เด็กควรระวัง! MIS-C “ภาวะอักเสบทั่วร่างกาย”หลังหายป่วยโควิด-19

เด็กควรระวัง! MIS-C “ภาวะอักเสบทั่วร่างกาย”หลังหายป่วยโควิด-19

ทำความรู้จัก โรค MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็กหลังหายป่วยโควิด-19 เช็คอาการ เฝ้าระวัง พร้อมวิธีป้องกัน ดูแลลูกหลาน

แม้เด็กจะมีโอกาสติดโควิด-19 น้อย และเมื่อติดอาการไม่รุนแรง หรืออาการหนัก เสียชีวิตเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ปรากฏว่า หลังจากหายป่วยโควิด-19 แล้ว กลับพบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยเกิดอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก หรือในทางการแพทย์ เรียกว่า Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C)

  • ทำความรู้จัก MIS-C ในเด็ก

ว่ากันว่า MIS-C หรือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

โดย MIS-C มักเกิดขึ้น 2-6 สัปดาห์หลังจากเด็กและวัยรุ่นหายป่วยจากโควิด 19 อายุเฉลี่ยของเด็กที่มีรายงานคือ 8 ปี มักพบแถบประเทศยุโรป อเมริกาและอินเดีย ปัจจุบันภาวะนี้ยังพบได้น้อยในเด็ก

 

  • เช็คอาการ MIS-C พ่อแม่เฝ้าระวัง

ทั้งนี้ สำหรับ อาการของโรค MIS-C มีดังนี้  

  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ตาแดง   ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ผื่นขึ้นตามตัว มีอาการช็อค ความดันต่ำ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบ ปวดศีรษะ ซึม นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผู้ป่วยอาจเริ่มจากมีระบบการหายใจผิดปกติ บางอาการเทียบเคียงได้กับภาวะหัวใจล้มเหลว และพบค่าการอักเสบสูง

ขณะที่  สำหรับ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการมิสซีไว้ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 21 ปี
  • ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบการอักเสบ
  • มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 2 ระบบ ได้แก่ ระบบหัวใจ ไต ทางเดินหายใจ เลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง หรือระบบประสาท
  • ไม่มีการวินิจฉัยอื่นที่เป็นไปได้
  • ติดเชื้อ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนมีอาการ

จากรายงานมีโอกาสเกิด MIS-C เพียง 0.14% ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิดทั้งหมด โอกาสในค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

 

  • ไทยพบเด็กป่วย MIS-C หลังหายโควิด

ในเดือนส.ค.2564 ที่ผ่านมา พบคนไข้เด็กวัย 13 ปี เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการไข้สูงและท้องเสีย กุมารแพทย์ตรวจและให้การรักษาตามอาการและคาดว่าผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นในไม่กี่วัน แต่ผ่านไป 2-3 วัน ผู้ป่วยเริ่มมีระบบการหายใจผิดปกติ หลายอาการเทียบเคียงได้กับภาวะหัวใจล้มเหลว และพบค่าการอักเสบสูง

แม้ผู้ป่วยเด็กรายนี้ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน แต่กลับตรวจพบสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีโควิด-19 เช่นเดียวกับที่ตรวจเจอในพ่อและแม่ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่พบเหล่านี้ ทำให้ทีมแพทย์วินิจฉัยว่า เด็กรายนี้ กำลังป่วยด้วยภาวะอาการ "มิสซี" MIS-C (หรือกลุ่มอาการอักเสบของหลาย ๆ ระบบในร่างกาย

พญ.สุวพร อนุกูลเรืองกิตติ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กุมารแพทย์หรือหมอเด็กเริ่มเจอภาวะนี้ในกลุ่มเด็กโตที่หายป่วยจากโควิดมากขึ้น

  • เตือนพบผู้ป่วย MIS-D มากขึ้น

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในเด็ก  (เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2564) ระบุตอนหนึ่งว่า กุมารแพทย์ควรสังเกตอาการที่เข้าได้กับอาการ MIS-C ได้แก่ มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชม. มีอาการรุนแรงหลายระบบของร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด ไต ทางเดินหายใจ โลหิต ทางเดินอาหาร หรือระบบประสาท ที่ไม่พบสาเหตุจากโรคอื่น และมีการติดเชื้อหรือมีการสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเวลาที่ผ่านมาไม่นาน มีค่าการอักเสบในเลือดสูง

เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่อินเดีย ขณะที่การระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง แต่กุมารแพทย์ในอินเดียรายงานว่าพบอาการป่วยที่พบได้ยากแต่รุนแรงเช่นนี้เพิ่มขึ้น

ที่โรงพยาบาลคงคาราม ในกรุงนิวเดลี นพ.ธีเรน คุปตะ กุมารแพทย์ประจำหอผู้ป่วยอาการวิกฤตมีคนไข้อายุระหว่าง 4-15 ปี กว่า 75 คน ที่ป่วยด้วยอาการ MIS-C นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดการระบาดระลอกที่ 2

ขณะที่ข้อมูลทางการของสหรัฐฯ ณ วันที่ 3 พ.ค. พบผู้ป่วยกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก 3,742 ราย และเสียชีวิตแล้ว 35 ราย

 การที่มีเด็กและวัยรุ่นติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น คาดว่าจะมีการพบผู้ป่วย MIS-C มากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงตามหลังโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 0-18 ปีในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 (1 เม.ย.- 11 ก.ย.) มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 174,645 ราย แบ่งเป็นเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-18 ปี) 129,165 ราย เสียชีวิต 15 ราย และ เด็กปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี) ติดเชื้อสะสม 45,480 ราย เสียชีวิต 14 ราย

  • ความรุนแรงของโรคส่งผลต่อเด็ก

ภาวะ MIS-C อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการผิดปกติในหลายระบบ ได้แก่

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
  • ระบบทางเดินหายใจ : ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ระบบทางเดินอาหาร : ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
  • ผิวหนัง : ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
  • ระบบประสาท : มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ระบบเลือด : เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไต : ไตวายฉับพลัน

 

  • วิธีป้องกัน ดูแลรักษาผู้ป่วย MIS-C

การดูแลรักษาผู้ป่วย MIS-C ในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต

จากรายงานส่วนใหญ่ ให้การรักษาโดยใช้แนวทางเช่นเดียวกับ การรักษา Kawasaki disease แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ หลักในการรักษา ประกอบด้วยการให้การรักษาแบบประคับประคอง และการให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ

ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ (พิจารณาจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เบื้องต้น) ควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

  • เมื่อลูกติดโควิด ผู้ปกครองต้องทำอย่างไร?

เด็กที่ติดโควิด-19 หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวและไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง เช่น มีน้ำมูก ไข้ไม่สูง กินและเล่นได้ใกล้เคียงกับปกติก็สามารถดูแลที่บ้านได้ ส่วนการให้ยาก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ คือ ให้ยาตามอาการ ถ้ามีไข้แต่ไม่สูง ก็ให้กินยาลดไข้และเช็ดตัว

นอกจากนี้ควรวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 1-2 ครั้งต่อวัน ค่าออกซิเจนที่วัดได้ควรเกิน 95% เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้มีข้อควรระวังว่า เครื่องวัดออกซิเจนเป็นขนาดที่ใช้กับผู้ใหญ่ ค่าที่อ่านอาจจะไม่นิ่งมาก ต้องดูด้วยว่า การวัดค่าออกซิเจนคงที่หรือไม่แต่หากผู้ป่วยเด็กมีไข้สูงติดต่อกัน 1-2 วันและมีอาการหายใจหอบเหนื่อย ถือว่าเป็นอาการที่เริ่มอันตราย รีบพาเด็กมา รพ.

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าพึ่งตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป และหากพิจารณาจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เบื้องต้น พบว่าใครอาจมีภาวะ MIS-C ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม

อ้างอิง :  รพ.พระราม 9,บีบีซีไทย