เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"

เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"

"โรคหัวใจ" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกขณะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย "โรคหัวใจและหลอดเลือด" มากถึง 6 หมื่นรายเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย การรู้เท่าทันจะช่วยลดความ "เสี่ยงเสียชีวิต" ได้

เนื่องใน "วันหัวใจโลก" 2564 (World Heart Day 2021) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายนปีนี้ สมาพันธ์นานาชาติ เล็งเห็นความสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ จึงกำหนดวันนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ  เนื่องจากสถานการณ์ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอับดับต้นๆ ของคนไทยและคนทั่วโลก 

 

  • ไทยพบ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด 4.3 แสนคนต่อปี 

 

 

"นต.นพ.ชยุต ชีวะพฤกษ์" แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หัวใจ รพ. พญาไท นวมินทร์ เปิดเผยข้อมูลว่า ในยุค New normal หรือวิถีชีวิตปกติใหม่ โรคที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือโรคในกลุ่ม NCDs (Noncommunicable diseases) คือ โรคไม่ติดต่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคหัวใจที่เราพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

จากข้อมูล "กระทรวงสาธารณะสุข" พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 430,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี นั่นหมายความว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ประมาณ 6,902 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

 

เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"

 

  • รู้จักโรคหัวใจ 

 

สำหรับโรคหัวใจมีหลายประเภท เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ และโรคหัวใจจากโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งโรคหัวใจสามารถแสดงอาการได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บหน้าอก ใจสั่น ใจเต้นแรง หน้ามืดจะเป็นลม  ขาบวมท้องบวม ทำงานแล้วเหนื่อยมากขึ้น หรือบางครั้งก็ไม่มีอาการเลย จนกว่าจะมีอาการมากแล้ว

ดังนั้น เราจึงควรมีการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี, ผู้หญิงที่อายุมากกว่า50 ปี รวมถึงคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ, คนที่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูงหรือมีโรคอ้วน, มีความเครียด, สูบบุหรี่, ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ส่วนข้อแนะนำในการดูแลตัวเอง คือ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อย่างน้อย 3วันต่อสัปดาห์ , ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเน้นอาหารที่มีเส้นใยสูงและ low fat, พักผ่อนให้เพียงพอ คือ 8 ชม.ต่อวัน , ลดความอ้วน หากมีโรคประจำตัว ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องและติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ, งดสูบบุหรี่, งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  และหลีกเลี่ยงความเครียด เพียงเท่านี้ ท่านก็จะมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงสมบูรณ์

 

  • พฤติกรรม ส่งผลต่อโรคหัวใจ

 

"โรคหัวใจ" เป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยการศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบว่า พันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ทั้ง 4 อันได้แก่ โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ที่เป็นตัวเร่งสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะโรคเหล่านี้มีผลต่อหลอดเลือดในแบบต่าง ๆ เช่น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ เป็นต้น

 

"ทนพ.ญ.ปราณี ทวีพันธ์" ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้านห้องปฏิบัติการทางคลินิก บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์(N Health) กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของหัวใจ คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดตลอดชีวิตของเรา ถ้าหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นไปอีก อาจเกิดภาวะ "หัวใจวาย" จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้แทบไม่มีใครรู้ตัวล่วงหน้าเลย คนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

 

เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"

โดยเฉพาะในวัยรุ่น ไม่ใส่ใจและไม่รู้ถึงความรุนแรงและความน่ากลัวของโรคนี้เลย แต่จากสถิติแสดงให้เห็นว่าโรคหัวใจนั้น ติด 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด และมีท่าทีว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี 

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คน ต่อ ปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

 

  • รู้จักความเสี่ยงเกิด "โรคหัวใจ"

 

"ทนพ.ญ.ปราณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ มีทั้งแบบควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ สำหรับแบบที่ควบคุมไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมจากพ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ที่เคยมีประวัติเคยเป็นโรคนี้ และแบบที่ควบคุมได้เช่นการรับประทานอาหารเยอะเกินไป ทำให้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน  อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการกินอาหารรสชาติหวานเค็ม หรืออาหารที่มันเกินไป การรับประทานผักผลไม้น้อย ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย รวมทั้งการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า  โดยอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ อาการเหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก หอบ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ขาบวม เป็นลม วูบ และท้ายที่สุดคือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

 

โรคหัวใจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด การดูแลตัวเองที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันโรคนี้ คือ การออกกำลังกาย ลดดื่มเหล้าสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ 

 

  • "โควิด-19" กับโรคหัวใจ 

 

"นพ. เกรียงไกร เฮงรัศมี" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะส่งผลต่อระบบหัวใจได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในผู้ติดเชื้อบางรายในระยะสั้นจะมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการมักไม่รุนแรง ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีอาการรุนแรงจะเกิดจากโรคประจำตัวอื่น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ภาวะทางเดินหัวใจล้มเหลว และภาวะปอดอักเสบรุนแรง 

 

ในระยะยาวบางรายอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อย ระดับน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นผลจากรอยโรคที่เกิดจาก COVID-19 ที่หัวใจปอด หลอดเลือด และสมอง กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ มีภาวะหัวใจล้มเหลว 

 

เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"

 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันการฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ จากผลการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ในคนไข้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น 8 เท่า ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 25 เท่าและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตถึง 24 เท่า

 

“อยากให้ทุกคนตระหนักเสมอว่า การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดย่อมดีกว่าการรักษา โรคหัวใจป้องกันได้ด้วยการกินดี นอนดี ออกกำลังกายดี หมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ แต่ถ้ามีอาการหัวใจผิดปกตินั้นรอไม่ได้ ให้รีบตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางทันที รู้ก่อนรักษาก่อน เพิ่มโอกาสในการหาย และถ้าป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วต้องคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดี พบแพทย์ตามนัด ทำการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อให้สุขภาพหัวใจดีแข็งแรงไปอีกนาน” นพ. เกรียงไกร กล่าว

 

  • ป่วยหัวใจ ติดโควิด โอกาสตาย 20% 

 

"นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด" ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า โรคหัวใจเป็น 1 ใน 7 โรคไม่ติดต่อ หากเกิดการติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้หัวใจเต้นเร็วจนเสี่ยงเกิดเยื่อบุหลอดเลือด อักเสบ หรือมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นจากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง ถ้าติดเชื้ออย่างรุนแรงทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวได้และอาการที่รุนแรงจำเป็นต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีระยะเวลานอนโรงพยาบาลมากขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 20% 

 

ดังนั้น ผู้ป่วยควรระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัจจัยเสี่ยง ปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เลิกสูบบุหรี่ หรือเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่และลด ละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หรือมีอาการเต้นของหัวใจผิดปกติควรรีบพบแพทย์ และที่สำคัญควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ 

 

  • เตรียมความพร้อม ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 

 

1.ให้แพทย์ประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนได้รับการฉีดวัคซีน 

 

2.ควรรับการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการหรือภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีน 

 

3.ภายหลังการฉีดวัคซีน 7 วัน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือใจสั่น ควรรีบพบแพทย์ สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมทางสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค 

 

  • สธ.เดินหน้าดูแลผู้ป่วย เข้าถึง ทุกที่

 

 

"นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดตามคำขวัญรณรงค์วันหัวใจโลก คือ ใช้ใจเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ แนะนำให้ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 3 ประการ คือ 

 

1.ใช้ใจสร้างความเท่าเทียม (EQUITY) 

2.ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION) 

3.ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) 

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลาอย่างรวดเร็ว ประการแรก สร้างความเท่าเทียม(EQUITY) ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศให้การป้องกัน วินิจฉัย ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ   ในทุกกลุ่มแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล 

 

ประการที่สอง ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION) โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวานมัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้แอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ เช่น อสม.ออนไลน์ คัดกรองโรคไม่ติดต่อออนไลน์ ใช้ Smart Watch สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพและกระตุ้นให้ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอผ่าน Mobile Application 

 

ประการที่สาม ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว ญาติสังคมและชุมชน ผ่านโครงการ 3 หมอ หมอครอบครัว หมอสาธารณสุข หมอประจำบ้าน เพื่อครอบคลุมการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง ลดปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ตามนัดหมาย ยังสามารถรับบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Website, Telemedicine, Line Chat รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วยแอปพลิเคชันหมอพร้อม

 

เช็คสาเหตุ อาการ โรคหัวใจ ลด "เสี่ยงเสียชีวิต"