รีบ!ไปฉีดวัคซีนที่ "ศูนย์กลางบางซื่อ" ปลายปีนี้ย้ายศูนย์ฯแล้วนะ 

รีบ!ไปฉีดวัคซีนที่ "ศูนย์กลางบางซื่อ" ปลายปีนี้ย้ายศูนย์ฯแล้วนะ 

ตอนนี้“ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ”ได้ชื่อว่ามีระบบการจัดการที่ดี เข้าถึงบริการได้ง่าย มีทั้งเจ้าหน้าที่และจิตอาสาช่วยกันทำงาน และนี่คือเรื่องราวของคนทำงานที่นั่น...

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังคงอยู่ และคงมีระลอก 4 ในเร็ววัน ถ้าการฉีดวัคซีนในประเทศยังไม่สามารถไปถึงจุดที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โรงพยาบาลหลายแห่งถูกกำหนดให้เป็นจุดฉีดวัคซีน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม จึงได้ร่วมมือกันจัดเตรียมสถานที่ พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีพื้นที่กว่า 14,294 ตารางเมตร ให้เป็นสถานที่หลักสำหรับฉีดวัคซีนโควิดฟรีแก่ประชาชน ภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อ’ (Central Vaccination Center)

 

เพื่อลดความแออัดการเข้าใช้บริการในสถานพยาบาล ตามแผนการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น สามารถรองรับผู้ใช้บริการเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน มีบุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสาที่พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 400 คน

162460815160

  • การจัดการศูนย์ฉีดวัคซีน

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีพื้นที่กว้างใหญ่ คนมาใช้บริการก็มาก พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า

"ที่นี่เปิดให้บริการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2564 โดยบุคลากรจากสถาบันโรคผิวหนัง ให้กับผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะและเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยฉีดให้กับคน 2 กลุ่มคือ กลุ่มองค์กร 5,000 คนต่อวัน และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนนัดหมาย"

ต่อมา วันที่ 15 มิถุนายน 2564 มีผู้ตกหล่นได้รับผลกระทบจากการจองคิวฉีดวัคซีนจากหมอพร้อม จำนวนมาก จึงให้สถานที่นี้รองรับ

"ใน 2 กลุ่มหลัก คือผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป กับกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังที่จองผ่านระบบหมอพร้อมที่มีปัญหาไม่ได้รับวัคซีนตามนัด 2 กลุ่มนี้ต้องได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ป่วยแล้วมีโอกาสเข้าห้องไอซียูและเสี่ยงเสียชีวิต

วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนมี 3 ข้อ คือ 1)ลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต 2)เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ 3)ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคุมป้องกันโรค" นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กล่าวถึงความจำเป็น 

สำหรับใครที่ลงทะเบียน 'หมอพร้อม' แล้วถูกเลื่อน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แนะนำว่า "ให้โทรไปเช็กอีกรอบว่า รพ.เลื่อนกลับมาแล้วหรือยัง หากสมัครใจไปรพ.ตามเดิมย่อมได้

เพียงแต่ศูนย์วัคซีนบางซื่อเป็นตัวเลือกให้เท่านั้น บางรายถูกเลื่อนไปเดือน ก.ค. ไม่อยากรอ ก็สามารถฉีดที่บางซื่อได้ โดยโทรไปที่เบอร์กลางหมอพร้อม 0-2792-2333  มี 200 คู่สายจะแนะนำท่าน และจะนัดผ่าน SMS ให้" เนื่องจาก ศูนย์กลางบางซื่อไม่รับ Walk In

162460837233 พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ

  • คนมามาก คนช่วยน้อย

พญ.มิ่งขวัญ เล่าว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ศูนย์กลางบางซื่อแห่งนี้ ทำงานกันหนักมาก ตั้งแต่เช้าถึงสามทุ่ม ไม่ได้หยุดกันเลย

"ในช่วงแรกของการทำงาน เราช่วยกันหาเจ้าหน้าที่ภายในกรมฯและกระทรวงกันเอง ทั้งฝ่ายบุคลากรของกรม, เจ้าหน้าที่ที่เกษียณไปแล้ว หรือเจ้าหน้าที่ที่ลาออกไป ส่วนการหาอาสาสมัครในวงกว้าง เราก็ให้สมัครมาด้วยตนเอง ผ่านทางสื่อต่างๆ หรือแอดไลน์มาที่ @CVC_Volunteer 

เราจะแบ่งจิตอาสาออกเป็น 2 ประเภท 1)จิตอาสาประเภทวิชาชีพทางแพทย์ ซึ่งมีเพียง 3 สาขาเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนได้เช่น แพทย์, พยาบาล, ทันตแพทย์ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เช่น เภสัช, เทคนิคการแพทย์ เขาไม่อนุญาตให้ฉีด ก็ไปดูแลเรื่องวัคซีน เรื่องระบบการลงทะเบียน เฝ้าระวังสังเกตอาการ 2)จิตอาสาสนับสนุนทั่วไป ก็มาช่วยลงทะเบียน ช่วยจัดคิว ช่วยเดินยา

การมีจิตอาสา ช่วยให้การทำงานไม่ชะงักหรือหยุดให้บริการ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนที่ถูกลักษณะมากขึ้น ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังควงกะอยู่ที่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม เราทำมา 31 วันแล้ว ไม่มีหยุดพักเสาร์อาทิตย์เลย มีแต่สลับกันหยุดได้บ้าง 

เราก็ไม่ได้หวังว่าอาสาจะต้องมาทำงานเหมือนเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ว่าให้มาช่วยตอนที่เจ้าหน้าที่พักทานข้าว บางท่านสะดวกมาเช้า บางท่านสะดวกมาช่วงเย็น เราก็มีช่วงเวลาให้เลือก ตามความสะดวกของท่าน"

คุณหมอมิ่งขวัญบอกว่า จิตอาสาที่เป็นแพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าแต่ละวันจะมามากน้อยแค่ไหน จึงต้องวางบุคลากรทางการแพทย์หลักๆ ไว้เป็นพื้นฐาน

"ตามแผนที่วางไว้ ที่นี่จะฉีดไปถึง 30 พฤศจิกายน วัคซีนหลักของเราเป็นเอสตร้าเซนเนก้า เข็มหนึ่งเข็มสองห่างกันสามเดือน คือ 12 สัปดาห์ เราจะฉีดเข็มหนึ่งไปถึงปลายสิงหาคม ฉีดไป 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้นคล้ายกับการฉีดวัคซีน 2 เข็มในยี่ห้ออื่น หลังจากครบ 12 สัปดาห์ก็จะเป็นกันยายน-พฤศจิกายน ก็ฉีดเข็มสอง ถ้าเราฉีด 2 เข็ม ก็ปิดจ๊อบได้ประมาณพฤศจิกายน

แต่ถ้ามีฉีดเข็มสาม หรือมีระลอกใหม่เกิดขึ้น เราก็ทำต่อเนื่องได้ เพียงแต่ต้องย้ายสถานที่ไปมักกะสัน เนื่องจากปลายปีนี้ที่นี่จะเปิดทำการเป็นสถานีรถไฟจริงๆ แล้ว สถานที่ฉีดยาสำรองตอนนี้ ก็คือ ที่มักกะสัน"

ที่ผ่านมา 31 วัน สามารถฉีดวัคซีนไปแล้ว 400,000 กว่าโดส วันหนึ่งเฉลี่ย 13,000- 1,4000 โดส ในช่วงหลังๆ ฉีดวันละ 20,000 โดส คุณหมอมิ่งขวัญ บอกว่า การทำงานทุกอย่างเป็นไปด้วยดี 

"เราเอาคนจากสถาบันโรคผิวหนังมาช่วยได้ร้อยกว่าคน ที่เหลือก็จะเป็นการร่วมมือร่วมใจจากส่วนต่างๆ เช่น ในกรมการแพทย์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, สถาบันทันตกรรม, วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนก, วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี, นครสวรรค์, โรงพยาบาลมะเร็งอุบลฯ อุดรฯ ลพบุรี จังหวัดไหนที่สถานการณ์ยังไม่หนักก็ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยกัน สมกับที่เป็นวาระแห่งชาติ ไม่งั้นประเทศเราก็จะขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้"

162460846297

  • จิตอาสามาด้วยใจ

ณ จุดบริการที่ 4 วีรยุทธ เพ็ชรแกมทอง อายุ 44 ปี อาชีพหลักเป็น ฌาปนสถาน ที่วัดสร้อยทอง กำลังช่วยเหลือผู้มาฉีดวัคซีนอย่างตั้งใจ เขาเล่าถึงการทำงานในสถานที่แห่งนี้ให้ฟังว่า

"ผมเริ่มมาทำงานเป็นจิตอาสาที่นี่ตอนเขาเปิดศูนย์กลางบางซื่อได้หนึ่งอาทิตย์ มีประชากรมาก แล้วจิตอาสาช่วงแรกน้อยมาก ก็เลยประสานกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ขอเข้ามาช่วยทุกวัน คนของมูลนิธิจะมาช่วยงานประจำวันหนึ่งประมาณ 10 คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัครหมุนเวียน วันไหนใครอยากมาช่วยก็แจ้งความประสงค์ไว้

ช่วงแรกเราไม่มีระบบ ใครอยากจะมาช่วยก็มา แต่วันหลังๆ เริ่มเป็นระบบ ไปประจำตามจุดต่างๆ ที่นี่มีจุดบริการพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางด้วย เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เขาสามารถลงทะเบียนแล้วฉีดวัคซีนได้ตรงนั้นเลย มีอาสาสมัครคอยช่วยบริการ ให้คำแนะนำ เข็นรถไปลงทะเบียน เข็นไปหาหมอฉีดวัคซีน เฝ้าดูอาการให้เรียบร้อย แล้วเข็นกลับมาส่งข้างหน้า"

162460849666

วีรยุทธ เพ็ชรแกมทอง 

พอทีมฉีดวัคซีนเสร็จ ก็เป็นหน้าที่ของเขาจุดที่ 4 คอยเฝ้าสังเกตอาการ 30 นาที ทั้งหมดมี 7 โซน ก็คอยดูจนครบเวลา แล้วถามว่ามีอาการอะไรไหม เวียนศีรษะไหม 

"จากนั้นก็ปั๊มบัตรแล้วคืนให้เขาพร้อมบอกว่า พี่ต้องงดชากาแฟ 1 วันนะ แล้วก็แอลกอฮอล์ 3 วันนะ หลังจากนี้ก็ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนเยอะๆ อย่าเพิ่งไปออกกำลังกายหรือไปยกของหนัก เราต้องประชาสัมพันธ์ทุกคนก่อนที่จะออกไป เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญ บางคนออกไปแล้วก็ไม่เข้าใจในการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน แล้วให้เขาออกประตูด้านหลัง ไม่มีการเดินย้อน" วีรยุทธ เล่าและบอกว่า 

หน้าที่ของอาสาก็คือ 1)คอยประชาสัมพันธ์ 2)คอยบริการประชาชนที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย 3)คอยสังเกตอาการ ไม่เข้าใจอะไรเราก็จะได้บอก

ส่วนงานประจำ เขาบอกว่า เป็นเจ้าหน้าที่ฌาปนสถานอยู่ที่วัดสร้อยทอง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า สัปเหร่อ 

"ไม่ได้เป็นคนเผาศพนะ เป็นคนนิมนต์พระนำสวด คอยจัดสถานที่ งานเริ่มตั้งแต่หกโมงเย็น เราชอบการเป็นจิตอาสา ตรงที่ได้ช่วยเหลือสังคม ผมเป็นอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูมา 25-26 ปีแล้ว ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเก็บร่างผู้เสียชีวิต พอมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามา มูลนิธิก็ส่งไปอบรมความรู้การแพทย์ฉุกเฉิน ทุกคนต้องมีใบประกาศ มีความรู้เบื้องต้น 

กับสถานการณ์โควิดในขณะนี้ ผมคิดว่างานที่ศูนย์บางซื่อนี่คงจะยาวเป็นปีๆ แน่ เพราะเราต้องให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนอีกเยอะ และมีฉีดทุกวัน ครับ"

  • รายได้ไม่ดี เป็นจิตอาสาดีกว่า

จิตอาสาคนต่อมา จุฑามาศ กาญจนโกมล อาชีพร้อยพวงมาลัยขาย วัย 30 ปี เล่าเรื่องการทำงานที่ผ่านมาให้ฟังว่า

"เบสท์มาเป็นจิตอาสาตั้งแต่ช่วงแรกๆ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เบสท์มีฉีดวัคซีนที่นี่ พอฉีดเสร็จก็มาช่วยมูลนิธิร่วมกตัญญูเลย มาช่วยแบ่งเบางานของเจ้าหน้าที่ ตอนแรกที่เข้ามาจะอยู่ที่ประตู 2 คอยดูคนที่มาฉีดวัคซีน เช่น ผู้สูงอายุที่เดินไม่สะดวก นั่งรถเข็น เบสท์ก็คอยเข็นให้มาที่จุดลงทะเบียนแล้วทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่พยาบาลบอกว่าให้ไปตรงไหนบ้าง

162460866921

ช่วงต่อมา เบสท์ก็ได้เข้าไปทำที่จุดอื่นๆ เช่น จุดสังเกตอาการ คอยดูผู้ที่นั่งรอสังเกตอาการ ในตอนนี้เบสท์สามารถทำงานประจำอยู่แทบทุกจุดได้แล้ว มีอยู่ประมาณ 4 จุด

การมาเป็นอาสาสมัครของที่นี่ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรนะ อันดับแรกคือเราต้องเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีค่าตอบแทน มีแต่ใจตั้งมั่นของเราอย่างเดียวที่อยากจะช่วยเหลือ อีกอย่างบ้านของเบสท์อยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อด้วย เบสท์ก็ขับมอเตอร์ไซค์มาเองค่ะ

ส่วนงานประจำร้อยมาลัยขาย ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีเพราะมีโควิด มันขาดทุน เลยต้องหยุดไปก่อน ถึงได้มีเวลามาช่วยงานจิตอาสาตรงนี้เต็มที่ ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด จะขายเฉพาะวันโกนกับวันพระ ก่อนหน้าวันโกนหนึ่งวันเบสท์จะไปซื้อมะลิ ซื้อดอกรัก ซื้อดาวเรือง มาเตรียมร้อย พอเช้าตีสี่ครึ่งวันโกน เบสท์ก็เข็นรถออกไปขายที่หน้าปากซอย 

162460872217 จุฑามาศ กาญจนโกมล 

ขายช่วงเช้าสองชั่วโมงแล้วพัก ขับมอเตอร์ไซค์ไปปากคลองตลาด ไปซื้อดอกไม้ ไปดูกระถางดอกไม้ที่ลูกค้าสั่งมา เพื่อเอามาให้เขาในช่วงบ่าย ช่วงเย็นก็ขายต่อ ตั้งแต่เรียนจบเบสท์ทำอาชีพนี้มาตลอด บางทีเอาข้าวเหนียวสังขยา ขนมปัง ขนมต่างๆ มาขายด้วย แต่พอโควิดมา รอบแรกเงียบไม่มาก รอบสองยังพอได้ แต่รอบสามนี่สงัดเลยค่ะ

การทำงานจิตอาสา ทำให้มีความสุขใจ เช่น คำพูดว่า ขอบคุณนะลูก, ขอบคุณนะ แค่นี้ก็เป็นความสุขสำหรับเบสท์แล้ว ชื่นใจค่ะ ปกติเบสท์จะมาช่วยงานตั้งแต่ช่วงเช้า ไม่ก็ช่วงสาย แล้วก็อยู่จนงานเลิกเลยค่ะ

พี่ๆ คนไหนว่าง แล้วมีใจอยากให้มาช่วยงานเป็นจิตอาสา ตรงนี้หน่อยค่ะ เพื่อแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ทุกวันนี้พี่ๆ ทุกคนเขาเหนื่อยมากค่ะ ในสถานการณ์โควิด ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน มาฉีดวัคซีน ถ้าทุกคนไม่ฉีด เศรษฐกิจก็ไม่กลับมา มันก็จะไม่ไปไหนเลย"

สำหรับคนที่อยากช่วยหรืออยากมาเป็นอาสามูลนิธิร่วมกตัญญูก็สมัครมาได้ที่เบอร์ 02 751 0944-8

..........................

ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดกลางบางซื่อ’ ยินดีรับการสนับสนุนในเรื่องของอาหารและน้ำดื่ม ผู้บริจาคสามารถนำใบบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้