"Start up" ไทย ไม่รอรื้อกฎหมาย ขอไปโตในต่างประเทศดีกว่า

"Start up" ไทย ไม่รอรื้อกฎหมาย  ขอไปโตในต่างประเทศดีกว่า

เหตุใดการสร้างธุรกิจ "Start up" ไทยกับเกาหลี จึงต่างกันราวฟ้ากับดิน มีหลายปัจจัย นอกจากเงินทุนสนับสนุน รัฐไม่ให้ความร่วมมือ ยังรวมถึงความไม่เข้าใจธุรกิจว่าจะเติบโตสร้างรายได้มหาศาลได้อย่างไร 

"สิ่งที่คนทำสตาร์ทอัพต้องทำคือ ปรับตัว ปรับระบบให้มันมีความเป็นจริงมากที่สุด เช็คความเป็นจริงบ่อยที่สุด เราต้องสร้างโปรดักส์ที่เคลื่อนไหวและปรับตัวได้เร็วจริงๆ แล้วเปิดรับความเป็นจริงรอบๆ

ผู้ใช้จะบอกเราเองว่า ไอเดียของเรามีคนใช้หรือเปล่า ถ้าทำออกไปแล้วไม่มีคนใช้ ภายในหนึ่งสัปดาห์เราต้องไม่ดื้อเพ่ง ซึ่งการทดสอบ 1-2 อาทิตย์ก็รู้แล้ว" สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ อดีต Managing Director ทีม dtac Accelerate ผู้บริหารกองทุน KT Venture พูดในฐานะนักลงทุน

 

ในงานเสวนา 'ถอดรหัสซีรีส์ Start Up เคล็ดลับการสร้างธุรกิจยุคใหม่และซอฟพาวเวอร์แบบเกาหลี' ที่จัดโดย คณะ BAScii หลักสูตรศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขานวัตกรรมบูรณาการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์ เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยมองว่า แผนธุรกิจ Model Business ของ Start Up เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

"เราเป็น Angle (นักลงทุนที่เชื่อในสตาร์ทอัพ) ที่ Series A (เงินลงทุนระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาท) ของเราอาจจะไม่ได้กำไร แต่มี Business Model ที่ชัด เรารู้ว่าหย่อนเงิน 1 บาทตรงนี้ทำให้เงินกลายเป็น 10 บาท เราลงทุนไป 60-70 กว่าบริษัท อีก 20 % ล้มหายตายจาก

161061194745 สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์

เราก็ต้องมาดูว่า มันล้มเหลวเพราะอะไร หนึ่ง.โปรดักส์ไม่ FIT ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนหมู่มาก หรือทีมไม่ใช่ นี่คือมุมมองนักลงทุน แค่มี Prototype (ต้นแบบ)ที่ทำออกมาแล้ว พิสูจน์กับผู้ใช้ที่เราคิดว่าใช่ แล้ว Viral Product (ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้เร็ว ) ในลักษณะนั้น"

  • ชีวิตจริงไม่เหมือนในซีรีส์เกาหลี

"ในซีรีส์  Start Up ต้องมีการมองหาทีม แต่ในชีวิตจริง คุณต้องฟอร์มทีมเข้ามา ถ้าคุณไม่มีทีม แล้วส่งมาแค่ไอเดีย มันก็จะยาก กับอีกทีมหนึ่งที่เขาทิ้งเงินเดือน 7 หลักมาทำสตาร์ทอัพ เราก็ต้องเลือกคนที่มีทักษะสูงกว่า

ส่วน Demo Day เป็นเหมือนวันประกาศว่าเราจบการศึกษา ฉันเจ๋งขนาดไหน ทำให้นักลงทุนไม่ต้องไปดูแอพพิเคชั่น 1,000 แอพพิเคชั่น เป็นวันชอปปิง เขาเลือกจากตรงนี้ 10 ทีม ได้เลย

ประหยัดเวลาในการนัด VC มา (Venture Capital นักธุรกิจที่มาลงทุนตั้งแต่ระดับ Series A ขึ้นไป)" สมโภชน์ เล่า และว่า สัดส่วนการแบ่งหุ้นก็มีความสำคัญ

161061217860

 สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ 

"สมมติทำธุรกิจไป 3 ปี มีนักธุรกิจมาลงทุนหนัก ๆ 50-100 ล้านเหรียญ กลายเป็นถือหุ้น 30-40 % ถ้าเกินครึ่งเมื่อไรเขาสามารถฮุบบริษัทได้เลย ซึ่งในผู้ก่อตั้ง 3 คนต้องรวมกันแล้วเกินครึ่งและต้องมีหนึ่งคนในนี้ที่มีหุ้นมากที่สุด

ในแง่นักลงทุน Exit Strategy (เป้าหมายสุดท้ายที่จะขายบริษัทให้ใครสักคน) รอบถัดไปก็อยากให้มีนักลงทุนมาลงทุน สุดท้ายหุ้นเราจะเหลือนิดเดียว แล้วมันก็ไปต่อได้เรื่อยๆ แต่ถ้าในหมวกที่เราบริหาร KT Venture เราอยากเข้าตลาดหุ้นไปพร้อมกับสตาร์ทอัพ หรือมีองค์กรใหญ่ๆ มาซื้อหุ้นที่เราลงไป" สมโภชน์ แสดงความคิดเห็น

  • ประเทศไทยจะมี Unicorns ไหม ?

"มีนิสิตมาปรึกษาผมทุกปีว่า อยากลาออก อยากเป็น Millionnaire (เศรษฐีเงินล้าน) ใน 5 ปี ผมก็จะตอบว่า ใจเย็นๆ เพิ่งปีหนึ่งเอง ทำไมถึงอยากจะเลือกสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ เพราะสิ่งที่เลือกแล้วดีพอ ถ้าคุณทิ้งสิ่งนี้ไป แล้วไปเอาสิ่งที่คุณคิดว่าน่าจะดี ความเสี่ยงมันสูงมาก สุดท้าย นิสิตทุกคนก็เรียนต่อ

161061240797 ดร.รณกร ไวยวุฒิ

คณะของเราสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้ เปิดโอกาสให้นิสิตทำสตาร์ทอัพตั้งแต่ปีหนึ่งเทอมหนึ่ง มีโอกาสเฟลได้ 8 เทอม เราสอนตั้งแต่ 0 ถึง 10 ว่า ถ้าอยากเป็นผู้ประกอบการที่ดีควรต้องมีอะไรบ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง

อีกทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการวิจัยเชิงพาณิชย์ (Reserch Commercial) ที่ดีอยู่หลายตัว เราจะเอามาเปิดสอนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายที่สุด เรามีเครือข่ายที่สามารถช่วยคนอื่นได้ เราจะผลักดันตรงนี้ออกไป

ในซีรีส์เกาหลี Start Up มีการจัดงาน Hackathon (การแข่งขันประชันไอเดีย) แต่ Start Up ในไทยไม่เหมือนในซีรีส์ โอกาสที่คุณจะเจอนัมโดซานหรือซอดัลมีไม่มี เพราะส่วนมากมีกลุ่มกันหมดแล้ว

หน้าที่ของจุฬาฯ คือ การสร้างให้นิสิตสามารถไปทำงานฝ่าฟันกับคนอื่นๆ ได้" ดร.รณกร ไวยวุฒิ อาจารย์สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงความเป็นจริงในสังคมไทย

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช อดีต รัฐมนตรี กระทรวงการคลัง Angel Investor (นักลงทุนใจดีที่มีโอกาสสำเร็จไปพร้อมกับ Startup)และหัวหน้าพรรคกล้า มองว่า ประเทศไทยจะมียูนิคอร์นขึ้นมาได้ ภาครัฐต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้มากกว่านี้

"การลงทุนต่างจากการเก็งกำไร ตรงที่การเก็งกำไร มันฉาบฉวย คืออะไรก็ได้ที่วันนี้พรุ่งนี้ราคามันจะสูงขึ้น แต่การลงทุนคือการแฝงความต้องการในแง่ความยั่งยืนในตัวธุรกิจไว้แต่แรก 

สตาร์ทอัพควรทำ Business Model ให้มีความยั่งยืน และตอบคำถามได้ว่า เราคิดทำธุรกิจนี้ขึ้นมาทำไม เพื่อใคร ตอบโจทย์ความต้องการของใคร ถ้า why ไม่ชัดเจน มันจะไปยาก แต่ถ้ามั่นคงยั่งยืนแล้ว โอกาสที่จะมีกำไรในอนาคต ก็ตามมา" หัวหน้าพรรคกล้า มองว่า ภาคเอกชนเองได้ลงมือไปแล้วในการทำเมืองให้มีความทันสมัย

161061253245 กรณ์ จาติกวณิช

"ในเมืองไทย มีความพยายามจะสร้าง Smart City โดยภาคเอกชน เช่น ขอนแก่นพัฒนาและที่ภูเก็ตนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหารถติด แต่ในซีรีส์เขาส่งเสริมรถยนต์ไร้คนขับ มีเส้นทางถนนทดลอง สตาร์ทอัพของเขาได้ข้อมูลจากรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐเปิดข้อมูล เช่น สถิติจราจร หรือสถิติคนใช้รถเมล์ มาให้สตาร์ทอัพเราใช้ เราก็จะเป็นสมาร์ทซิตี้ที่แก้ปัญหาได้ ให้กับคนที่อยู่ในเมือง

อุปสรรคสำคัญของประเทศไทยคือ ขาดการรวมศูนย์ข้อมูล เป็นบทบาทของรัฐที่จะช่วยได้มากที่สุด นอกเหนือจากเรื่องของทุนสนับสนุนที่ควรจะต้องมี เพราะสตาร์ทอัพในประเทศไทยพบอุปสรรคทางกฎหมาย ติดเงื่อนไขว่ากฎหมายเก่าแก่ 40-50 ปี ระบบราชการยังไม่ปรับเปลี่ยน 

ที่เกาหลีไม่มีปัญหานี้ เพราะเขาได้แก้ไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน มีการปรับลดเงื่อนไขกฎหมายและกฎระเบียบทางราชการลงไปกว่าครึ่ง ขณะที่บ้านเราเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ถ้ารัฐไม่เอื้อด้วยข้อมูล และปัญหาที่เราต้องการแก้ก็อยู่ในมือรัฐเป็นส่วนใหญ่ การจะเป็นยูนิคอร์นได้ รัฐต้องเปิดทางให้ นี่คือเงื่อนไขสำคัญ”

  • ผู้ปลดล็อค คือ ภาครัฐ

"อุปสรรคคือ การส่งเสริมในระดับประเทศ มันยังเร็วไม่พอกับบริบทที่มันเปลี่ยนไปในแต่ละปี การบริหารจัดการอย่างการแก้ตัวบทกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ เรื่องการถือหุ้นบริษัท ที่ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นไทยห้ามเกินเท่านั้นเท่านี้ ก็ต้องเปลี่ยนให้เร็ว เพราะมันยังเร็วไม่พอกับสถานการณ์จริง

161061283484 ผู้เสวนาร่วมกันถ่ายภาพ

ผมมีความฝันอยากเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่สร้างให้เกิดยูนิคอร์น พยายามปั้นสตาร์ทอัพตั้งแต่ต้นๆ เพื่อให้เขาย่นระยะเวลาล้มเหลวให้สั้นลง เขาจะได้ Business Model แล้วไปต่อได้เร็วขึ้น บวกกับสิ่งที่เราสร้างทำให้เกิดผลกระทบในประเทศได้ มีสเกลในระดับอินเตอร์ได้

เหมือนแพลตฟอร์มคนละครึ่ง เราจะทำให้มันเป็นสปริงบอร์ดให้สตาร์ทอัพขึ้นไปเหยียบแล้วกระโดดขึ้นไปเป็นยูนิคอร์นได้ นั่นคือสิ่งที่พยายามทำอยู่” ผู้บริหารกองทุน KT Venture มีความคิดเห็นตรงกันว่า อุปสรรคอยู่ที่กฎหมายที่ล้าหลัง

  • นักธุรกิจสตาร์ทอัพ จึงต้องแก้ปัญหาในแบบที่ตัวเองทำได้ โดยการย้ายธุรกิจไปต่างประเทศ

"ในฐานะสตาร์ทอัพ เราอยู่ในเมืองไทย ทำธุรกิจที่นี่ ก็ต้องดิ้นรนกันไป ผมเชื่อว่าในอีก 3-5 ปี หลายๆ บริษัทน่าจะมียูนิคอร์นแล้ว ถ้าบริษัทพวกนี้เป็นยูนิคอร์นแล้ว มันยังเป็นบริษัทไทยอยู่หรือเปล่า เพราะย้ายไปสิงคโปร์กันหมดแล้ว

นี่คือปัญหา พี่ยอด Wongnai กับผมกำลังจะย้ายไปเดือนหน้า เรากำลังทำให้บริษัทพวกนี้ไม่มีบริษัทไทยอยู่หรือเปล่า 

ในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ เราต้องทำสัญญาเยอะแยะมากมาย สัญญาพวกนี้ทำเราปวดหัวมาก ผมก็เลยต้องย้ายออกนอกประเทศให้มันจบๆ ไป จะได้ไปเคลียร์สัญญาพวกนี้กัน" ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ นักลงทุน และผู้ก่อตั้ง Ookbee เล่า

161061206528 บรรยากาศการเสวนา

ทางด้าน กรกรมล ลีลาวัชรกุล ผู้ก่อตั้ง เว็บไซด์ Korseries.Com ผู้เฝ้ามองซีรีส์ต่างประเทศมาตลอดเห็นด้วยกับปัญหานี้ว่า

ประเทศใดจะก้าวหน้าไปได้เร็ว ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของประเทศนั้นๆ

"การนำเสนอเรื่องสตาร์ทอัพในประเทศไทย ไม่มีการผลักดันหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เห็นว่า การมีสตาร์ทอัพสามารถไปได้ไกลในระดับต่างประเทศ ระดับโลก 

ปัจจุบันประเทศเกาหลีมียูนิคอร์นถึง 12 แห่ง (Unicorn คือ Start up ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30,000 ล้านบาท) ทั้งที่เป็นประเทศเล็กๆ เมื่อเทียบกับสถิติโลกก็ติด Top Ten ประเทศที่มียูนิคอร์นเยอะมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่ภาครัฐอย่างเดียว

อีกทั้งเรื่องของการศึกษา เราก็ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ฝึกฝนให้เด็กมีระบบความคิดที่ดีและมากเท่าที่ควร การให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเชิงลึกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามียูนิคอร์นเพิ่มมากขึ้น"