศบราซิล มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อัตราความรุนแรงของ โควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศบราซิล (อ้างอิงจากบทความ BMJ Evidence-Based Medicine ฉบับเดือนสิงหาคม 2021) เป็นการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 50,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2021 โดยศึกษาเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

ผลปรากฏว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 16% ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

 

ไขข้อข้องใจ \"วัคซีนไข้หวัดใหญ่\" ฉีดร่วมกับ \"วัคซีนโควิด-19\" ได้หรือไม่