ไทยเตรียมนำเข้า 'ยารักษาโควิด19' ตัวแรก

ไทยเตรียมนำเข้า 'ยารักษาโควิด19' ตัวแรก

ไทยเตรียมสั่งนำเข้า ‘โมลนูพิราเวียร์’ ยาตัวแรกรักษาโควิดโดยเฉพาะ คาดรู้ผลวิจัยเบื้องต้นสิ้นก.ย. หากสำเร็จเข้าไทยราวพ.ย.นี้ 

      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 ก.ย. 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “แนวทางการรักษาโรคโควิด19 และการบริหารจัดการเตียง”  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การระบาดสายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ เช่น สายพันธุ์มิว ที่อาจหลบหนีวัคซีนหรือหนีภูมิคุ้มกันได้ดี ในเรื่องของยาขณะนี้ในต่างประเทศ มีการวิจัยยาหลายตัวในระยะที่ 2 เข้าระยะที่ 3 และจะได้ผลสิ้นเดือน ก.ย. ,ต.ค. หรือ พ.ย.  ซึ่งสธ.ไม่นิ่งนอนใจ ได้หารือกับบริษัทผู้แทนยาของต่างประเทศทั้งหมด เช่น โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท MSD , Protease Inhibitor (โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์) ของบริษัทไฟเซอร์ โดยเได้พูดคุยเจรจาว่า หากทดลองในระยะที่ 3 ได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ประเทศไทยจะรีบนำมาใช้ในการระบาดรอบถัดไป อ่านข่าว-เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

    

     

นอกจากนี้ การศึกษาการใช้ยาในไทยเอง ทั้งคณะแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ ของกรุงเทพมหานคร ของกรมแพทย์ ก็ได้แบ่งหน้าที่กันประเมิน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรืออื่นๆ ที่ใช้กันอยู่ โดยผลศึกษาวิจัยจะทยอยออกมาในเดือน 1-2 เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่วงปีที่ผ่านมาผู้ป่วยอื่นอาจเสียโอกาสไปบ้าง ตอนนี้กำลังเตรียมการแพทย์วิถีใหม่ที่ทำมาตลอด แต่จะดำเนินการให้มากขึ้น และจะเปลี่ยนกะของบุคลากรส่วนอื่นๆ ที่ดึงมาดูแลผู้ป่วยโควิด ก็จะหมุนเวียนให้กลับไปทำหน้าที่ แต่จะใช้เทคนิคดิจิทัลอื่นเข้ามาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณบุคลากรแพทย์ที่เหนื่อยมาตลอด 4 เดือน และได้รับคำยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต

 นพ.สมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังการแถลงข่าวว่า  กรณีการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินมาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19นั้น เท่าที่ทราบศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ หรือCDC และงานวิจัยในต่างประเทศอีกฉบับ ไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนการวิจัยในประเทศไทย ศิริราชกำลังดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้

     ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir)ที่จะเป็นยาตัวแรกที่จะใช้เฉพาะโรคโควิด 19นั้น คาดว่าจะทราบผลการวิจัยระยะที่ 3 เบื้องต้นในสิ้นเดือนก.ย.นี้  หากผลสำเร็จ บริษัทวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สหรัฐอเมริกาในเดือนต.ค.นี้ ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นเทียนกับอย.ภายในพ.ย.นี้ และจะมีการสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ หากยาตัวนี้สำเร็จจะมีการนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกัน คือ การยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด 19 ซึ่งจะใช้ 40 เม็ด  5 วันต่อผู้ป่วย 1 คน ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย