"ผมจะกลับมา" แพทย์จุฬาฯ เคลียร์ปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมได้ผลใน 6 เดือน

"ผมจะกลับมา" แพทย์จุฬาฯ  เคลียร์ปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมได้ผลใน 6 เดือน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมระดับโลกของจุฬาฯ วิจัยพบเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำสามารถกระตุ้นรากผมให้เกิดใหม่บนหนังศีรษะได้ รักษา แก้ปัญหาผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้านจากพันธุกรรมเห็นผลใน 24 สัปดาห์

ผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้านเป็นอาการที่บั่นทอนความมั่นใจและคุณภาพชีวิตของหลายคน ไม่ว่าหญิง ชาย คนหนุ่มสาวหรือสูงวัย ผู้ที่มีปัญหานี้ขวนขวายหาแนวทางรักษาต่างๆ ทั้งเปลี่ยนแชมพู เปลี่ยนวิธีสระผม ตัดผมสั้น กินอาหารเสริม หลีกเลี่ยงการใช้เคมีกับหนังศีรษะฯลฯ แต่ปัญหาเส้นผมก็ยังแก้ไม่ตก เหตุหนึ่งเพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะสาเหตุของโรคผมบางผมร่วงที่มาจาก “พันธุกรรม”

รศ.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากและประสบความสำเร็จจากงานวิจัย “การใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำกระตุ้นหนังศีรษะสร้างเส้นผมเพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม” (Proteomic Analysis in Derma Papilla from Male Androgenetic Alopecia after Treatment with Low Level LaserTherapy)ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery - ISHRS) การันตีความสำเร็จว่าการใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำมีประสิทธิภาพกระตุ้นหนังศีรษะและสร้างเส้นผมได้ผลดีใน 24 สัปดาห์!

  • สัญญาณเตือน “ผมร่วงผิดปกติ”

“เมื่อใดที่ผมร่วงมากกว่าวันละ 70 – 100 เส้น นั่นคือสัญญาณผมร่วงผิดปกติ ที่ควรใส่ใจและรีบปรึกษาแพทย์”  รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว

โดยปกติผมร่วงตอนสระผม ไดร์ผม หวีผมในปริมาณหนึ่งได้ทุกวัน แต่หากพบผมร่วงมากผิดปกติ หรือผมร่วงระหว่างวัน เช่น ระหว่างกินข้าว ระหว่างเดินไปมา ระหว่างทำงาน ก็นับเป็นอีกสัญญาณของผมร่วงผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะได้แล้ว ส่วนในผู้ชายผมสั้น จะสังเกตผมร่วงในระหว่างวันยากกว่า ให้สังเกตตอนตื่นนอนว่ามีปริมาณผมร่วงมากน้อยแค่ไหนบนหมอน

 

  • เหตุปัญหาผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้าน

สำหรับผู้ชาย ลักษณะของภาวะผมบาง ผมร่วงจากพันธุกรรมมักมีลักษณะศีรษะด้านหน้าเถิกขึ้นไปเป็นรูปตัวเอ็ม หรือบางคนจะเริ่มมีผมบางบริเวณกลางกระหม่อม ซึ่งจะค่อยๆ ลามออกไปเรื่อยๆ ส่วนผู้หญิง อาการผมบางมักเริ่มบริเวณรอยแสก (ผม) ซึ่งจะทำให้ผมจะค่อยๆ เริ่มบางลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาเช่นกัน

“ทั้งนี้ ผมบางและผมร่วงจากพันธุกรรมมีลักษณะแตกต่างจากผมบางที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (Abnormal immune system หรือ Alopecia Areata)ที่ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมกลมๆ มีขนาดเท่าเหรียญ 10 บาทอยู่บริเวณหนังศีรษะ” รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าวเสริม

"ผมจะกลับมา" แพทย์จุฬาฯ  เคลียร์ปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมได้ผลใน 6 เดือน

รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร เผยสถิติว่าคนไทยประสบปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้านสูงถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทั้งความเครียด สภาพอากาศ และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเส้นผมและศีรษะล้านเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศชายจะเริ่มมีภาวะผมบางตั้งแต่อายุน้อยและอาการรุนแรงมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาผมและหนังศีรษะ  3 ประการ มีดังนี้

  1. การถ่ายทอดพันธุกรรม ยีนส์เด่นจากคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีภาวะผมบาง หรือมีปัญหาหนังศีรษะ
  2. ฮอร์โมนเพศชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนเพศชายจะไปเกาะที่รากผม ทำให้รากผมเส้นผมบางลงเรื่อย ๆ และหลุดร่วงได้ง่าย
  3. ปัจจัยแวดล้อม เช่น ความเครียด แสงแดด ภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะผมบาง ผมร่วงจากพันธุกรรม มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้

 

  • เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำคืนชีวิตให้เส้นผม

แนวทางการรักษาปัญหาผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้านจากพันธุกรรมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรับประทานยา Finasteride เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชายไม่ให้เกาะที่รากผม ช่วยชะลอให้ผมร่วงช้าลง หรือร่วงน้อยลง การทายาในกลุ่ม  Minoxidil ให้ทั่วบริเวณหนังศีรษะอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงเส้นผมให้อวบและหนาขึ้น การผ่าตัดปลูกผม ย้ายผมจากด้านหลังที่มีผมหนาแน่นมาแทนที่บริเวณด้านหน้าที่มีผมบาง วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางและผมร่วงค่อนข้างหนักมากแล้ว ข้อดีของวิธีนี้คือผมจะอยู่ไปตลอดชีวิต ดัด ย้อม สระหรือเล่นกีฬาต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ

ล่าสุด อีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ 2 รูปแบบ คือ

1.หมวกหรือหวีเลเซอร์ปลูกผม เป็นอุปกรณ์เสริม มีลักษณะเป็นหมวกหรือหวีปลูกผมที่ปล่อยแสงเลเซอร์สีแดง Low-level laser therapy (LLLT) กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างรากผมแบบเบา ๆ เหมาะกับ   ผู้ที่มีปัญหาผมบางในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง อุปกรณ์นี้พกพาสะดวก ใช้เองได้ที่บ้าน โดยใช้อุปกรณ์นี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 -20 นาทีต่อวันจะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยวิธีการ ชนิดของอุปกรณ์ และปริมาณการใช้งานที่เหมาะสมตามอาการของโรค

2. แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ ที่ปรับจากเลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขนส่วนเกินต่าง ๆ ให้เป็นเลเซอร์พลังงานต่ำ นำไปกระตุ้นรากผมทั่วหนังศีรษะ 

การรักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมบางในระยะเริ่มต้น คือ       มีอาการน้อย – ปานกลาง แต่จะไม่เหมาะกับคนที่มีอาการมากหรือหนังศีรษะล้านแล้วซึ่งคนไข้ควรทำเลเซอร์ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ครั้ง ห่างกันทุก 2 สัปดาห์ โดยระยะเวลาที่เริ่มเห็นผลคือ 5  ครั้งหลังจากเริ่มทำเลเซอร์ และจะเห็นผลชัดเจน 3 เดือนหลังจากทำการรักษาด้วยเลเซอร์แล้ว คนไข้มีผมงอกใหม่ เส้นผมแข็งแรงขึ้นรศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว

งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชียที่ได้รับการยืนยันประสิทธิภาพของกระบวนการรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มต่ำเพื่อขจัดปัญหาโรคผมร่วงจากพันธุกรรม และทำให้ รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร เป็นแพทย์หญิงไทยคนแรกที่คว้ารางวัลสูงสุด Platinum Follicle Award 2019 สำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีผลงานวิจัยด้านเส้นผมจากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS)

“แม้ผมบางผมร่วงจากพันธุกรรมเป็นเรื่องที่เราไม่สามามารถแก้ไขได้แล้ว แต่การรักษาในปัจจุบัน      เราสามารถยืดอายุเส้นผมและสุขภาพหนังศีรษะให้แข็งแรงยืนยาวออกไปได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารโดยเฉพาะโปรตีน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด” รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว

  • ช่องทางปรึกษาและรักษาโรคเส้นผม

เพจ “มีผมให้หวี by Bevitaรศ.ดร.พญ.รัชต์ธร เปิดกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊กชื่อ “มีผมให้หวี by Bevita” เพื่อรับฟัง พูดคุย และให้ความรู้เคล็ดลับการดูแลเส้นผม การแก้ปัญหาผมบาง ผมร่วงหนังศีรษะล้านอย่างใกล้ชิด เป็นกันเอง ภายใต้หลักการทางการแพทย์

  • คลินิกโรคเส้นผมและหนังศีรษะ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องหนังศีรษะและเส้นผมบาง ผมร่วง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คลินิกโรคเส้นผมและหนังศีรษะ แผนกผิวหนัง อาคาร ภปร ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 0-2256-4000