จน-เครียด-กินเหล้า แก้ปัญหาชีวิตง่ายกว่าเข้าถึงจิตแพทย์ไทย?

จน-เครียด-กินเหล้า แก้ปัญหาชีวิตง่ายกว่าเข้าถึงจิตแพทย์ไทย?

สำรวจสถานการณ์ภาพรวมผู้ป่วยโรคจิตเวชของคนไทย พร้อมความสามารถในการเข้าถึงการรักษากับจิตแพทย์ได้มากน้อยแค่ไหน?

ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันทุกวันนี้ โรคทางจิตเวช ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นกันได้ง่ายขึ้น เทียบเท่ากับการป่วยเป็นไข้หวัด ปวดหัว หรือปวดท้อง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่และไกลบ้านถิ่นฐานเดิม

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ทั่วโลกจะเสียค่าใช้จ่ายจาก วิกฤตโรคซึมเศร้า เป็นจำนวนกว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เห็นตัวเลขนี้แล้วทำเอาหลายคนสงสัยว่า ทำไมผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเวชถึงพบจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก? สถานการณ์กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชในเมืองไทยเป็นอย่างไร? ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษากับจิตแพทย์ได้มากน้อยแค่ไหน? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน

  • ผู้ป่วยไทยเพิ่มขึ้น อัตราฆ่าตัวตายเพิ่ม

ก่อนอื่น...มาเช็คกันหน่อยว่าตอนนี้คนไทยมีกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวชมากแค่ไหน มีข้อมูลรายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวชภาพรวมทั้งประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2563 จากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีผู้ป่วยด้านจิตเวชทะลุพุ่งสูงมากถึง 2.7 ล้านคน

จน-เครียด-กินเหล้า แก้ปัญหาชีวิตง่ายกว่าเข้าถึงจิตแพทย์ไทย?

และเมื่อย้อนดูสถิติคนไทยฆ่าตัวตายในแต่ละปีนั้น เทียบอัตราทุก 1 แสนคน จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จกี่คน พบว่ามีอัตราสูงขึ้นทุกปี 

2560 : 6 คน (6.03)

2561 : 6 คน (6.32)

2562 : 6 คน (6.64)

2563 : 7 คน (7.37)

2564 : 8 คน (8.8) (ข้อมูลล่าสุด ณ 10 ก.ย.64)

สำหรับวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีผู้ฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ในอัตราส่วน 1 แสนคน จะมีผู้ฆ่าตัวตายจำนวน 8 (8.59 ) คนด้วยกัน หากเทียบกันแล้วสัดส่วนของปี 2564 นี้มีอัตราใกล้เคียงกับเมื่อช่วงปีวิกฤติต้มยำกุ้ง และเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้น เพราะสถิติของปี 2564 ยังเป็นแค่สถิติที่เก็บได้ไม่หมดปี

กรมสุขภาพจิตต่างก็ออกมาให้ข้อมูลว่าอัตราการฆ่าตัวตายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ มาตรการโควิด คนตกงาน ประกอบธุรกิจไม่ได้ บางกิจการต้องปิดตัวลง คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเพียงพอ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น ซึ่งอาจสูงถึง 10 คน ต่อ 1 แสนคน

จน-เครียด-กินเหล้า แก้ปัญหาชีวิตง่ายกว่าเข้าถึงจิตแพทย์ไทย?

 

  • จิตแพทย์ไม่พอต่อผู้ป่วย 

เมื่อมาเช็คจำนวนจิตแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางจิตวิทยาของเมืองไทย กลับพบว่ามีจำนวนน้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ อยู่มาก จากรายงานประจำปี 2563 ของกรมสุขภาพจิต ระบุว่าประเทศไทยมี

  • จิตแพทย์จำนวน 206 คน
  • เจ้าหน้าที่จิตวิทยาจำนวน 109 คนเท่านั้น 
  • คิดเป็นอัตราส่วนได้ว่า จิตแพทย์ 1 คน ต่อผู้ป่วย 6,366 คน

 

  • มีอาการป่วยจริงๆ หรือแค่คิดไปเอง?

อย่างที่บอกไปว่าสมัยนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ "โรคซึมเศร้า" ที่พบว่าเป็นโรค 1 ใน 10 ที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพสูงสุด กระทบกับคุณภาพชีวิต และเป็นภาระทางสังคม ก่อนจะตัดสินใจไปหาหมอ...แน่ใจได้ยังไงว่าอาการที่เกิดขึ้น คือเราป่วยจริงๆ หรือเป็นเพียวภาวะชั่วคราวเท่านั้น  ถ้างั้นควรทำความรู้จักกับอาการเบื้องต้นกันสักนิด

สำหรับอาการของกลุ่มโรคจิตเวชมักจะเริ่มจาก.. เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยชอบทำหรืออยากทำ รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข ขี้หลงขี้ลืม ขาดความมั่นใจที่เคยมี รู้สึกสิ้นหวังกับทุกสิ่งอย่าง คิดว่าไม่มีทางที่อะไรๆ จะดีขึ้น ไม่ดูแลตัวเองอย่างที่เคยทำ บางครั้งก็มีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น นอนไม่หลับ นิสัยการกินผิดปกติไปจากเดิม ปวดหัว หรือปวดท้อง 

การจะแยกแยะว่าอาการที่คุณเป็นนั้น เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์จริงๆ หรือ เป็นเพียงภาวะชั่วคราว สามารถสังเกตได้จาก ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ข้างต้นเพียงเล็กน้อยและหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ ก็อาจจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและจะหายได้เองเมื่อได้พักผ่อนเต็มที่และได้ทำกิจกรรมที่คลายเครียด

แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านั้นติดต่อยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป แล้วอาการเหล่านั้นกระจายตัวแทรกซึมไปกับชีวิตประจตำวัน และมีความรุนแรงมากล่ะก็.. คงต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ และเริ่มขั้นตอนการรักษาต่อไป (หรือจะเช็คอาการตัวเองเพิ่มเติมจากแบบทดสอบนี้ก็ได้ >> แบบทดสอบสุขภาพจิตใจทั่วไป ) 

 

  • ขั้นตอนและข้อปฏิบัติ เมื่อต้องพบจิตแพทย์

สำหรับใครที่มีอาการที่เข้าข่ายเป็นโรคในกลุ่มจิตเวช เรามีคำแนะนำและ How To สำหรับการเข้าถึงสิทธิ์การรักษากับจิตแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จิตวิทยา รวมถึงข้อปฏิบัติเมื่อต้องการพบจิตแพทย์

1. ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาของตนเอง

ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาโรคจิตเวชได้หลากหลายช่องทาง เช่น สิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม ประกันกลุ่มของที่ทำงาน หรือประกันสุขภาพอื่นๆ ของบางบริษัท

2. เช็คโรงพยาบาลใกล้บ้าน มีจิตแพทย์หรือไม่?

จากนั้นให้เริ่มค้นหาและสอบถามไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านว่ามีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาให้บริการอยู่หรือไม่ พร้อมนัดคิวพบแพทย์ ทั้งนี้จากประสบการณ์คนใกล้ตัวของผู้เขียนพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีจิตแพทย์ก็จริง แต่คิวยาวหลายเดือน แถมสิทธิ์การรักษาก็ไม่ครอบคลุมสิทธิ์บัตรประกันกลุ่มของที่ทำงาน ดังนั้นต้องโทรสอบถามและตรวจสอบให้ดี

3. เมื่อพบจิตแพทย์ ต้องทำยังไงบ้าง?

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำไว้ว่า สิ่งที่ควรเตรียมก่อนไปพบจิตแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อไปครั้งแรก หรือย้ายโรงพยาบาลก็คือ ควรบอกอาการและเรียบเรียงเรื่องราว "ที่ทำให้ทนไม่ไหว" จนต้องมาหาหมอ ข้อมูลนี้ต้องบอกก่อนข้อมูลอื่นๆ 

ปัญหาคือ หมอไทยในโรงพยาบาลรัฐบาลมีเวลาไม่มาก บางแห่งกำหนดเวลาตรวจวินิจฉัยไว้ไม่เกิน 15-30 นาทีต่อคนไข้ใหม่ 1 คน เนื่องจากคนไข้เยอะล้นมือหมอ แถมค่าใช้จ่ายก็ถูก ดังนั้นคนไข้ควรเรียบเรียงเรื่องราวและอาการมาก่อนล่วงหน้า ให้ตรงประเด็นที่สุด เพื่อที่ช่วยให้หมอวินิจฉัยรักษาได้เต็มที่มากขึ้น (ส่วนรพ.เอกชนมีเวลาตรวจนานกว่า แต่ก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าตามไปด้วย)

4. คนไข้ควรเข้าตรวจคนเดียว ญาติรอข้างนอก

โดยปกติแล้วจิตแพทย์จะให้คนไข้เป็นคนตอบคำถามเอง เพราะการที่คนไข้เล่าเรื่องได้หรือไม่ได้นั่นย่อมสะท้อนถึงระบบความคิดของคนไข้ และการที่มีคนอื่น (แม้จะเป็นญาติสนิทหรือแฟน) อยู่ด้วย มักทำให้คนไข้เล่าได้อย่างไม่เป็นอิสระเต็มที่ หรือบางทีญาติก็แย่งคนไข้พูด หรือแย่งหมอถาม ดังนั้นโดยทั่วไปหมอจึงตรวจคนไข้คนเดียวก่อน แล้วค่อยให้ญาติเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มหากญาติจำเป็น

5. หากย้าย รพ. ต้องมีประวัติการรักษาเดิมมาด้วย

หากย้ายการรักษามาจากที่อื่น หรือมีการเปลี่ยนโรงพยาบาลแห่งใหม่ เข้าพบจิตแพทย์คนใหม่ คนไข้ควรขอข้อมูลการรักษาที่เดิมมาด้วยเสมอจะดีสุด ให้หมอที่เดิมสรุปประวัติมาให้ รวมถึงควรนำยาที่เคยใช้รักษามาด้วยหรือจำชื่อยามาก็ได้ เพื่อที่หมอคนใหม่จะได้ทราบอาการและขั้นตอนรักษาที่ผ่านมา และสามารถรักษาได้ต่อเนื่อง

ที่มา : 

https://www.dmh.go.th/ebook/files/รายงานประจำปีกรมสุขภาพจิต%20ปีงบประมาณ%202563.PDF

https://www.pier.or.th/abridged/2021/08/#fn-3

https://suicide.dmh.go.th/report/suicide/download/