‘บ้านน้ำชำ’ ต้นแบบตำบลที่นำปัญญามาดับ ‘ไฟป่า’

‘บ้านน้ำชำ’ ต้นแบบตำบลที่นำปัญญามาดับ ‘ไฟป่า’

ปัญหา “หมอกควัน” และ “ไฟป่า” ที่ติดๆ ดับๆ ถูกจัดการด้วยการจับมือกันของคน “บ้านน้ำชำ” ช่วยกันคิดช่วยกันทำจนเรียกว่านี่คือตำบลต้นแบบที่ใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา

“เวลาเดินทาง ผมจะเห็นสองข้างทางเต็มไปด้วยขยะ เห็นภูเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย มองแล้วไม่สบายตา บ้านเราไม่สวยงามเหมือนเมื่อก่อน” ไชยวัฒน์ คำยวง อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านน้ำชำ ต.น้ำชำ อ.เมือง จ.แพร่ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) บอกว่า นั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเข้ามาทำงาน เป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม

โดยส่วนตัว ไชยวัฒน์ เป็นคนรักความสะอาด รักป่าไม้ ถึงแม้ว่าในอดีตจะเคยทำอาชีพลากไม้มาก่อน นอกจากเห็นสองข้างทางไม่สะอาดแล้ว พระราชเสาวนีย์ของพระราชินีในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นป่า ฉันจะเป็นน้ำ” ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจเช่นเดียวกัน

ในการทำงานอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม เขามีบทบาทในการชักชวนแกนนำ ชาวบ้าน ไปร่วมทำกิจกรรม ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นแกนนำการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับภาค

ไชยวัฒน์ มีประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กับเครือข่าย ทสม. ในหลายๆ ที่ และนำกลับมาทำในหมู่บ้านของตน กิจกรรมที่ทำให้ได้รับการยกย่องเป็น “ตำบลต้นแบบต้นคิด ของจังหวัดแพร่ คือ โครงการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาวะ สร้างเสริมสิ่งแวดล้อมพื้นที่ตำบลน้ำชำ ซึ่งทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) อบต. หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

รูปแบบกิจกรรมคือ การเดินรณรงค์เพื่อกระตุ้น และปลุกจิตสำนึกของประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสภาวะสิ่งแวดล้อม ให้ตำบลน้ำชำมีความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยนำเกษตรอินทรีย์มาทดแทน การลดมลพิษทางอากาศ งดการเผาในที่โล่ง การดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยน้ำปึง การบริหารจัดการขยะ ด้วยการคัดแยกขยะ ตามหลัก 3 ช. : ใช้น้อย ใช้ซํ้า นํากลับมาใช้ใหม่ การจัดการดูแลรักษาบ้านเรือน รวมถึงที่สาธารณะต่างๆ ให้สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงาม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น

กิจกรรมธนาคารขยะ เป็นการจัดการปัญหาขยะในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านคัดแยกขยะเพื่อนำมาเป็นรายได้  ส่วนธนาคารใบไม้ โดยการทำเสวียนล้อมรอบต้นไม้ ทำให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปัญหาหมอกควัน นำใบไม้ในหมู่บ้านมาทำปุ๋ย เพื่อลดการเผาในพื้นที่ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และยังมีปุ๋ยที่ปลอดภัยนำไปใช้

กิจกรรมปลูกป่า ปล่อยปลา ที่บริเวณอ่างน้ำปึง ซึ่งมีพื้นที่ 4-5 ไร่ เป็นการปลูกป่าเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ และใช้ประโยชน์จากป่า นอกจากนั้น ยังมีการสร้างฝายชะลอน้ำ บริเวณห้วยน้ำปึง เมื่อปลายปี 2563

นอกจากกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนในหมู่บ้าน อาทิ ศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมอบรม ให้ความรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนในหมู่บ้าน ซึ่งไชยวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานผู้สูงอายุ ได้ริเริ่มให้มีการจัดซื้อที่ดินมาทำประปาหมู่บ้าน จัดตั้งกองทุนบุญ โดยนำเงินเดือนบางส่วนจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านมาจัดตั้งกองทุน เพื่อนำไปจัดสวัสดิการให้คนในหมู่บ้าน

เช่น กองทุนการศึกษา กองทุนเกิดแก่เจ็บตาย หากมีคนเสียชีวิตจะมอบพวงหรีด พร้อมเงิน 3,000 บาท กรณีเด็กแรกเกิด ได้รับเงิน 3,000 บาท เช่นกัน และหากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย มีค่ารักษาพยาบาลให้คนละ 200 บาท ปัจจุบันกองทุนนี้มีการต่อยอดโดยคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านที่เล็งเห็นประโยชน์ ช่วยกันระดมทุนเข้ามาสมทบ เพื่อให้กองทุนเติบโตขึ้น

ส่วนในเรื่องปัญหาหมอกควัน ทางเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำบลน้ำชำ ได้จัดชุดเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควัน ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวม 19 คน พร้อมจิตอาสาคอยเฝ้าระวัง รวมทั้งเป็นชุดทำแนวกันไฟ

หากเกิดไฟป่าขึ้น ชุดเฝ้าระวังจะส่งไลน์เข้าไปในกลุ่มตำบลน้ำชำ ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศเสียงตามสายให้ลูกบ้านรับรู้ เพื่อไปช่วยกันดับไฟ ในหมู่บ้านยังตั้งกฎเกณฑ์ว่า หากใครฝ่าฝืน หรือยังเผาในที่โล่งแจ้ง จะต้องถูกจับ และเสียค่าปรับ 5,000 – 10,000 บาท

โดยส่วนตัว อดีตผู้ใหญ่บ้านคนนี้เสนอว่า ในการเฝ้าระวังไฟป่า ควรให้คนที่มีอาชีพหาของป่า เป็นคนเฝ้าระวัง เพราะคนเหล่านั้นจะรู้จักพื้นที่ป่าดีที่สุด และเพื่อลดปัญหาการเผาป่าหาของป่า ต้องมีการจ้างเพื่อเป็นรายได้ให้พวกเขา

ในการทำงานของเครือข่าย ทสม. ตำบลน้ำชำ และเครือข่าย ทสม.ทั่วประเทศ มีการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะ เช่น การปลูกป่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อให้เกิดการหนุนช่วย และเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน

การทำงานของผู้นำ ถือได้ว่าเป็นการจุดประกาย ให้คนในหมู่บ้าน คนในตำบล เห็นรูปธรรมของการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดการชุมชนในมิติต่างๆ เพื่อให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ ทำกิจกรรมร่วมกัน จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน