'โควิด' สาหัส 'วัคซีน' ทางรอด

'โควิด' สาหัส 'วัคซีน' ทางรอด

สงครามโรคครั้งที่ 3 ยืดเยื้อแน่นอน โดยสถานการณ์ "โควิด" ในไทยระลอก 3 รุนแรงกว่าที่ผ่านมา เพราะไม่ได้จำกัดแค่ กทม. แต่กระจายทั่วประเทศ ขณะที่วงการแพทย์เริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว ทางรอดของแต่ละประเทศตอนนี้จึงโฟกัสไปที่วัคซีน ที่ถือว่าเป็นทางรอดของทั้งโลก

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดในประเทศระลอก 3 นี้ รุนแรงกว่าสองครั้งที่ผ่านมา เพราะเชื้อพันธุ์ใหม่ที่กระจายได้เร็ว ติดได้ง่าย จนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุพันรายเป็นที่เรียบร้อย และยังไม่มีทิศทางจะชะลอลง มีแต่ตัวเลขจะขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะคลัสเตอร์ไม่ได้จำกัดแค่ กทม. แต่ยังมีจุดกระจายโรคทั่วประเทศ ทั้งคลัสเตอร์เชียงใหม่ หาดใหญ่ ชลบุรี เป็นต้น ขณะที่วงการแพทย์ก็เริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว เหตุเพราะบุคลากรมีจำกัด เตียงไม่พอ เครื่องมือไม่เพียงพอ เพราะตอนแรกคาดว่าเชื้อติดง่ายแต่หวังว่าไม่น่ารุนแรง แต่เอาเข้าจริงมีหลายรายรุนแรงลงปอด ซึ่งนั้นเท่ากับว่าไม่สามารถอยู่โรงพยาบาลสนามได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ต้องใช้ห้องโรงพยาบาล และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อรุนแรงก็น่าวิตกยิ่ง

องค์การอนามัยโลก ประเมินออกมาแล้วว่าโควิดจะอยู่กับพวกเราอีกยาวนาน เหตุเพราะแม้มีการนำส่งวัคซีนกว่า 780 ล้านโดสไปทั่วโลกแล้ว แต่ความสับสน การใจเย็น และชะล่าใจ รวมทั้งความไม่ต่อเนื่องของมาตรการด้านสาธารณสุข และการดำเนินการต่างๆ ยังคงเป็นสาเหตุทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่หลักการต่างๆ เช่น การสวมใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่างทางสังคม การรักษาสุขอนามัย การทดสอบการติดเชื้อ และการติดตามตัวผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง คือ สิ่งที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ หลายประเทศยังปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของไวรัส และอนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร ไนต์คลับ และตลาด เปิดทำการ โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด

คำเตือนประเมินจากองค์การอนามัยโลก ชัดเจนว่าสงครามโรคครั้งที่ 3 ไม่จบเร็ว ยืดเยื้อแน่นอน และที่สำคัญ ชัยชนะ ในสงครามโรคครั้งที่ 1 มาตรการ อาวุธที่นำออกมาใช้จนสำเร็จนั้นมิอาจใช้ได้กับครั้งนี้ เพราะต่อให้กลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ก็ยากจะเอาอยู่ จริงอยู่สามารถลดการกระจายตัวติดเชื้อได้บ้าง แต่ต้องบอกว่าตอนนี้กระจายลงลึกทุกพื้นที่ การล็อกดาวน์ช่วยได้แต่คงยากที่จะหยุดเอาไว้ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องทำอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะเรื่อง "วัคซีน" ที่ถือว่าเป็นทางรอด ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่คือทางรอดของทั้งโลก จริงอยู่ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 13 ยี่ห้อ ยังไม่นิ่งมากนัก ยังป้องกัน 100% ไม่ได้ จำเป็นต้องวิจัยเพิ่ม แต่อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้อาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

ดังนั้น ทางรอดของแต่ละประเทศ ตอนนี้โฟกัสไปที่วัคซีน แม้ประสิทธิภาพไม่ทัดเทียมกันแต่ละยี่ห้อ แต่ก็ถือว่าคือโอกาสเพื่อให้ประเทศเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้ เศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน โดยทั่วโลกข้อมูลเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2564 พบว่ามีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้วกว่า 806 ล้านโดส หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ต่อประชากรโลก ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันอยู่มาก ย้อนมาดูประเทศไทย เพิ่งดำเนินไปเพียง 6 แสนโดส ยังน้อยมาก แต่ก็ถือว่ายังไม่สาย หากรัฐขยับกันอย่างจริงจัง วางแผนกระจายการฉีดให้ทั่วถึง เมื่อวัคซีนล็อตใหญ่มาในเดือน มิ.ย. ไม่ต้องนั่งบ่นฉีดไม่ทัน เพราะหากถึงวันนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็มๆ