"เปิดเมือง"ไม่ใช่ปลอดโควิด-19 สิ่งต้องรู้-ต้องทำ หากไม่อยากซ้ำรอย!! 

"เปิดเมือง"ไม่ใช่ปลอดโควิด-19 สิ่งต้องรู้-ต้องทำ หากไม่อยากซ้ำรอย!! 

“ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ยังระดับที่สูง” อธิบายสถานการณ์ของไทยขณะนี้ได้อย่างดี ฉะนั้น หมุดหมายที่จะ“เปิดเมือง” ในเดือนต.ค. สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ “เปิดเมืองไม่ได้แปลว่าปลอดโควิด-19 แต่ต้องอยู่ร่วมอย่างปลอดภัย ยังจำเป็นต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด”!!

ในมุมสาธารณสุขนั้น ปัจจัยที่จะใช้ประกอบการพิจารณาสถานการณ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) บอกว่า 1.ผู้ติดเชื้อต้องมีจำนวนไม่มาก แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นศูนย์ 2.ความสามารถในการรองรับเตียงของรพ. คนที่ป่วย เสียชีวิตต้องไม่มากจนเกินขีดความสามารถของรพ. ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญคือไอซียูที่ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงต้องไม่ล้นมากจนเกินขีดความสามารถ โดยจะพิจารณาเป็นรายจังหวัด ไม่ใช่ภาพรวมของประเทศ อย่างเช่น จ.ภูเก็ต ก็มีการติดตามต่อเนื่องว่า สถานการณ์เตียงเพียงพอหรือไม่  ถ้ายังเพียงพอก็สามารถเปิดต่อได้ 3.ความครอบคลุมของวัคซีน และ4.ความร่วมมือของประชาชนทำตามหลักป้องกันตนเองทุกที่ทุกเวลาหรือ Universal preventionและมาตรการองค์กร สถานประกอบการ  
       “หลักๆจะดูความสามารถศักยภาพในการรองรับสถานการณ์ของหน่วยงานสาธารณสุขมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะถ้าผู้ติดเชื้อแล้วอาการเบาๆไม่เป็นไร สังเกตดูผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส เมื่อมีการติดเชื้อส่วนใหญ่จะอาการน้อย”นพ.โอภาสกล่าว  

ต้องทำ Covid Free setting 
        “ทุกฝ่ายต้องพร้อม” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ในกลวิธี/มาตรการหลักการควบคุมโรคเพื่อเปิดประเทศ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นำเสนอศบค.และได้รับความเห็นชอบ ระบุว่า ในส่วนของประชาชน ต้องปฏิบัติตามหลักUniversal Prevention ,ผู้สูงอายุและเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงได้ฉีดวัคซีนก่อน และเข้าถึงการคัดกรองโควิด19ด้วยATKที่ง่าย และถูก  ,การควบคุมโรค เชิงรุกเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง ชุมชนระบาดด้วยทีมหน่วยเคลื่อนที่ CCRT และจะต้องตรวจเร็ว รู้เร็ว แยกกักเร็ว รักษาเร็วด้วยATK และการดูแลในระบบHome Isolation และ Community Isolation
      มาตรการองค์กร  มีการทำบับเบิลแอนด์ซีลกับโรงงาน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง ,จัดการสภาพแวดล้อมและการคัดกรองATKในตลาด ชุมชนแออัด และชุมชนหนาแน่น  , จัดสภาพการทำงาน เดินทางที่ปลอดภัย โดยในส่วนของสายการบินจะใช้ “Digital Health Pass” บนแอปพลิเคชันหมอพร้อม ที่มีข้อมูลการฉีดวัคซีน ผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK หรือเคยติดเชื้อแล้ว ,การคัดกรองATK ในสถานที่ทำงาน องค์กรขนาดใหญ่ จัดกิจกรรม สถานที่ บริการสาธารณะภายใต้มาตรการ 3C  “ไม่แออัด ไม่ใกล้ชิด และไม่ปิดอับ” และผ่อนคลายการดำเนินการกิจการที่เสี่ยงสูงอย่างปลอดภัยด้วย “Covid Free setting”

        การทำ “Covid Free setting” มี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม ให้มีการเว้นระยะห่าง มีระบบระบายอากาศอย่างเหมาะสม, มีการรับวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็ม และมีผลการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เป็นลบ  2.ผู้ให้บริการ  พนักงานทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยจะต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือมีประวัติติดเชื้อใน ช่วง 1-3 เดือน และต้องจัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วันหรือตามความเสี่ยงทั้งนี้ขึ้นกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครกำหนดเป็นอื่นกรณีพบเหตุการณ์เพิ่มความเสี่ยง และ3.ผู้รับบริการ  ต้องมีใบรับรองหรือยืนยัน Covid Free Pass ก่อนเข้ารับบริการ โดยเฉพาะร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส หรือมีประวัติเคยติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจATKไม่พบเชื้อ  
     “หลักการ Covid Free setting จะเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด -19ให้ปลอดภัย ซึ่งในเดือนก.ย.จะดำเนินการตามความสมัครใจที่มีความพร้อม แต่ในเดือนต.ค.เป็นต้นจะไม่ใช่การขอความร่วมมือแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ย้ำ
   เปิดเรียน..ปลอดภัย 
      ในส่วนของการเปิดเรียน ที่จะดำเนินการในเร็ววันนี้ เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีการปิดเรียน ก็พบว่าจำนวนเด็กวัยเรียนติดโควิด-19 กว่า 1 แสนราย ในช่วง 5 เดือนเม.ย.- ส.ค.2564  แต่การกลับมาเปิดเรียนจะต้องสร้างความปลอดภัย ยึดแนวปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox Safety in School  เปิดเรียนอย่างปลอดภัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% และเข้ม 7 มาตรการ คือ 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus รายงานติดตามประเมินผลผ่าน MOECOVID 
        2.การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กย่อย Small Bubble ไม่ข้ามกลุ่ม  3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและโภชนาการ  4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและห้องเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน  5.โรงเรียนเตรียม School isolation กรณีพบผู้ติดเชื้อ 6. โรงเรียนต้องร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง ต้องควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนให้มีความปลอดภัย (Seal Route)  และ7.จัด “School Pass” สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ประกอบด้วยข้อมูลผลประเมินความเสี่ยงบุคคล ที่อาจใช้ไทยเซฟไทยหรือแอปฯ อื่น มีตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน หรือประวัติรับวัคซีน หรือประวัติตติดเชื้อในช่วง 1-3 เดือน 
      พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จะเพิ่มการสุ่มเฝ้าระวังตรวจด้วย ATK 1 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์ หากโรงเรียนอยู่พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จะเพิ่มประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้นเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ และพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เพิ่มมาตรการอีก 3 ข้อ คือ สถานประกอบกิจการกิจกรรมรอบรั้วสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting ,จัดทำ School Pass นักเรียน ครู และบุคลากร และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คนต่อห้องเรียนขนาดปกติ ตรวจ ATK 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงเป็น3 วันต่อสัปดาห์ นักเรียนเข้าถึงวัคซีนเพิ่มขึ้นตามมาตรการของ สธ. และกรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มการตรวจ ATK เป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ประเมินความเสี่ยงบุคคลทุกวัน
       บทเรียนการระบาดทุกระลอกที่ผ่านมา สอนไว้เป็นอย่างดีว่า แม้กำหนดมาตรการไว้เข้มอย่างไร หากมีเพียง 1 จุดที่หล่ะหลวม ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึง “ทั้งประเทศ”