‘ปิดโรงสอน’ แต่ ‘เปิดการเรียนรู้’ ที่บ้านด้วยความเข้าใจวัยประถม

‘ปิดโรงสอน’ แต่ ‘เปิดการเรียนรู้’ ที่บ้านด้วยความเข้าใจวัยประถม

สร้างนักสำรวจวัยประถม เปลี่ยนจากการบ่มเพาะเป็นมอบโอกาสที่เด็กจะเรียนรู้เพื่อเติบโตด้วยศักยภาพของตัวเอง โดยมีมือครูคอยประคองและหยิบยื่นเครื่องมือให้พวกเขา

ช่วงวัยของเด็กที่มีความเป็น นักสำรวจ มากที่สุดคือ วัยประถม ทั้งสำรวจและเรียนรู้โลก แต่ข้อจำกัดจากสถานการณ์ โควิด-19 กลายเป็นกรอบของเด็กประถมยุคนี้

การเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอคือวิธีการแก้ปัญหาการศึกษาให้ดำเนินต่อไปได้ แต่การ  ปิดโรงสอน ที่ดีจะต้อง เปิดการเรียนรู้ ให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย ได้ใช้ความเป็น “นักสำรวจ” อย่างเต็มที่จากการลงมือทำอย่างเด็กประถมต้น และสำรวจโลกนี้อย่างซับซ้อนมากขึ้นแบบเด็กประถมปลาย

163055881344

  • ครูคือแรงส่งให้นักสำรวจ

เมื่อโรงเรียนปิดแล้วเด็กต้อง “เรียนออนไลน์” การเรียนรู้อยู่บ้านจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรเวลาที่ดี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเด็ก ผู้ปกครอง และครู

ครูเต้ย” โกเมน อ้อชัยภูมิ ครูใหญ่โรงเรียนประถมรุ่งอรุณ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ "ล็อกดาวน์" ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง”- Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ถึงรูปแบบการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาว่า ต้องไม่ลืมธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูต้องคิดถึงชีวิตตอนเด็กอยู่ที่บ้านว่าอะไรเหมาะกับเด็ก หรือจะช่วยให้เด็กและผู้ปกครองจัดการเวลาได้อย่างไร โรงเรียนประถมรุ่งอรุณใช้วิธีแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้ครูมีโอกาสเจอนักเรียนอย่างใกล้ชิด ครั้งละ 5-8 คนตามพื้นฐานของนักเรียน

“แต่หลักสำคัญคือหน้าจอ เราพิสูจน์แล้วว่าหน้าจอที่เด็กๆ เห็นครู หรือว่าครูเห็นเด็ก ถ้าเยอะเกินไปจะไม่สามารถดูแลเด็กๆ ได้ทั้งหมดเลย ก็เท่ากับว่าทิ้งเด็กอีกหลายคนไปอยู่ข้างหลัง เราจึงออกแบบเป็นกลุ่มย่อย ถ้ากลุ่มย่อยมี 5 คน เรียน 30 นาที หารเฉลี่ยเขาจะได้คนละ 6 นาที ถ้าเทียบกับห้องเรียนจริงๆ 50 นาที นักเรียน 25 คน ได้คนละ 2 นาทีเองครับ ถ้ามองให้คุ้มค่าจริงๆ เราต้องมองโอกาสสร้างคุณค่าใน 30 นาทีนี้ได้ เด็กจะได้การเรียนรู้มากเช่นกัน การเรียนออนไลน์เปิดโอกาสให้เรา กลุ่มย่อย กลุ่มน้อย คุณครูจะเข้าถึงเด็กมากกว่า”

นอกจากแบ่งกลุ่มให้ครูดูแลเด็กอย่างทั่วถึง บทบาทต่อมาของครูคือเตรียมชุดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน เช่น หนังสือหลักและหนังสืออ่านเสริม ใบงาน แผ่นบอร์ดเกมเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน และอุปกรณ์สำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์และงานศิลปะ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนสร้างประสบการณ์ตรงจากการทำงานจริง ครูเต้ยบอกว่าครูจึงเปรียบเสมือนโค้ช เพื่อให้การเรียนรู้ที่บ้านมีประสิทธิภาพ

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องคุยกันผ่าน PLC ให้สอดรับกับแผนการสอนรายสัปดาห์ สองสัปดาห์ หรือสามสัปดาห์ได้อย่างไร เรื่องนี้ครูต้องมองภาพรวมใหญ่ๆ ให้ออกก่อนว่าแต่ละวิชาเราเตรียมกระบวนการอะไรให้เราเกิดการเรียนรู้ที่บ้านได้ เพราะว่าเรามีเวลาจำกัด สิ่งที่จะทำได้คือ โจทย์ต้องโดน, สื่อต้องโดน และกิจกรรมต้องโดน ไม่อย่างนั้นเราจะเสียโอกาสไปเลยในสองสัปดาห์นั้น”

163055881389

  • ให้โจทย์ที่ท้าทาย คือกุญแจไขความลับการเรียนรู้ที่เด็กเป็นเจ้าของ

ครูเต้ยยกตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ด้วยผลงาน “ละครหุ่นเงา เรื่องสุดสาคร” ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยอธิบายว่าละครหุ่นเงาเรื่องนี้เกิดจากการให้โจทย์ไปกับเด็กชั้นป.3 ที่กำลังเรียนเรื่องสุดสาคร ให้นำเสนอความสนุกและข้อคิดของสุดสาครผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการทำงานเป็นทีม ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก ไม่เพียงแค่กับเด็ก แต่กับครูผู้สอนก็ต้องวางแผนขนานใหญ่

“ครูปรับจากการเล่าเรื่องสุดสาคร หรือสอนสุดสาครทั้งหมด ให้เด็กได้เป็นเจ้าของเรื่องสุดสาครด้วยตัวเขาเอง เราได้เห็นว่าเขาใช้หลากหลายความสามารถมาก ทั้งการแสดง การตั้งหน้าจอให้เชิดหุ่นแล้วตรงกับหน้าจอ พอดีกับที่คนมองให้ชัด เขาต้องทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนได้ความสัมพันธ์ของแสงของเงา เขาทดลองทำแล้วมา Reflection กับครูอยู่เป็นประจำ เพราะโจทย์นี้เขาเป็นเจ้าของทั้งหมด โจทย์จึงเป็นพลังสำคัญของการเรียนรู้ที่บ้านได้”

กว่าจะมาเป็นละครหุ่นเงา เด็กๆ ได้รู้และเข้าใจอะไรมากมาย อาทิ ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของการเกิดเงา ได้แก่ แหล่งกำเนิดแสง (ธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น), วัตถุ (หุ่นเงา) และฉากรับ (โรงละครหุ่นเงา)

ในเรื่องการออกแบบ พวกเขาได้กำหนดระยะของแหล่งกำเนิดแสง เพื่อให้กระทบหุ่นและปรากฏเป็นหุ่นเงาบนฉากรับที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของระยะ ทิศทาง ตำแหน่ง

หรือทักษะด้านภาษาไทย เด็กๆ ได้วิเคราะห์ ตีความ เข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกตัวละคร และความหมายของบทละคร แล้วสื่อสารโดยการพากย์เสียงตามบทบาท และเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร โจทย์จึงเป็นพลังสำคัญให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้านได้

“ผู้ปกครองเล่าให้ครูฟังว่า ลูกๆ ไม่ให้พวกเขายุ่งกับการสร้างสรรค์ละครเรื่องนี้เลย ลูกเขาบอกว่าจัดการเองได้ พ่อแม่ไปรอดูได้เลย เพราะมีบางกลุ่มที่เขาต้องฉายสด ต้องไปรอดูอยู่ตรงหน้าจอตอนที่แสดงสดกับเพื่อนเขาทั้งหมด ตัวพ่อแม่เองสะท้อนว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้รอบด้าน จัดการประสบการณ์ได้ดี เคารพซึ่งกันและกัน ทำงานกลุ่มได้อย่างมีความสุข มีความเห็นใจช่วยเหลือกัน ถือว่าประสบความสำเร็จในการศึกษาทุกมิติ รู้รอบ รู้ลึก รู้รักษ์ ริเริ่มสร้างสรรค์ นี่จึงเป็นการสะท้อนสมรรถนะจากสายตาผู้ปกครองว่าการให้โจทย์ที่ดี การปิดโรงสอนแล้วโยนโจทย์ให้เด็กเรียนรู้เอง มีอิมแพคสูงมาก”

163055881371

  • โขนออนไลน์ ตัวอย่างเชิงประจักษ์การ Reskill Upskill

การออกแบบการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นเจ้าของภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เกิดเป็นทั้งการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) และทำให้ดีขึ้น (Upskill) ซึ่งการนำสมรรถนะมาเป็นเป้าหมายการออกแบบการเรียนรู้และการประเมินผลในการออกแบบการเรียนรู้เชิงสมรรถนะ ครูของโรงเรียนประถมรุ่งอรุณใช้วงประชุม PLC เป็นการทำงานเพื่อการเรียนรู้ของครู เพื่อทำความเข้าใจการการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน

ในทุกช่วงชั้น รวมถึงระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายได้ข้อสรุปเป็นการออกแบบการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในช่วงที่นักเรียนอยู่ที่บ้าน ซึ่งนักเรียนต้องพึ่งพาตัวเองมากที่สุด ครูจึงออกแบบว่าต้องเอานักเรียนเป็นตัวตั้ง แล้วดูว่าถ้าเราให้โจทย์นี้ ทำกิจกรรมแบบนี้ นักเรียนจะเข้าใจอย่างไร

โจทย์หรืองานที่ครูมอบหมายให้เด็กจะต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเราจะเรียนรู้เป็นความรู้อะไร ทักษะอะไร ทัศนคติหรือคุณค่าอะไรที่ควรจะออกแบบให้เด็กเกิดผลจริงๆ

สำหรับในช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โขนออนไลน์ เป็นตัวอย่างสำคัญของการคิดโจทย์การเรียนรู้ในขณะที่ “ปิดโรงสอน” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เด็กๆ ได้เรียนจริง ฝึกจริง และแสดงจริง

“โขนออนไลน์” ของโรงเรียนประถมรุ่งอรุณเป็นเครื่องมือการสอนวิชาภาษาไทย เรื่องรามเกียรติ์ นอกเหนือจากเด็กได้อ่านวรรณคดีแล้วยังจัดการเรียนโขนมาเพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงตัวละครผ่านการสวมบทบาท เพื่อเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกควบคู่ไปกับการเรียนวรรณคดี

ในช่วงสถานการณ์ “โควิด-19” แบบนี้จากการเรียนโขนปกติที่โรงเรียนจึงกลายเป็น “โขนออนไลน์” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และวิทยาลัยนาฏศิลป์ ถ่ายทอดการสอนทั้งตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ และลิง ให้เด็กได้เรียนแบบออนไลน์ในระยะเวลาเรียนเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และผู้สอนไม่มีโอกาสเจอหน้าผู้เรียน ทว่าผลลัพธ์คือเด็กใส่ใจ ตั้งใจเรียนมาก

เสียงสะท้อนจากนักเรียนจำนวนหนึ่งบอกว่าทีแรกคิดว่าไม่น่าสนุก แต่เมื่อเรียนจริงกลับไม่เป็นอย่างคาด ถึงจะยากแต่ครูทุกคนที่สอนก็ช่วยเหลือให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้

“ตอนแรกที่ยังไม่เคยเรียนโขนก็คิดว่าจะไม่สนุก แต่พอได้มาเรียนก็รู้สึกสนุกมากและรู้สึกดีใจที่ได้เรียน”

“ประทับใจที่ครูไม่กดดันเรา แล้วก็ใจดีด้วย ครูสอนสนุก เวลามีคำถามแล้วเราถามคุณครูก็จะช่วยทำซ้ำให้ดูอีกครั้งหนึ่งจนเริ่มทำเป็น”

“ขอบคุณครูทุกท่านที่มาช่วยสอนศิลปะประจำชาติของไทยให้พวกเรา เพราะโขนคงไม่ได้หาเรียนง่ายๆ ก็ดีใจที่ได้มาเรียน แล้วครูก็สอนสนุกมากครับ”

ครูเต้ยเล่าว่าหลังจากเด็กๆ ได้เรียนโขนออนไลน์ นอกจากความรู้เรื่องวรรณคดีกับทักษะต่างๆ ที่มีการ Reskill Upskill เขายังได้ประหลาดใจกับทัศนคติของเด็กประถมที่มีต่อคุณครูของพวกเขา ที่กลับกลายเป็นโจทย์สำคัญของครูยุคนี้เลยทีเดียว

“มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าผมเข้าใจคุณครูนะครับว่าคุณครูก็ต้องปรับตัว ผมจะอธิบายตรงนี้ว่าเด็กๆ เองเขาให้โอกาสเรานะครับ เขาให้โอกาสครู และเขาก็ให้โอกาสครูอย่างนอบน้อมด้วย ถ้าเราไม่ปรับตัวอาจไม่ทันเขา ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ โจทย์สำคัญคือครูต้องปรับตัวให้ทันเด็ก”