‘ธรรมาภิบาล’กับความยั่งยืน ที่ไออาร์พีซี และกลุ่มปตท.

‘ธรรมาภิบาล’กับความยั่งยืน  ที่ไออาร์พีซี และกลุ่มปตท.

สังคมไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นวิถีแบบใด องค์กรต้องปรับตัวพร้อมรับวิถีใหม่ ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยแต่ยังคงยึดมั่นในหลัก 'ธรรมาภิบาล' ที่สร้างความมั่นคงจากภายใน พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน

กลุ่ม ปตท. ยังคงยืนหยัดและให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลตลอดมา โดยเชื่อมั่นว่าหลักธรรมาภิบาลนี้ จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการขยายผล ถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย และนี่คือที่มาการจัดงาน PTTGroup CG Day 2020 ภายใต้แนวคิด 'Step to the Future : โลกยุคใหม่ในแบบ CG'

"กลุ่มปตท.มีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลง โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกัน

ล่าสุดบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)หรือ IRPC เป็นเจ้าภาพจัดงานในรูปแบบออนไลน์เสมือนจริง (100% Virtual Conference) เป็นครั้งแรกเพื่อรองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนผ่านระบบมากกว่า 3,000 ราย ประกอบไปด้วยพนักงานในกลุ่ม ปตท. คู่ค้า ลูกค้า และผู้สื่อข่าว นับว่ามีผู้ให้ความสนใจและมีส่วนร่วมสูงเกินเป้าหมาย

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึง แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มปตท.ว่า

"การขับเคลื่อนองค์กรในกลุ่มปตท.ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรและการพัฒนาธุรกิจ (Partnership and Platform) นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาผสมผสานกับนวัตกรรมในทุกมิติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ (Technology for All)

แค่นั้นยังไม่พอ ต้องสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่ความสำเร็จใน 3 มิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และการกำกับดูแล รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ (G-Governance & Economics) หรือ ESGที่สำคัญคือ ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้ไปในทางทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด"

โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ซึ่งบริษัทในกลุ่ม ปตท. ทั้ง 7 จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ PTT, PTTEP, PTTGC, TOP, IRPC, GPSC และ OR และได้เชิญผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานด้วย และในปีนี้ยังมีงานเสวนาในหัวข้อ ‘CG กับการขับเคลื่อนองค์กรในวิถีชีวิตใหม่’ พร้อมกิจกรรมเพื่อความรู้ความบันเทิงอีกมากมาย

อีกวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. ที่ต้องมีการจัดการสถานการณ์ให้ดีที่สุด เพื่อขับเคลื่อนบริษัทในเครือข่าย ทั้งการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ และการใช้ธรรมาภิบาล เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของทุกภาคส่วน

อรรถพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวถึงทิศทางของกลุ่มปตท.ต่อไปว่า "เรามีระบบการจัดการและโครงสร้างที่ร่วมมือกันทำทั้ง 7 บริษัทในรูปของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีการนำรูปแบบการดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ (New Normal) มาประยุกต์"

"กลุ่มปตท.ในฐานะมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงร่วมผลักดันและสนับสนุนโครงการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน โดยทั้งกลุ่ม ปตท. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC รวมถึงการดูแลพนักงานให้ดำเนินงานอย่างโปร่งใส รักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเชื่อถือได้และทันเวลา ในส่วนของคู่ค้า เราก็ต้องดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า มีช่องทางรับฟังลูกค้า กับชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม ก็ต้องดูแลให้เดินไปได้ด้วยกันพร้อมเสริมสร้างการเติบโต เพื่อให้อยู่ได้ด้วยตัวเองและยั่งยืน นี่คือหลักใหญ่ของ CG ที่ไม่เปลี่ยน แต่ยุคสมัยเปลี่ยน เราจึงต้องเอาความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน"

การผลักดันเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะทิศทางการทำงานเป็นอีกเรื่องที่สำคัญในองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซีจำกัด (มหาชน) หรือ IRPCก็ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น

"บทบาทของ IRPC ที่มีต่อนโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ คือการเป็นบรรษัทพลเมืองที่ดีของประเทศ และของโลก (Good Corporate Citizenship) เราให้ความสำคัญกับการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดโดยภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติให้เป็น Role Model องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล ให้ความสำคัญกับการเคารพ คุ้มครอง และเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเรายังมุ่งเสริมสร้างแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้ขยายไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดี ก่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

หากจะกล่าวถึงชีวิตวิถีใหม่ IRPC บริหารจัดการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีจาก Inside Out ใน 3 มิติ 1.STRONG การสร้างความแข็งแกร่งในเรื่องของผลประกอบการเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม 2. SMART การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตให้มีคุณค่าอย่างยั่งยืน และ 3.SPEED ในขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว การปรับนโยบายให้สอดคล้องไม่หลุดออกจากธรรมาภิบาลเป็นหลักใหญ่ที่เรายึดถืออยู่ตลอด" ชวลิต เล่า และบอกว่า

"เนื่องจากธุรกิจของ IRPC มีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ยาว และครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลาย เราจึงยึดหลักในการดำเนินงาน คือจริยธรรมการปฏิบัติตามกฎหมายการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส การมีความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม นอกจากนี้เราได้พยายามสอดแทรกแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบตามแนวทางร่วมกันของกลุ่ม ปตท.

เราจึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคู่ค้า ลูกค้าของ IRPC ที่มีส่วนสนับสนุนให้ IRPC เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนสองปีซ้อน ในปี 2562 และ ปี 2563 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

161269256656

ชวลิต ทิพพาวนิช

สำหรับการดูแลในสถานการณ์ Covid-19 นั้น IRPC ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบหน้ากากอนามัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เป็น One Stop Unit.นี่คือความสำเร็จอีกด้านหนึ่งในการช่วยเหลือด้านสุขอนามัยของประชาชนเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ"

ชีวิตวิถีใหม่ที่คนในสังคมเองก็ต้องปรับตัว ไม่ต่างจากพนักงานในองค์กร พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวถึง การดูแลพนักงานว่า

"ชีวิตวิถีใหม่ พนักงานทุกคนพร้อมปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงและยึดมั่นอยู่ในหลักการของ CG (Corporate Governance) พนักงาน Work From Home มากขึ้น มี E-Meeting มีการลงนามออนไลน์ข้ามประเทศ เราพยายามปูพื้นให้พนักงานทุกคนมีความรู้ดิจิทัลที่เท่าเทียมกัน มีโครงการ Transformation ปรับองค์กรให้มีความคล่องตัว เอาดิจิทัลมาใช้จัดรูปแบบการทำงาน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า จะมีการทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ในส่วนของภาคการเงินการบัญชี มีสิ่งที่ต้องทำซ้ำ เราก็มีโปรแกรมช่วยลดความผิดพลาด ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส"

นอกจากต้องใส่ใจดูแลพนักงานในองค์กรอย่างทั่วถึงในช่วงไวรัสโควิดระบาด การให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้นก็ต้องชัดเจน เรื่องนี้ คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีทีโกลบอล เคมีคอลจำกัด (มหาชน) หรือ PTTGCกล่าวว่า

"ตอนนี้เป็นการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ เราได้เพิ่มเติมรูปแบบการจัดประชุมโดยให้มีการถ่ายทอดทางเฟซบุ๊คไลฟ์ เป็น Virtualถ่ายทอดสดออนไลน์ และสำหรับผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมด้วยตนเอง เราได้กำหนดมาตรการป้องกัน อาทิ การรักษาระยะห่าง (Distancing) ผู้เข้าประชุมต้องเดินผ่านตู้ฆ่าเชื้อโรค สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและสิ่งที่ผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญคือบริษัทหรือองค์กรต้องมีการเติบโต มีความมั่นคง เรามีการลงทุนในต่างประเทศถึง 12 ประเทศ มีกลยุทธ์ขยายธุรกิจไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานห่วงโซ่คุณค่า บริษัทกับลูกค้าต้องไปด้วยกันอย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องการช่วยเหลือคืนคุณค่าสู่สังคม และการสื่อสารที่มีความชัดเจน โปร่งใส"

ถ้าจะนำธรรมาภิบาลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยจำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ต้องทำให้คู่ค้าทางธุรกิจเชื่อใจว่า องค์กรของเราทำธุรกิจด้วยความโปร่งใสและสุจริต

"คู่ค้า หรือปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง คือปัญหาธรรมาภิบาล เรากำหนดนโยบายเรื่องนี้เป็น 2 ส่วน คือ 1. การรณรงค์เรื่องจิตสำนึกของพนักงานไม่ยอมรับเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทุจริต ไม่ใช่แค่ตัวเองไม่ทำ แต่ถ้าเห็นว่าใครทำ หรือเห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากล เราต้องเป่านกหวีด 2. การมีระบบกำกับควบคุมประกาศจรรยาบรรณว่าด้วยการปฏิบัติต่อคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นต้น

ตามแนวปฏิบัติของ TOP กุญแจสำคัญในการปฏิบัติต่อคู่ค้า มีอยู่ 4 ประการ คือ 1.ความเสมอภาค 2.ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 3.การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ 4.การแข่งขันที่ยุติธรรม การจะถือว่ามีจริยธรรมทางธุรกิจนั้น เราจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด เราสนับสนุนคู่ค้าให้ร่วมการต่อต้านคอร์รัปชั่น"

ในส่วนของลูกค้า เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ ORกล่าวว่า

"เรานำระบบออนไลน์มาใช้เมื่อปีที่แล้ว ช่วยได้เยอะมาก ทั้งเรื่องคิว เรื่องเงื่อนไขผู้สมัคร ข้อร้องเรียนก็ลดลง มีสายด่วน 1365 รับเรื่องปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ แล้วสามารถส่งต่อให้กับผู้รับผิดชอบได้ทันที ในส่วนชีวิตวิถีใหม่ การป้องกัน Covid-19 เราใช้หลักการเดียวกันกับทุกที่คือ วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง บริการให้ไว หลีกเลี่ยงสัมผัสธนบัตรหรือบัตรเครดิต ใช้ QR code สแกนจ่ายเงิน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดต่อภาคสังคม"

นอกจากชีวิตวิถีใหม่ที่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน และการดำเนินธุรกิจก็ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโกลบอลพาวเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจต้องมีความซื่อสัตย์

"เราให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจว่า ต้องซื่อตรง ซื่อสัตย์ ปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ยึดมั่นหลักการของกลุ่มเป็นสำคัญ รับผิดชอบต่อสังคม ในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ใน site งานกว่า 20 แห่งของบริษัททั่วประเทศ มีการระมัดระวังที่่ดี ถ้าเราดูแลพนักงานปลอดภัยแข็งแรง ก็จะสามารถดูแลระบบการผลิตของเราให้มั่นคงปลอดภัยได้ ในด้านชีวิตวิถีใหม่ มีการแยกพนักงานให้เว้นระยะห่าง ดูแลการเข้า site งานที่รัดกุมขึ้น สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการทำหน้ากากอนามัยและยังร่วมจัดทำ PPE ส่งมอบให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศอีกด้วย"

..............................

นี่คือ หลากหลายความเห็นของผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ซึ่งการจัดงานแบบออนไลน์เสมือนจริงครั้งนี้ อรรถพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT ย้ำก่อนปิดงานว่าในกลุ่ม ปตท.ความโปร่งใสสำคัญมาก เปรียบเปรยได้ว่า ถ้าเรามีน้ำอยู่แก้วหนึ่ง แล้วเอาผ้าคลุมไว้ ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดผ้าคลุม น้ำแก้วนั้นก็ยังใสสะอาดเหมือนเดิม

"ถ้าจะเปรียบน้ำในแก้วกับจริยธรรมเปรียบได้ว่า คนเราต้องมีจริยธรรมในการดำเนินชีวิตและการจัดการธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในที่มืดหรือที่สว่าง เราต้องทำตัวให้ใสสะอาดเหมือนน้ำในแก้ว ถ้าการบริหารยึดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล ก็จะนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน"

และในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งเป็นวิกฤติของคนทั้งโลก อรรถพล ย้ำว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน"

ไม่ว่าโลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปแค่ไหนการบริหารจัดการจะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลมีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากในการนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน