ส่องผลกระทบ 'บุหรี่ - โควิด 19' อันตรายคูณสอง ต้องรู้ !

ส่องผลกระทบ 'บุหรี่ - โควิด 19' อันตรายคูณสอง ต้องรู้ !

เป็นที่ทราบกันดีว่า "บุหรี่" ส่งผลต่อร่างกายไม่เพียงแค่ปอด และหากเกิดติดเชื้อโควิด 19 ร่วมด้วย ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้อาการย้ำแย่ซ้ำซ้อน และปอดอักเสบทวีคูณ เพิ่มอัตราตาย 1.58 เท่า ไม่เพียงแค่นั้น ยังทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่ฉีดลดลงถึง 40%

จากข้อมูลในปี 2562 พบว่า บุหรี่ เป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตกว่า 70,953 ราย จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 แสนกว่าราย เป็นผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองจำนวน 9,435 คน และยังพบว่าคนไทยที่สูบบุหรี่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ยอายุ 22 ปี ซึ่งก่อนเสียชีวิตรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉพาะกรณีป่วยต้องนอนโรงพยาบาลสูงถึง 38,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากดูภาระค่าใช้จ่ายระดับครัวเรือน พบว่า เฉลี่ยซื้อบุหรี่มาสูบต่อเดือน 546 บาท โดยกลุ่มยากจนที่สุดต้องเสียเงินไปกับบุหรี่เกือบ 20% ของรายได้ต่อดือน ขณะที่ใน กทม. กลุ่มยากจนที่สุดต้องเสียเงินไปกับบุหรี่เกือบ 40% ของรายได้ต่อเดือน

  • สูบบุหรี่ ติดโควิดง่าย ตายสูง วัคซีนได้ผลน้อย

วันนี้ (21 พ.ค. 64) เวลา 09.30 น. “ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวในงานแถลงข่าว วันงดสูบบุหรี่โลก 2564 โดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผ่านระบบ Zoom ว่า จากงานวิจัยล่าสุด ในเดือน ก.พ. 64 ซึ่งรวบรวม 109 การศึกษา รวมคนไข้ 517,020 ราย ทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ "สูบบุหรี่" จะป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้น 1.55 เท่า ต้องนอนไอซียูเพิ่ม 1.73 เท่า และเสียชีวิตเพิ่ม 1.58 เท่า นอกจากทำให้ป่วยรุนแรง เสียชีวิตสูง  

ขณะที่งานวิจัยโดยทีมวิจัยจากอิตาลี พบว่า การ "สูบบุหรี่" เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 (Anti SARS-Cov2 antibodies) ภายหลังจากได้รับวัคซีนประเภท COVID-19 mRNA ของ Pfizer/BioNTech ครบ 2 เข็ม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 86 คน ผลการศึกษา พบว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,099 U/ml ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ระดับ 1,921 U/ml หรืออาจจะกล่าวได้ว่า คนที่สูบบุหรี่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขึ้นต่ำคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40% 

ทั้งนี้ ยังมีความเข้าใจผิดว่าสูบบุหรี่ป้องกันโควิด 19 ได้ แต่งานวิจัยที่ออกมาพูดเรื่องนี้ถูกถอนการตีพิมพ์ออกไปแล้ว เพราะพบว่าผู้ทำการวิจัย มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทบุหรี่

 

  • "โควิด 19" อวัยวะล้มเหลวเป็นโดมิโน  

“รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา” เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า โควิดเป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา ภาพแท้จริงของผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาใน รพ. หลายคนมองว่าติดโควิดแค่ย้ายที่นอน 14 วัน จริงๆ แล้ว คนไข้ 10% ไม่ได้โชคดีแบบนั้น ท้ายที่สุดต้องลงเอยในการนอนไอซียู อาการหนัก บางรายต้องนอนคว่ำ 12 ชั่วโมง หรือบางคนต้องถูกล้างไตเพราะวิกฤติโควิดไม่ทำให้ปอดล้มเหลวอย่างเดียว แต่ทำให้อวัยวะหัวจรดเท้าล้มเหลวเป็นโดมิโน

โควิด 19 อวัยวะแรกที่จะโดนโจมตี คือ “ปอด” หายใจเองไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่แค่การเป็นปอดอักเสบ เพราะโควิดไม่ได้หยุดที่การติดเชื้อ พอให้ยาต้านไวรัส 5-7 วันแรก ปอดอาจจะดูดีขึ้น แต่ไม่นาน จะมีเวฟที่สองของคนไข้เกิดขึ้น คราวนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนขณะใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือไม่ก็เกิดปอดมีพังผืด จากการอักเสบจากการติดเชื้อ

จากการศึกษาใน 32 ประเทศ ผู้ป่วย 432 รายที่เป็นโควิด 19 และเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พบว่า อายุมากกว่า 55 ปี 24% ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ มาก่อน 24% อุดตันที่หลอดเลือดใหญ่ของสมอง 44% เสียชีวิต 30% และ อัมพาต ติดเตียงชั่วชีวิต 27% แต่ที่น่าสนใจ คือ มีประวัติสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในอายุน้อย 19.6%

  • บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า โอกาสติดโควิด 7 เท่า

ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสติดโควิดมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า แต่หากร่วมกับบุหรี่ธรรมดาเพิ่มโอกาสติดโควิดเป็น 7 เท่า มีโอกาสชักหลังจากเป็นโควิด 19 และปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าซ้ำเติมเข้าไป โดย ปอดอักเสบซ้ำ จะส่งผลให้การใช้ชีวิตไม่ปกติ ทำงานได้น้อยลง หอบเหนื่อยเร็วขึ้น ซึ่งโควิดและบุหรี่ทำให้ย้ำแย่ซ้ำซ้อนอักเสบเพิ่มทวีคูณ”  

  • เสี่ยงถูกตัดอวัยวะ (เพศ)

          

“ขณะที่ เซลล์เยื้อบุหลอดเลือด หากถูกโจมีตีด้วยสารพิษ สิ่งที่เกิดขึ้น หลอดเลือดตีบ ซึ่งหล่อเลี้ยงหัวใจ สมอง ปลายมือเท้า เซลล์เนื้อเยื้อต่างๆ ก็ตายไป บางกรณีเป็นที่อวัยวะเพศชาย หากตัน ก็ตัดอย่างเดียว สิ่งนี้เกิดได้ทั้งหัวใจ ปลายมือปลายเท้า สมอง อวัยวะเพศ และลำไส้ มีรายงานมาหมดแล้วในกรณีการแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ หลายคนคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย แต่บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดฝอยละออง ลอยไปไกลเกิน 10 เมตร ดังนั้น หากเจอคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าขอให้อยู่ห่าง เพราะอาจมีฝอยละอองลอยมาตามอากาศ อยากจะขอวิงวอนที่ยังสูบบุหรี่เลิกซ้ำเติมสถานการณ์ เลิกทำร้ายตัวเอง และคนอื่น

162246903730

  • อยากเลิกบุหรี่ 1600 ช่วยได้ 

การเลิกบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถติดต่อ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” ที่จะช่วยสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ โดยการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ฟรีทุกเครือข่ายได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือสายเลิกบุหรี่ 1600 กล่าวว่า สายด่วน 1600 ระหว่าง 09.00-20.00 น. จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาทั้งแบบสั้น (ไม่เกิน 5 นาที) ในกรณีที่ท่านยังไม่พร้อมเลิก และให้คำปรึกษาแบบเข้มข้น (ประมาณ 20 นาที) เพื่อช่วยให้กำหนดแผนการเลิกและลงมือเลิกอย่างมั่นใจ จากนั้นจะได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ป้องกันการสูบซ้ำ อีก 6 ครั้ง (ใช้เวลาครั้งละ 5-15 นาทีแล้วแต่กรณี) จนกระทั่งสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

  • เลือกรับบริการปรึกษา ตอบกลับ ให้กำลังใจ

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถเลือกใช้บริการ รับคำปรึกษาด้วยข้อความสั้นแบบมีการตอบกลับ เรื่องการปฏิบัติตัวในช่วงเลิกบุหรี่และข้อความให้กำลังใจ จากสายด่วนเลิกบุหรี่ วันละ 2 ข้อความ เป็นระยะเวลา 6 เดือน จากการวิจัยการรับข้อความสั้นช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องมากถึง 21% แต่หากได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ร่วมด้วย ความสำเร็จของการเลิกบุหรี่จะสูงขึ้นเป็น 38%

“ผู้สูบยังติดต่อสายเลิกบุหรี่ ผ่าน Social Media เพื่อการนัดหมายขอรับคำปรึกษาได้ทั้งทางโทรศัพท์ ข้อความสั้น หรือ Line Chat รวมถึงเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ผ่านช่องทาง Social Media ต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชันไลน์ quitline1600, Facebook สายเลิกบุหรี่ 1600, YouTube thailandquitline และ www.thailandquitline.or.th โดยการบริการทุกชนิดข้างต้น ทุกกรณี ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด” รศ.ดร.จินตนา กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญคือ โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ รวมถึง อสม. และผู้นำชุมชนในโรงเรียน วัด หรือสถานประกอบการ  ใช้เป็นช่องทางในการติดต่อ สายเลิกบุหรี่1600 เพื่อรายงานและส่งต่อข้อมูลผู้อยากเลิกบุหรี่ โดยใช้ร่วมกับแอปพลิเคชัน U-Refer ซึ่งเป็นระบบการส่งต่อแบบ Realtime และไม่เสียค่าใช้จ่าย ศึกษาข้อมูลได้ที่ Youtube คลิก