ห่วง! 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โควิด-19พุ่ง สถานการณ์เหมือนกทม. 2 เดือนก่อน

ห่วง! 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โควิด-19พุ่ง สถานการณ์เหมือนกทม. 2 เดือนก่อน

ปลัดสธ.ชี้โควิด-19ใน 4 จังหวัดใต้เพิ่ม สวนทางประเทศแนวโน้มขาลง ขณะที่ผู้ตรวจฯเขต 12 ชี้ระบาดตามหลังกทม. 2 เดือน ระบุเตียงเริ่มตึง อัตราครองเตียง 80 % เผยแผนคุมโรคเชิงรุก ลดลง 10 %ทุกสัปดาห์ ตั้งเป้าก่อนปีใหม่สถานการณ์คลี่คลาย  

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การติดโควิด -19 ในประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ตัวเลขจะยังเหวี่ยงอยู่ระหว่างหลักหมื่นกับหลักพันรายต่อวัน หากดูกราฟตัวเลขของทั้งประเทศจะพบว่าพื้นที่กทม. และภูมิภาคส่วนอื่นๆ ติดเชื้อลดลง แต่ภาคใต้โดยเฉพาะ 4 จังหวัดกราฟการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเป็นตัวที่มาทำให้อัตราการติดเชื้อในภาพรวมของภูมิภาคยังดูสูง  ขณะนี้กำลังเร่งควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ หากลดการติดเชื้อลงได้ ก็จะทำให้ภาพรวมทั้งประเทศลดลงอีก และคาดว่าในสิ้นเดือนติดเชื้อรายใหม่น่าจะอยู่ที่ 5,000 รายต่อวัน  

     ด้านนพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12  ซึ่งดูแลพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กล่าวว่า  สถานการณ์โควิด-19ในพื้นที่ภาคใต้ ยังมีการระบาดค่อนข้างมาก โดยลักษณะการระบาดตามหลังสถานการณ์กทม.อยู่ 2 เดือน โดยเริ่มมีการติดเชื้อมากขึ้นในเดือน ส.ค. และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว
      ที่น่ากังวลคือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างมีกิจกรรมการรวมกลุ่มมากะ และการฉีดวัคซีนยังต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ก็น้อยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่แล้วว่า หากฉีดวัคซีนกันมากขึ้น ครอบคลุมอย่างน้อย 70% จะเปิดให้ละหมาดร่วมกันได้ เพราะตอนนี้ห้ามหมดเลย หากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เดินทางไปไหนมาไหนก็จะสะดวกขึ้น

       นพ.สุเทพ กล่าวด้วยว่า เขตสุขภาพที่ 12 ได้ตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการติดเชื้อให้ได้ 10% ทุกสัปดาห์ และตั้งเป้าว่าสถานการณ์ต้องคลี่คลายก่อนปีใหม่ โดยมีทีม CCRT ทำเรื่องการตรวจคัดกรอง เจอผู้ป่วยก็นำเข้าสู่ระบบการรักษา เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19ให้มีความครอบคลุมสูง รวมถึงความครอบคลุมวัคซีนจะมีมากขึ้น  ที่สำคัญคือการสร้างความรู้ ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับคนในพื้นที่ เพราะยังมีความกังวลเนื่องจากเดือนต.ค.นี้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ต้องติดตามกำกับอย่างเข้มข้น เช่น งานศพ  งานบุญ กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ที่เป็นการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่

      สำหรับมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น กรณีให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้านนั้นต้องดูเป็นรายกรณี ดูลักษณะครอบครัว การอยู่อาศัยร่วมกันว่าสามารถทำได้หรือไม่ ขณะที่เตียงในรพ.ตอนนี้ถือว่าตึงนิดหน่อย อัตราการครองเตียงประมาณ 80% ถ้าจะให้ผ่อนคลายลงหน่อย อัตราการครองเตียงควรจะอยู่ที่ประมาณ 70% จึงต้องบริหารจัดการกันให้ดี ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตในพื้นที่น้อยลงอยู่ที่ประมาณ 0.9% ขณะที่ภาพรวมการเสียชีวิตของประเทศประมาณ 1% แต่ถึงจะเสียชีวิตลดลงแต่ก็ไม่ได้ดีใจ เพราะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งบางรายรักษานานกว่า 2 เดือนแล้วเสียชีวิตก็มี จึงยังต้องจับตาดูต่อสักเดือนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

       ส่วนเรื่องสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิด -19 ที่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาพรวมของประเทศที่การระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา 58% เดลตา 38% สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่เดินทางกลับจากพื้นที่กทม. อยู่แถว ตรัง พัทลุง สตูล เป็นต้น ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เบตา แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
      “ข้อกังวลว่าจะมีการผสมกันและเกิดการกลายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ เนื่องจากพบการติดเชื้อถึง 3 สายพันธุ์ เรื่องนี้ได้พยายามติดตามข้อมูลในประเทศมาเลเซียเพราะมีพื้นที่ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนใกล้เคียงกัน ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของเชื้อกลายพันธุ์อย่างที่เป็นห่วง”นพ.สุเทพกล่าว

       ผู้สื่อข่าวถามถึงการข้ามแดนผิดกฎหมาย นพ.สุเทพ กล่าวว่า ยังเจอบ้าง แต่ก็มีการตั้งด่านตรวจสอบ และเฝ้าระวังการลักลอบต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาจากการตรวจสอบ ติดตาม พบว่าคนที่เข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมายและเข้าระบบกักตัวนั้นตรวจพบการติดเชื้อประมาณ  30% ส่วนคนที่ลักลอบเข้ามา พอตามตัวและตรวจเจอเชื้อประมาณ 9%  ซึ่งปัจจุบันลักลอบเข้ามาสัปดาห์ละประมาณ 100-200 คน ก็มีการตามตัวกลับมาเฝ้าระวังที่สถานกักตัวในพื้นที่(Local Quarantine)