ช่วงปี 63 อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยไต่ระดับขึ้น

ช่วงปี 63 อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยไต่ระดับขึ้น

 กรมสุขภาพจิตเผยช่วงปี 63 อัตราฆ่าตัวตายคนไทยไต่ระดับขึ้น อยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร จากคงที่มา5-6 ปี  เหตุปัจจัย 3 อันดับแรกยังคงเดิม ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล-ภาวะป่วยกายหรือใจเรื้อรัง -ผลกระทบภาวะเครียดเศรฐกิจ เฝ้าระวังมากขึ้นในกลุ่มเปราะบาง

        เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 3 ก.พ.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงเรื่องเช็คอินหัวใจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19ว่า  จากที่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากรคงที่มา 5-6 ปี แต่ในปี  2563 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น โดยเมื่อนำใบมรณะบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร  ส่วนภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์หรือภาวะหมดไฟในคนทั่วไปอยู่ที่ 6 %  แต่ในกลุ่มเปราะยางคือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนที่ต้องกักกันตัว และญาติ จะอยู่ที่ 19 %  นอกจากนี้ พบว่า การโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปัญหาความเครียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงเดือนม.ค.2564 จำนวน 1.8 แสนคน จากที่ในปี 2563ทั้งปีมีการโทรปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน

         ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายที่ไต่ระดับขึ้นในปี2563เกิดจากสาเหตุใด  พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เหตุปัจจัยยังคงเรียงลำดับ 3 กลุ่มไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ 1.ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ยังเป็นเหตุปัจจัยส่วนใหญ่ 2.ภาวะเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าอยู่เดิมแล้ว และ3.ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ  แต่น่าสังเกตว่าในช่วงปี  2563 กลุ่มที่ 3 ที่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น

        เมื่อถามย้ำว่าระบุได้หรือไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19มีผลต่อการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ไม่ได้ เนื่องจากเวลาเกิดเหตุปัจจัยในการฆ่าตัวตายมาจากหลายเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เพียงแต่ในปี 2563 มีการไต่ระดับขึ้นของการฆ่าตัวตาย จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะว่าโดยทั่วไปเวลาอยู่ในสถานการณืที่มมีภาวะวิกฤติก็มทีความเส่ายวงต่อกลบุ่มที่เดิมมีความเสี่ยงเดิมๆอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นเปราบางมากขึ้น จึงเป็นมาตรการที่จะต้องเตรียมในการเฝ้าระวังดูแล

      พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า สำหรับสภาวะสุขภาพจิตคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยช่วงการระบาดใหญ่เมื่อปลายเดือนมี.ค.2563 พบว่ากลุ่มที่มีความเครียดสูงอยู่ที่ 8 % ซึ่งสูงกว่าเกรฑ์ปกติ เพราะโดยทั่วไปมีความเครียดจากการใช้ชีวิตปกติอยู่แล้ว โดยกลุ่มที่มีความเครียดสูงอยู่ที่ 2-3 % แต่เมื่อมีการระบาดของโรคกลุ่มเครียดมากเพิ่มเป็น 8 %  หลังจากนั้นสถานการณ์ค่อยๆลดลงมา
      ส่วนการระบาดของโควิด-19ในรอบใหม่ สถานการณ์ความเครียดเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ตามมาด้วยภาวะตื่นตระหนก เพราะหลายคนคุ้นเคยกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ราย  โดยพบว่าสอดคล้องกับการแบ่งพื้นที่ในการควบคุมโรคเป็นสีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว  ซึ่งกลุ่มที่มีความตระหนกสูงอยู่ในคนพื้นที่สีส้ม  ทั้งนี้ เมื่อไปดูว่ากลัวและกังวลเรื่องใด พบว่า พื้นฐานมี 2 เรื่องเป็นไปตามลักษณะของโรค ได้แก่ 1.กลัวติดเชื้อ พบมากในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดสีแดง โดยเครียดมากในเรื่องที่ตัวเองจะติดเชื้อ
        ส่วนจ.สีส้ม และสีเหลือง เครียดเรื่องกลัวควบคุมไม่อยู่ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนมีความมั่นใจตามลำดับ  เรื่องการควบคุมโรคยังมีมาตรการที่สามารถควบคุมได้ และ2.ทุกคนเริ่มกังวลใจว่าเมื่อมีการระบาดโรค ก็จะตามด้วยมาตรการที่จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน โอกาสด้านเศรษฐกิจ นำสู่การตึงเครียดและความวิตกกังวล  ทั้งนี้  ทุกคนมีวัคซีนในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ที่จะลดความเสี่ยงตัวเองให้ปลอดภัยต่อการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงลงมาก ก็จะลดความวิตกกังวลต่อการติดเชื้อ  เมื่อทุกคนร่วมมือก็ไม่ต้องกังวลที่จะมีการระบาดในวงกว้าง

     พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า  กลุ่มเป้าหมายที่ระบบสาธารณสุขจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพจิต คือ กลุ่มผู้ที่ถูกกักกันในสถานที่กักกันของรัฐและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน  โดยพบว่าช่วง  2 วันแรกเครียดมากที่สุด เพราะรอผลตรวจว่าจะติดเชื้อหรือไม่  และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 จะเครียดมากขึ้น เพราะอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ต้องลดกิจกรรมลง แนะนำให้ทำตารางกิจกรรมให้ตัวเองตลอด 14 วัน และสื่อสารกับคนอื่นผ่านเครื่องมือที่ไม่ไปพบปะเพื่อลดความตึงเครียด  ส่วนผู้ที่ต้องกักตัวเองในสถานที่กักกันของรัฐ  ส่วนใหญ่จะมีการสื่อสารความเครียดผ่านญาติ จึงอยากให้ญาติให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ในสถานที่กักกันด้วย ซึ่งบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพจิตเดิมก่อน ถ้าญาติพบว่ามีการตึงเครียดขึ้น ขอให้แจ้งบุคลากรเพื่อที่ระบบจะเข้าไปดูแล


     ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าประเมินตรวจเช็คสุขภาพใจตนเองได้ https://checkin.dmh.go.th/ 
หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323