‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก

‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก

อธิบดีกรมศิลปากรสั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมพื้นที่ ‘มรดกโลก’ โบราณสถาน จาก ‘พายุเตี้ยนหมู่’ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีความเสี่ยงสูงสุด

จากเหตุการณ์พายุโซนร้อน ‘เตี้ยนหมู่’ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้สั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่แหล่งมรดกโลกในความดูแลของกรมศิลปากร ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร(สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร) และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง(อุดรธานี)

 

จากรายงานของกองโบราณคดีและสำนักศิลปากรที่ 1-12 โบราณสถานส่วนใหญ่ทั่วประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบขั้นวิกฤต

อ่านข่าว : กรมศิลปากรเร่งระบายน้ำท่วมขัง ‘ปราสาทหินพิมาย’

‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก

 

สถานการณ์อุทกภัยในแหล่งมรดกโลก

 

  • อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันที่ถูกน้ำท่วมหนักกว่า 12 กิโลเมตร ประกอบกับตั้งอยู่บนพื้นที่สูง และเพิ่งมีการขุดลอกเขื่อนสรีดภงส์จึงสามารถกักเก็บน้ำได้ปริมาณมาก โดยขณะนี้มีเพียงน้ำท่วมขังรอการระบาย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีน้ำขังเล็กน้อยรอการระบาย

‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก

  • อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

มีโบราณสถานได้รับความเสียหายเล็กน้อยจากลมพายุ ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การดูแลจัดการตามปกติของสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย

 

  • แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง

ทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง แหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน และแหล่งโบราณคดีบ้านอ้อมแก้ว สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น รายงานว่ายังไม่มีผลกระทบใดๆ

  • อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

มีความเสี่ยงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อธิบดีกรมศิลปากรได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เร่งเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

 

โบราณสถานสำคัญที่อยู่ในความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม ตอนนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำกว่าสันเขื่อนประมาณ 40 ซม. ขณะนี้ได้ทำการตั้งแผงป้องกันน้ำเรียบร้อยแล้ว

 

‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก

‘อยุธยา-สุโขทัย’ เร่งสกัดน้ำท่วมพื้นที่มรดกโลก credit: กรมศิลปากร

 

ส่วนโบราณสถานอื่นๆ ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 50-80 ซม. เช่น วัดธรรมมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ที่กำลังตั้งแผงกันน้ำจะแล้วเสร็จในวันนี้ รวมถึงเร่งดำเนินการตั้งแผงกันน้ำที่หมู่บ้านโปรตุเกสจะแล้วเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

ส่วนโบราณสถานป้อมเพชรและหมู่บ้านฮอลันดายังอยู่สูงกว่าระดับน้ำประมาณ 1 เมตร วัดเชิงท่าระดับน้ำในแม่น้ำลพบุรียังมีระดับต่ำกว่าสันเขื่อนประมาณ 1.2 0 เมตร

 

จากสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 กันยายน ซึ่งทำให้เขื่อนเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมากขึ้นถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นจากเดิมอีก 0.3-1 เมตร โดยภายในวันจันทร์ที่ 27 กันยายน นี้ ระดับน้ำจะถึงสันเขื่อนโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม และวันอังคารที่ 28 ระดับน้ำจะถึงสันเขื่อนโบราณสถานวัดธรรมาราม (ซึ่งโบราณสถานทั้ง 2 แห่งจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากได้ติดตั้งแผงป้องกันน้ำไว้แล้ว)

 

ส่วนโบราณสถานแห่งอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ กรมศิลปากรได้เตรียมความพร้อมในการป้องกัน โดยการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและวางแผนจัดลำดับการดำเนินการป้องกันโบราณที่จะได้รับผลกระทบ จัดเตรียมกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์และประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ภายในพื้นที่เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรอย่างเต็มที่